เปรียบเหมือนพระถือศีล 5 โฆษกวิปสนช.ยันรอบคอบ แก้ถามพ่วงประชามติไม่ได้

สนช.ลั่นดาลห้ามปรับแก้ถ้อยคำ “หมอเจตน์” ยันกลั่นกรองคำถามพ่วงรอบคอบแล้ว ต้องยึดตามมติ สนช. ทุกตัวอักษร “ทวีศักดิ์” บอกของใหม่ย่อมถูกต่อต้านเป็นธรรมดา “หยุย” ชงระดมทีมพีอาร์-สื่อทุกช่องทางเร่งตีปี๊บ กรธ.ตัดบทไม่มีหน้าที่อธิบายคำถามพ่วง “อลงกรณ์” โลกสวยชี้เห็นต่างเป็นจุดเริ่มต้น ปชต. “สมชัย” ยังหวั่นตั้งคำถามไม่เคลียร์-ชี้นำ ยากจะทำประชามติให้เที่ยงธรรม ปลงตกไม่ปรับแก้ก็ต้องทำไปตามนั้น “วิษณุ” โต้ “โคทม” แฉลายแทง คสช. สืบอำนาจ ปัดไม่มีอะไรการันตีอายุรัฐบาลได้ สมช.สั่งจับตาเข้มช่วงเข้าด้ายเข้าเข็ม “นิพิฏฐ์” เหน็บเจ็บไม่ต้องมีกันแล้ว ส.ส. ให้ ส.ว.ลากตั้งบริหารแผ่นดินไปเลย ปชป.แซะ สปท.-สนช.จัดการงานนอกสั่ง หวังดีประสงค์ร้ายทำคนเข้าใจผิดผู้นำปากว่าตาขยิบ “อ๋อย” บอกแบไต๋ชัดๆก็ดี ประชาชนตัดสินใจง่าย “วัฒนา” เย้ยโฆษกรัฐฯปล่อยไก่ทำขายขี้หน้า

หลังจากนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และฝ่ายการเมือง วิจารณ์ประเด็น คำถามพ่วงประชามติให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จนถูกตอบโต้อย่างดุเดือดจาก สนช. และ สปท. ล่าสุด นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช. ยืนยัน ว่า ไม่สามารถปรับแก้ไขอะไรได้แล้ว ต้องยึดตาม มติ สนช.ทุกถ้อยคำ

สนช.ลั่นดาลห้ามปรับแก้ถ้อยคำ

เมื่อวันที่ 9 เม.ย. นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษก วิปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีนาย สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า มติ สนช.ที่เสนอคำถามพ่วงการทำประชามติ เป็นคำถามชี้นำและยืดยาวเกินไป ว่า ยืนยันว่า สนช. พิจารณาคำถามพ่วงประชามติรอบคอบแล้ว คิดว่าประชาชนเข้าใจคำถามได้ หลังจากนี้ สนช.จะมีส่วน ร่วมไปทำความเข้าใจ อธิบายถึงเหตุผลให้ประชาชนเข้าใจ ขณะนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรได้แล้ว เพราะหมดเวลาตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนด ดังนั้นจะไปแก้ไขเรียบเรียงรูปประโยคเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น จึงทำไม่ได้ ทุกอย่าง ต้องเป็นไปตามที่ สนช.เสนอไปทุกตัวอักษร สนช. คงไม่ต้องประชุมทบทวนอะไรอีกแล้ว เหตุผลที่ต้องเขียนคำถามพ่วงยืดยาว เพราะต้องการความสมบูรณ์ ให้คำถามมีเนื้อหาครอบคลุมมากที่สุด จึงใช้ทั้งภาษา กฎหมาย และภาษาชาวบ้านมารวมอยู่ในคำถาม ถ้าไปเขียนแบบภาษาชาวบ้าน สั้นๆเข้าใจง่าย เนื้อหาอาจไม่ครอบคลุมทั้งหมด ทำให้บทสรุปคำถามที่ออกมาจึงเป็นอย่างที่เห็นกัน

...

ยันกลั่นกรองกันมารอบคอบแล้ว

นพ.เจตน์กล่าวต่อว่า การที่ กกต.ระบุว่า คำถาม พ่วงมีลักษณะชี้นำ ถือเป็นมุมมองของ กกต. แต่ สนช. ยืนยันไม่ได้ชี้นำ เพราะผ่านการกลั่นกรองจากนักกฎหมาย และคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ใน สนช. มารอบคอบแล้ว ยึดคำถามจากที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอ มาเป็นหลักพิจารณา และระดมความเห็นจากคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของ สนช.เพิ่มเติม ส่วนใหญ่เห็นตรงกันให้ตั้งคำถาม พ่วงประชามติว่าควรให้ที่ประชุมรัฐสภามีส่วนร่วมพิจารณาบุคคลมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก เชื่อว่าคำถามพ่วงคงไม่ส่ง ผลกระทบต่อเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ให้ไม่ผ่านการทำประชามติ เพราะเป็นเนื้อหาคนละส่วนกัน

ลั่นมติ สนช.อย่างไรต้องเป็นเช่นนั้น

นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน รองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษา เสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพิ่มเติมเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช. กล่าวว่า เมื่อ สนช.มีมติอย่างไรก็ต้องเป็นเช่นนั้น เพราะถือเป็นมติ สนช.ไปแล้ว ได้ไตร่ตรองพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว คำถามพ่วงของ สนช.ที่ให้ ส.ส. และ ส.ว.มีส่วนร่วมโหวตเลือกนายกฯ เพื่อเป็นกลไกพิเศษมาช่วยบริหารการเปลี่ยนแปลงช่วงเปลี่ยนผ่าน ให้เกิดการถ่วงดุลในการบริหารอำนาจ ถือเป็น ของใหม่ ย่อมถูกต่อต้านเป็นธรรมดา ไม่ได้มีเจตนาสืบทอดอำนาจ และบุคคลที่จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ ยังต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อ 3 คน ตามที่พรรคการเมืองเสนอมาเช่นเดิม

ระดมสื่อทุกช่องทางพีอาร์ตีปี๊บ

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของ สนช. ที่ต้องรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจคำถามพ่วงประชามติ ได้เสนอไปว่าเนื้อคำถามด้านในของสื่อประชาสัมพันธ์ อาทิ แผ่นพับ ใบปลิว หรือสื่อออนไลน์ จะเป็นคำถามฉบับเต็มของ สนช. แต่ควรต้องมีคำโปรยปะหน้าภาษาชาวบ้านที่สั้น กระชับ เพื่อความเข้าใจง่ายเอาไว้ประชาสัมพันธ์ เบื้องต้นเสนอให้ใช้คำว่า “เห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้ ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี” ส่วนกรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ท้วงติงว่าคำถามพ่วง ยาว ยากนั้น ท่านคงมองในมุมนักวิชาการ ตนก็ยอมรับว่าอ่านเข้าใจยาก ยาว อย่าว่าแต่ชาวบ้านที่มีหลายระดับเลย นักกฎหมายแต่ละคนยังตีความต่างกัน แต่เชื่อว่านักประชาสัมพันธ์ นักโฆษณาเดี๋ยวนี้เก่ง สนช.จะเชิญเข้ามาช่วยแนะนำ การหาถ้อยคำไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เรื่องใหญ่คือจะสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจกว้างขวางได้อย่างไร ตอนนี้เล็งไว้ อาจใช้สื่อทีวี วิทยุท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาช่วย

กรธ.ไม่มีหน้าที่แจงคำถามพ่วง

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า กรธ.ทำสรุปสาระ สำคัญร่างรัฐธรรมนูญเกือบเสร็จแล้ว ให้ กรธ.แต่ละคนไปดูว่ายังขาดตกบกพร่องอะไรแล้วนำมาเสนอต่อที่ประชุมวันที่ 11 เม.ย. ส่วนประเด็นคำถามพ่วง ประชามติให้เป็นหน้าที่ สนช. ไปชี้แจงกับประชาชนเอง เพราะรู้เหตุผลว่าเหตุใดถึงเสนอคำถามแบบนั้น ส่วน กรธ.ไม่รู้เหตุผลเราจึงชี้แจงเฉพาะร่างรัฐธรรมนูญ ในประเด็นสาระสำคัญของร่างให้ถูกต้อง ส่วนเวที ดีเบต กรธ.คิดว่าคงไม่ไป เพราะไม่สะดวก งาน กรธ. มีมากอยู่แล้ว แค่เดินสายชี้แจงประชาชนงานก็ล้นมือแล้ว และการไปดีเบตอาจทำให้เกิดปัญหาโต้เถียงกัน ทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่เห็นด้วยที่จะให้คนอื่นที่ไม่ใช่ กรธ.มาดีเบตกัน เพราะคนที่เข้าใจดีที่สุดคือ กรธ. หากเอาคนอื่นมาดีเบตอาจเกิดปัญหาทำให้ประชาชนสับสนได้ เพราะเขาไม่เข้าใจเจตนารมณ์อย่างแท้จริง หรืออาจบิดเบือนทำให้ประชาชนเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้อง

ขอทหาร–ตร.ดูแลช่วงลงพื้นที่

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่การลงพื้นที่ชี้แจงประชาชน อาจเกิดการประท้วงหรือก่อกวนจากกลุ่มผู้เห็นต่าง นายอมรตอบว่า เป็นห่วงอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะการรณรงค์คัดค้านอาจเกิดการบิดเบือนทำให้ประชาชนสับสน แต่ทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญที่เราร่างมา ดีที่สุดแล้ว เชื่อว่าดีกว่าทุกฉบับ ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาลงพื้นที่ คิดว่า กรธ.ต้องขอความร่วมจากทหาร และตำรวจเท่าที่จำเป็น ไว้ดูแลพื้นที่ที่เราไป เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย

“จ้อน” ชี้เห็นต่างเป็นจุดเริ่มต้น ปชต.

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. กล่าวว่า คำถามพ่วงประชามติที่ให้ ส.ว.ร่วมโหวต เลือกนายกฯ ขอให้เป็นเรื่องประชาชนเป็นผู้ตัดสินในชั้นสุดท้าย ในฐานะเจ้าของประเทศ พรรคการเมืองมีความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ นี่คือการเริ่มต้นของเส้นทางประชาธิปไตย ที่ตนเห็นว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี อย่ามองว่าการคัดค้านหรือการมีความเห็นที่แตกต่างคือความแตกแยก วันนี้เรากำลังกลับเข้าสู่เส้นทางการเลือกตั้ง มีเวลาอีก 1 ปี ขอให้เราเริ่มปู พื้นฐานวางแนวทางสำหรับการกลับสู่ระบอบประชา– ธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เมื่อถามว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าคำถามพ่วงประชามติ ยาวเกินไป ประชาชนอาจสับสนจนมีผลต่อการลงประชามติ นายอลงกรณ์ตอบว่า ขณะนี้ประชาชนตื่นรู้มาก ไม่ควรไปคิดแทน และคำถามเองก็ชัดเจน เราต้องให้เกียรติประชาชนคือเสียงสุดท้ายที่จะตัดสินประเทศ สปท.พร้อมร่วมมือเผยแพร่หากมีการขอความร่วมมือมา

สปช.ส่องโอกาสรับ–คว่ำห้าสิบห้าสิบ

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า หาก สนช.ไม่สามารถ อธิบายคำถามพ่วงประชามติได้ชัดเจนสมเหตุสมผล จะกลายเป็นการฉุดคะแนนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้ลดน้อยลง เพราะจุดอ่อนหรือจุดตาย คือเมื่อ ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วยังมาขออำนาจพิเศษโหวตนายกฯอีกหรือ ประกอบกับท่าทีพรรคประชาธิปัตย์อาจไม่รับร่างฯ กลายเป็นว่า 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ สามัคคีปรองดองกันคว่ำ ส่งผลให้การลงประชามติจะผ่านหรือจะคว่ำ ใกล้เคียงกันคือ 50-50 จะกระเทือนไปถึงการปฏิรูปที่ไม่อาจเดินหน้าได้ตามที่คาดหวัง ตามสถานการณ์ที่ผันแปรไม่แน่นอนนี้ เป็นห่วง 2 เรื่อง คือเงิน 3,000 ล้านบาท ที่ใช้ทำประชามติจะสูญเปล่าหรือไม่ และจะนำไปสู่ความขัดแย้งเจอทางตันอีกครั้งหรือไม่ ฝากเป็นข้อคิดให้คสช.พิจารณาเพื่อแก้ไขให้ถูกจังหวะและสถานการณ์

กกต.ยังหวั่นถามชี้นำไม่เที่ยงธรรม

ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการ เลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าว ถึงกรณีถูกตำหนิหลังพูดท้วงติงประเด็นคำถามพ่วงทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญของ สนช.ว่า ทราบดีว่าหน้าที่การตั้งคำถามที่สองเป็นหน้าที่ สนช. ที่ประกอบด้วยผู้ทรงภูมิปัญญา มีกระบวนการกลั่นกรองคำถาม ผ่านการช่วยเหลือขัดเกลาจากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมาก กกต.ไม่มีสิทธิและอำนาจแก้ไข แต่คำถามประชามติเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการทำประชามติ หากไม่ชัดเจน มีข้อกังขา มีคำยาก ประชาชนทั่วไปยากจะเข้าใจ โดยเฉพาะมีลักษณะเป็นการชี้นำ การทำประชามติทั้งกระบวนการไม่ว่าจะทำได้ดีเพียงไร ก็ยากที่จะให้เกิดความเที่ยงธรรม สมดังความตั้งใจของทุกฝ่ายได้

ปลงตกไม่ปรับแก้ก็ต้องทำตาม

นายสมชัยกล่าวอีกว่า หากการให้ความเห็นของตนจะเป็นประโยชน์ นำไปสู่การขัดเกลาข้อความให้สั้น กะทัดรัด ชัดเจน ไม่มีคำยากหรือศัพท์แสงทางวิชาการที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ยาก เช่น คำว่า “ปฏิรูป” “ยุทธศาสตร์” “บทเฉพาะกาล” หรือ แม้กระทั่งคำว่า “รัฐสภา” ไม่มีลักษณะที่อาจถูกเข้าใจ ว่ามีการชี้นำ จนทำให้การทำประชามติเกิดความกังขา และอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเที่ยงธรรมได้ โดยยังคงสามารถยึดความหมายและเจตนาในการถามและการตอบได้ชัดเจน สะท้อนตรงตามเจตนาทั้งผู้ถามและผู้ตอบได้ ก็เป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่หากทุกฝ่ายยืนยันว่าเกินขอบเขตเงื่อนไขทางกฎหมายในการปรับแก้แล้ว ตนในฐานะผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็พร้อมปฏิบัติหน้าที่ จัดการให้มีการออกเสียงประชามติอย่างเต็มที่

“วิษณุ” โต้ลายแทงสืบอำนาจ คสช.

วันเดียวกันเวลา 11.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายโคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การให้ ส.ว.มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ทำให้อำนาจบริหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สืบเนื่องต่อไปได้ถึง 11 ปี ว่า นายโคทมดูที่ อายุ ส.ว. 5 ปี และอายุรัฐบาล 4 ปี ดังนั้น ก่อน ส.ว.หมดวาระยังสามารถเลือกนายกฯเพื่อบริหารงานต่อไปได้อีก แต่อย่าลืมว่าหากรัฐบาลชุดแรกอยู่ได้ 4 ปี รัฐบาลชุดที่ 2 จะอยู่ได้เพียง 1 ปี ก่อนที่ ส.ว.จะหมดวาระ ทำไมจึงคิดว่ารัฐบาลชุดที่ 2 จะอยู่ต่อไป ได้ยาวถึง 4 ปี เพราะมันไม่มีอะไรมาการันตีอายุรัฐบาล ที่ผ่านมามีเพียงรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่อยู่ได้ถึง 4 ปี ส่วนตรรกะของนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ว่ารัฐบาลต้องได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. ในการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำ ปีนั้น อย่าว่าแต่ พ.ร.บ.งบประมาณฯเลย ต่อให้เป็นกฎหมายอื่นถ้าไปไม่ได้ รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน

ฝ่ายมั่นคงยังไม่พบสิ่งผิดปกติ

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ในช่วงนี้ ภาพรวมสถานการณ์ยังไม่มีสิ่งผิดปกติ การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมีต่อเนื่อง แต่จะมีผลต่อการออกเสียงประชามติหรือไม่ต้องประเมินตามห้วงเวลา มองว่าสังคมส่วนใหญ่ให้ความสนใจ ไปที่ร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าติดตามดูความคิดเห็นทั้งในโลกออนไลน์และในพื้นที่ชุมชน จะพบว่าสังคมเข้าใจ บริบทการเมืองไทย เข้าใจความคิดของคนบางกลุ่มมากขึ้น สิ่งสำคัญต้องเร่งสร้างความเข้าใจเรื่องร่าง รัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง รัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุน ช่วยเหลือ ร่วมมือ ตามกฎหมายการออกเสียงประชามติ ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจถูกต้อง ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับอะไร การเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร รัฐบาล รัฐสภาจะมาได้อย่างไร ระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี หมายถึงอะไร เพื่อให้ประชาชนออกเสียงประชามติด้วยความเข้าใจ และเป็นไปตามดุลยพินิจของตัวเอง

สมช.สั่งสแกนยิบช่วงประชามติ

พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า สถานการณ์ความ มั่นคงช่วงเข้าสู่การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หลัง สนช.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องศึกษา ทำความเข้าใจรายละเอียดแต่ละมาตรา โดยเฉพาะ กกต. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการให้มีการจัดทำประชามติ ต้องเริ่มพิจารณาว่ามีหน่วยงานไหน ที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติบ้าง และแต่ละหน่วยงานต้องเริ่มประชุมกันแล้ว เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าการทำประชามติโปร่งใส ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มี เหตุการณ์ที่เราไม่พึงประสงค์ เป็นไปด้วยความราบรื่น โดย สมช.จะเข้าไปอยู่ทุกเรื่องตรงนี้ และติดตามการเคลื่อนไหวของคนทุกกลุ่ม เพื่อไม่ให้เอากฎหมู่มาบีบ เพื่อเลี่ยงกฎหมายเหมือนในอดีต

“นิพิฏฐ์” เหน็บไม่ต้องมีกันแล้ว ส.ส.