ดีเอสไอ ลุยปราบปรามผู้บุกรุกปลูกสร้างรีสอร์ต ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เผย รับเป็นคดีพิเศษจำนวน 7 คดี ดำเนินแล้วเสร็จ 5 คดี พร้อมดำเนินการส่งเรื่องให้กรมป่าไม้พิจารณารื้อถอนต่อไป...
วันที่ 24 มี.ค.59 จากกรณีที่มีผู้ร้องเรียนว่า มีการปลูกสร้างรีสอร์ตในพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาปางก่อและป่าวังชมภู อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ โดยพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็กเกิดขึ้น เนื่องมาจากความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองในช่วงปี พ.ศ.2508 ซึ่งฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอาศัยพื้นที่เขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นศูนย์กลาง กองทัพบกได้มอบหมายให้กองทัพภาคที่ 3 รับผิดชอบในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ จึงได้ดำเนินการปราบปราม พร้อมทั้งมีแนวคิดที่จะลดความกดดันและการขัดขวางอย่างรุนแรง โดยได้จัดตั้ง "กองอำนวยการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก"
กองอำนวยการดังกล่าว มีงานหลักในการก่อสร้างถนนลาดยาง ฝึกอบรมและติดอาวุธราษฎรอาสาสมัคร จัดระเบียบพื้นที่และจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับราษฎรยากไร้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย รวมทั้งจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และเรียกโครงการนี้ว่า "โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก" ในหลักการเกี่ยวกับการเปิดพื้นที่ป่า 2 ข้างทาง ข้างละ 1 กิโลเมตร เพื่อดำเนินการตามโครงการฯ และกรมป่าไม้ได้เสนอเรื่องให้กองทัพภาคที่ 3 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ขอเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ป่า โดยตั้งอยู่ในเขตการปกครองของ 3 อำเภอ คือ อำเภอเขาค้อ อำเภอหล่มสัก และอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่ประมาณ 126,368 ไร่
สำหรับพื้นที่เกิดเหตุในคดีพิเศษซึ่งเป็นพื้นที่ไม่ได้มีการจัดสรรหรืออนุญาตให้ ราษฎรอาสา (รอส.) หรือบุคคลใดเข้าใช้ประโยชน์ แต่ได้จัดให้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาปางก่อและป่าวังชมภู เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2529 ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 1,184 (พ.ศ.2529) ได้พบว่า มีการบุกรุกยึดถือครอบครองโดยมีการก่อสร้างอาคารและบ้านพักตากอากาศ จำนวนหลายแห่งในพื้นที่โครงการปลูกป่าตามพระราชเสาวนีย์ เนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ บริเวณหมู่ 1 ตำบลหนองแม่นา อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งต่อมาหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ดังกล่าวได้ร้องทุกข์และขอให้รับเป็นคดีพิเศษ
...
จนกระทั่งต่อมา คณะกรรมการคดีพิเศษ ได้มีมติให้รับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ โดยได้รับเป็นคดีพิเศษจำนวน 7 คดี เนื้อที่รวมประมาณ 20 ไร่ ปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 5 คดี โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้กระทำผิดทุกรายในคดีนี้ คงเหลืออีก 2 คดี ที่ใกล้จะดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว การกระทำของผู้กระทำผิดเป็นการเข้าไปยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507, พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และประมวลกฎหมายที่ดิน
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทหาร จังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานยังได้เข้าดำเนินการตรวจยึดจับกุมผู้กระทำความผิดในบริเวณดังกล่าว โดยได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.เขาค้อ เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดรายอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กรณีการกระทำผิดทั้ง 7 รายนี้ พบว่า ได้มีการเข้ายึดถือครอบครองภายหลังจากที่ได้มีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว ถึงแม้จะอ้างว่าเป็นการซื้อต่อมา แต่แนวคำพิพากษาฎีกาที่ 2087/2539 ได้วางแนวไว้ว่ามีความผิดตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
สำหรับการดำเนินการกับผู้กระทำผิดที่มีการปลูกสร้างรีสอร์ทนั้น กรมสอบสวนพิเศษ จะได้ส่งเรื่องให้กรมป่าไม้พิจารณาดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ ต่อไป
ขณะที่ พันตำรวจเอกไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการปราบปรามผู้กระทำผิดบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรม ที่จะทวงคืนผืนป่ากลับมาเป็นของรัฐ และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมายอย่างจริงจัง โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะได้มีการบูรณาการกับกรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่บริเวณนี้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.