เล็งรื้อ 104 คดีฉาวให้ กศจ.สอบใหม่ ลงนามตั้งศึกษาธิการภาคลุยปฏิรูป

ความคืบหน้าหลังหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งเรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในส่วนภูมิภาค โดยปรับโครงสร้างการบริหารงานส่วนภูมิภาคใหม่ให้มีศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด และคณะกรรมการการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดแผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษา รวมไปถึงการแต่งตั้งโยกย้ายและลงโทษทางวินัย แทนคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ที่ถูกยุบเลิกไปนั้น

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ สป.389/2559 เรื่องแต่งตั้งข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค ดังนี้ นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการ ศธ.ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 1 นายอนันต์ ระงับทุกข์ ผู้ตรวจฯ ศธ. เป็นศึกษาธิการภาค 2 นางจินตนา มีแสงพราว รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เป็นศึกษาธิการภาค 3 นายกฤตชัย อรุณรัตน์ ผู้ตรวจฯ ศธ. เป็นศึกษาธิการภาค 4 นายศรีชัย พรประชาธรรม รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นศึกษาธิการภาค 5 นางเสาวนีย์ พนัสสรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เป็นศึกษาธิการภาค 6 นางสุจิตรา พัฒนะภูมิ ผู้ตรวจฯ ศธ. เป็นศึกษาธิการภาค 7 นายวีระกุล อรัณยะนาค ผู้ตรวจฯ ศธ. เป็นศึกษาธิการภาค 8 นางนิตย์ โรจน์รัตนวาณิชย์ ผู้ตรวจฯ ศธ. เป็นศึกษาธิการภาค 9นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ ผู้ตรวจฯ ศธ. เป็นศึกษาธิการภาค 10 นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 11 นายประเสริฐ หอมดี รองเลขาธิการสำนักงาน กศน. เป็นศึกษาธิการภาค 12 นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร ผู้ตรวจฯ ศธ. เป็นศึกษาธิการภาค 13 นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจฯ ศธ. เป็นศึกษาธิการภาค 14 นายประเสริฐ บุญเรือง ผู้ตรวจฯ ศธ. เป็นศึกษาธิการภาค 15 น.ส.ดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้ช่วยปลัด ศธ. เป็นศึกษาธิการภาค 16 นายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจฯ ศธ. เป็นศึกษาธิการภาค 17 และ น.ส.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นศึกษาธิการภาค 18

...

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งที่ สป.390/2559 แต่งตั้งข้าราชการปฏิบัติหน้าที่รองศึกษาธิการภาคอีก 18 ราย และเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดประโยชน์แก่ทางราชการ จึงให้ กศจ.เท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าได้

นอกจากนี้ ยังได้ลงนามในประกาศ ศธ. จัดตั้งสำนักงาน ศธภ. ดังนี้ สำนักงาน ศธภ.1 จ.ปทุมธานี รับผิดชอบ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และสิงห์บุรี สำนักงาน ศธภ.2 จ.ลพบุรี รับผิดชอบ ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง สำนักงาน ศธภ.3 จ.ฉะเชิงเทรา รับผิดชอบ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สมุทรปราการ และสระแก้ว สำนักงาน ศธภ.4 จ.ราชบุรี รับผิดชอบ กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และสุพรรณบุรี สำนักงาน ศธภ.5 จ.เพชรบุรี รับผิดชอบ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร สำนักงาน ศธภ.6 จ.สงขลา รับผิดชอบ ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง และสุราษฎร์ธานี สำนักงาน ศธภ.7 จ.ภูเก็ต รับผิดชอบ กระบี่ ตรัง พังงาน ภูเก็ต และระนอง สำนักงาน ศธภ.8 จ.ยะลา รับผิดชอบ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล สำนักงาน ศธภ.9 จ.ชลบุรี รับผิดชอบ จันทบุรี ชลบุรี ตราด และระยอง สำนักงาน ศธภ.10 จ.อุดรธานี รับผิดชอบ บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี สำนักงาน ศธภ.11 จ.สกลนคร รับผิดชอบ นครพนม มุกดาหาร และสกลนคร สำนักงาน ศธภ.12 จ.ขอนแก่น รับผิดชอบ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด สำนักงาน ศธภ.13 อุบลราชธานี รับผิดชอบ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี สำนักงาน ศธภ.14 นครราชสีมา รับผิดชอบชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ สำนักงาน ศธภ.15 จ.เชียงใหม่ รับผิดชอบ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน สำนักงาน ศธภ.16 จ.เชียงราย รับผิดชอบ เชียงราย น่าน พะเยา และแพร่ สำนักงาน ศธภ.17 จ.พิษณุโลก รับผิดชอบ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์ และสำนักงาน ศธภ.18 จ.กำแพงเพชร รับผิดชอบ กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร และอุทัยธานี

ขณะที่ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.ได้ทำความเข้าใจกับ ผอ.เขตพื้นที่ฯ เพื่อเตรียมรองรับคำสั่งดังกล่าวแล้ว โดยเฉพาะ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เขต 1 ที่จะทำหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัดและเลขานุการ กศจ. ยืนยันว่า ผอ.เขตพื้นที่ฯอื่นๆไม่ได้ถูกลดบทบาทเพราะยังทำหน้าที่เหมือนเดิม เพียงแต่ภาระงาน เรื่องการบริหารงานบุคคลจะโอนอำนาจไปที่ กศจ.เท่านั้น ซึ่งมี ผอ.สพป.เขต 1 เป็นเลขานุการอยู่ ส่วนที่มองว่าเป็นการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง เนื่องจากการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา และข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ใน ศธ.ภูมิภาค เป็นอำนาจของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค มี รมว.ศึกษาธิการเป็นประธานนั้น ไม่ได้รวบอำนาจเพราะต้องเสนอบอร์ด ก.ค.ศ.พิจารณาเหมือนเดิม แต่ให้อำนาจแต่งตั้ง โอนย้าย หยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่งในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ปัญหาเท่านั้น

ด้าน พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวถึงกรณีมีข่าวการปลุกระดมเพื่อต่อต้านว่า ขอว่าอย่าทำเพราะตนมีเจตนาพัฒนาการศึกษา ถ้าคำสั่งนี้มีช่องว่างตรงไหนให้เสนอแนะในทางสร้างสรรค์ตนยินดีรับฟังและแก้ปัญหา แต่อย่าใช้ช่องว่างนั้นไปปลุกระดม ถ้าใครมีเจตนาสร้างความปั่นป่วนหรือบิดเบือน ตนจะไม่ปล่อยไว้ทั้งข้าราชการและไม่ใช่ข้าราชการ และเมื่อตั้ง กศจ.เรียบร้อยแล้วจะมีการนำคดีค้างอยู่ 104 คดีตั้งแต่ปี 2553 กลับมาให้ กศจ.ตรวจสอบใหม่ เพราะเท่าที่ดูบางคดีก็ทำแบบลูบหน้าปะจมูกช่วยเหลือกัน.