ตกลง…ได้ตรวจเลือดไปแล้วหรือยัง? เคยก่อเหตุร้ายแรง จนมีประวัติอาชญากรหรือไม่? … ปริศนาซองยาที่พบในรถเบนซ์ที่ก่อเหตุชนฟอร์ด จะนำไปสู่แนวทางการต่อสู้คดี คล้ายคลึงกับคดีไฮโซหมูแฮม หรือไม่?...

ในเมื่อยังมีคำถามที่ชวนสงสัย จึงขอขันอาสาหาคำตอบมาให้แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ทุกท่านได้หายข้องใจ....

รพ.สมิติเวช ยังไม่ตอบ ได้ผลตรวจเมื่อไหร่? จะเริ่มตรวจได้เมื่อไหร่?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ติดต่อไปยัง พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย ผบก.ภ.1 กล่าวถึงเรื่องการตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย นายเจนภพ วีรพร อายุ 37 ปี คนขับรถเบนซ์ชนท้ายรถฟอร์ดจนเป็นเหตุให้นักศึกษาปริญญาโท 2 ราย ที่นั่งมาในรถถูกไฟคลอกเสียชีวิตว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งหนังสือขอตรวจหาสารเสพติดในร่างกายของนายเจนภพ ไปยังผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวชแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลว่าผลตรวจออกมาแล้ว แต่คาดว่าจะทราบผลตรวจภายในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ขอให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆ รอผลตรวจจากทางโรงพยาบาลก่อน เพราะตามหลักการแล้ว เวลาคนไข้ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหาหรือไม่ได้เป็นผู้ต้องหา หากเข้าไปอยู่ในความดูแลของแพทย์จะต้องประสานกับแพทย์ผู้ดูแลก่อน

...

ตำรวจประสานเสียง ตรวจสอบลายนิ้วมือ เสี่ยเบนซ์ ไม่พบประวัติเคยก่อคดีร้ายแรง

ขณะที่ พล.ต.ต.สุทธิ พวงพิกุล ผบก.พระนครศรีอยุธยา กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถึงความคืบหน้าคดีดังกล่าวว่า จากกรณีที่มีรายงานข่าวก่อนหน้านี้ ว่า รพ.สมเด็จเจ้าพระยา เป็นผู้ตรวจเลือดหาสารเสพติดในร่างกายของนายเจนภพ และพบว่าในร่างกายมีสารกล่อมประสาท นั้น น่าจะเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะแท้จริงแล้ว รพ.สมเด็จเจ้าพระยา ไม่ได้เป็นผู้ตรวจเลือด แต่เป็นสถานที่บำบัดรักษานายเจนภพ โดยจากการสอบถาม แพทย์ที่ทำการรักษา ทราบว่า นายเจนภพ ได้เข้ารับการรักษาที่ รพ.สมเด็จเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค. 2556 และรักษาต่อเนื่องมาโดยตลอด

สำหรับการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของ นายเจนภพ จากกองทะเบียนประวัติอาชญกร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยระบบพิมพ์ลายนิ้วมือ ไม่ปรากฏว่า นายเจนภพ เคยต้องคดีร้ายแรงใดมาก่อน แต่หากเป็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ แค่โทษปรับในชั้นโรงพักนั้น คงต้องตรวจสอบอีกครั้ง เพราะส่วนใหญ่เมื่อทำผิดก็ปรับทันที จะไม่มีการเก็บประวัติเอาไว้

ด้านความคืบหน้าของคดี มีความคืบหน้าไปมากเกิน 50% แล้ว ทั้งการสอบพยาน ประจักษ์พยาน หรือพยานแวดล้อมที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ ตอนนี้รอการตรวจพิสูจน์การคำนวณความเร็วรถขณะเกิดเหตุ ซึ่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานกำลังคำนวณอยู่ ผลการตรวจความเร็วของรถเบนซ์คันก่อเหตุ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานแจ้งมาว่า น่าจะได้ผลในประมาณวันที่ 28-29 มี.ค. พ.ศ.2559 ส่วนผลตรวจร่างกายของนายเจนภพ ทาง รพ.สมิติเวช ยังไม่ได้แจ้งมาว่า ผลตรวจจะออกมาเมื่อไหร่? หรือจะทำการตรวจได้เมื่อไหร่?

เมื่อทีมข่าวฯ ถามว่า หากเวลาผ่านไปหลายวัน การตรวจเลือด เพื่อหาสารเสพติดในร่างกายจะสามารถเจอสารนั้นหรือไม่ โดย พล.ต.ต.สุทธิ ระบุว่า เจอได้ เพราะสารเสพติดบางชนิดตกค้างในร่างกายได้นาน 7 วัน หรือบางชนิดอาจอยู่นานถึง 15 วัน ทุกอย่างอยู่ที่ร่างกายของแต่ละคนด้วย

...

ขณะที่ พ.ต.อ.สุรินทร์ ทับพันบุบผา รอง ผบก.ภ.จ.พระนครศรีอยุธยา หัวหน้าคณะทำงานชุดคลี่คลายคดีอุบัติเหตุรถเบนซ์ชนรถฟอร์ด เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งหนังสือให้ทางโรงพยาบาลสมิติเวช ตรวจสอบหาสารเสพติดแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับกลับมาว่า ทางแพทย์ จะสามารถตรวจได้เมื่อไหร่? หรือ เวลาไหน? ฉะนั้น คงต้องไปถามทางโรงพยาบาลเพื่อความชัดเจน ส่วนการตรวจสอบกับกองทะเบียนประวัติอาชญากร ยืนยันแล้วว่า ไม่พบ นายเจนภพ วีรพร เคยก่อคดีร้ายแรงใด มาก่อนหน้านี้...?

ผอ.รพ.สมเด็จเจ้าพระยา รับ ซองยาในรถเสี่ยเบนซ์ คล้ายของ รพ.

ส่วนที่มีรายงานว่า มีการพบซองยาในรถคันที่ก่อเหตุ ซึ่งมีการระบุชื่อ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา หรือ รพ.สมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยทางจิตเวชโดยเฉพาะ และผู้ป่วยทางระบบประสาทหรือโรคทางสมอง ที่หน้าซองยานั้น ทีมข่าวฯ สอบถามไปยัง นพ.สินเงิน สุขสมปอง ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ได้รับคำตอบว่า เท่าที่ได้เห็นจากภาพข่าว และจากการแชร์ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ยอมรับว่ามีความคล้ายคลึงกับซองยาของ รพ. ส่วนจะเป็นของ นายเจนภพ รวมทั้งเจ้าตัวเคยเข้ามารับการรักษา หรือไม่ คงไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เนื่องจากต้องพิทักษ์สิทธิ์ผู้ป่วย

อย่างไรก็ดี เมื่อทีมข่าวฯ ได้สอบถามความเห็น นพ.สินเงิน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช ถึงประเด็นที่ว่า ผู้ป่วยจิตเวช สามารถขับรถได้หรือไม่? นพ.สินเงิน กล่าวว่า คนไข้บางคนสามารถขับรถได้ ไม่ถือว่าหย่อนสมรรถภาพในการขับรถ ยกเว้น คนไข้ที่ป่วยอาการค่อนข้างหนัก การตัดสินใจอาจไม่ค่อยดีนัก แพทย์จะมีการตักเตือนและฝากบอกกับญาติๆ ให้ช่วยดูแลว่า ระยะนี้ไม่ควรให้ขับรถ หรือหากอยู่ระหว่างการรักษาและยาที่ใช้มีฤทธิ์ง่วง แพทย์จะเตือนหรือให้เลี่ยงไปกินเป็นมื้อก่อนนอนแทน ซึ่งคำเตือนนี้ ก็จะเหมือนกับแพทย์ทั่วไป เตือนคนไข้เวลาจ่ายยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วง

...

ป่วยทางจิตแบบไหน ได้รับการละเว้นโทษ?

ทีมข่าวฯ สอบถามไปยัง อาจารย์วันชัย สอนศิริ ทนายความชื่อดัง ได้รับคำตอบว่า ผู้ที่เป็นโรควิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน กฎหมาย ระบุว่า ไม่ต้องรับโทษหรือไม่ต้องรับผิด เพราะถือว่าทำไปโดยไม่รู้ตัว โดยมีโรคบางอย่างที่ทำให้จิตฟั่นเฟือนได้ เช่น โรคทางสมอง โรคที่มีผลกระทบทำให้จิตนั้นไม่รู้ผิดชอบชั่วดีได้ แต่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ขณะกระทำความผิด ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ไม่รู้สึกตัว

...

ขณะที่ หากยังรู้สึกตัวอยู่บ้าง หรือขณะกำลังกระทำความผิดพอรู้สึกตัว กฎหมาย ระบุว่า ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้ เช่น กรณีฆ่าคนอื่นขณะมีจิตบกพร่อง แต่พอรู้ตัวอยู่บ้าง ศาลจะลงโทษน้อยกว่า โทษเต็มอาจจะจำคุกตลอดชีวิต แต่ศาลอาจจะรอลงอาญาก็ได้ แล้วแต่ศาลท่าน

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 ผู้ใดกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น

แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

แนวทางสู้คดี หมูแฮม VS เสี่ยเบนซ์

เมื่อทีมข่าวฯ สอบถามว่า คดีของเสี่ยเบนซ์ขับรถชนฟอร์ด นั้น มีโอกาสที่รูปแบบของคดี จะคล้ายกับคดีของ นายกัณฑ์พิทักษ์ ปัจฉิมสวัสดิ์ หรือ หมูแฮม กรณีขับรถชนคนตายบนทางเท้า เมื่อปี พ.ศ.2550 หรือไม่นั้น อาจารย์วันชัย ให้ทัศนะส่วนตัวในประเด็นนี้ว่า

“คนละเรื่อง คนละประเด็น เพราะในกรณีแรกสามารถยืนยันได้ว่า ขณะที่ขับรถไม่ได้ป่วย เพราะขับรถออกมาได้ ไปไหนมาไหนได้ ก็แปลว่ายังรู้สึกตัว รู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่ ปกติคนที่เป็นจำเลยจะอ้างยังไงก็ได้ แต่ศาลจะเชื่อหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ของแพทย์ด้วย เพราะปกติการลดโทษ นอกเสียจากเป็นโรคภัยใกล้เจ็บแล้ว ฝ่ายผู้เสียหายติดใจเอาความหรือเปล่า มีการชดใช้ มีการเยียวยา หรือไม่ต่างหาก”

...ท้ายที่สุด คดีสะเทือนใจในครั้งนี้ จะเผยโฉมรูปคดีออกมาเป็นแบบไหน และจะอวสานลงอย่างคดีอื่นๆ หรือไม่ โปรดจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะรายงานพิเศษชิ้นนี้ เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่ทีมข่าวฯ นำมาเสนอเท่านั้น หากประชาชนท่านใด มีข้อมูลเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเพิ่มเติม โปรดติดต่อให้ข้อมูลกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอข้อเท็จจริง ให้เกิดความยุติธรรมแก่สังคมต่อไป.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง