“จำเหตุการณ์ไม่ได้” หรือ “ความจำเสื่อมกะทันหัน” อาการของหนุ่มขับเบนซ์หรูเสยท้ายฟอร์ดจนไฟลุกท่วม ย่างสดคนดีๆ ไปถึง 2 ศพ ซึ่งอาการ “จำเหตุการณ์ไม่ได้” ที่ผู้เป็นพ่อบอกเล่าถึงความทรงจำของลูกชายอันเป็นที่รักเมื่อครั้งประสบอุบัติเหตุนั้น กำลังตกเป็นที่สนใจของผู้คนในสังคมเป็นวงกว้าง พร้อมตั้งคำถามที่ว่า “จู่ๆ คนเราจะไม่สามารถจดจำเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตได้จริงๆ หรือ?” “ถ้าจำไม่ได้จริงๆ อาการเช่นนี้เกิดจากสาเหตุอะไร?” วันนี้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีคำตอบ!
แพทย์ยัน ความจำเสื่อมเจอในละครบ่อยสุด!
นายแพทย์สมชาย โตวณะบุตร แพทย์ทรงคุณวุฒิทางอายุรกรรมสาขาประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา กล่าวถึงผู้ป่วยที่มีอาการความจำหายไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ว่า ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถจดจำเหตุการณ์บางช่วงบางตอนของชีวิตได้นั้น ทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า ความจำหายไปช่วงสั้นๆ หรือความจำหายไปชั่วคราว ส่วนคำว่า ความจำเสื่อมนั้น หมายถึง ผู้ป่วยเคยมีความทรงจำ แต่วันหนึ่งความทรงจำกลับหายไป และไม่สามารถนำกลับคืนมาได้
“สำหรับผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ แล้วเกิดอาการความทรงจำหายไปชั่วคราว อาการเช่นนี้เรามักจะพบเห็นได้จากฉากในละคร หรือภาพยนตร์บ่อยที่สุด ซึ่งในชีวิตจริงอาจมีอยู่บ้าง แต่น้อยรายมาก” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท ให้ความรู้ในทางการแพทย์อันน่าสนใจ
...
ทุกอย่างล้วนมีที่มาที่ไป...5 ปัจจัยส่งผลร้าย ทำลายความจำ
สำหรับผู้ที่มีอาการความทรงจำหายไปชั่วคราวนั้น มีสาเหตุดังต่อไปนี้ 1. โดนวางยาสลบ หรือยานอนหลับ โดยผู้รับยาจะสูญเสียความทรงจำในช่วงที่ยาออกฤทธิ์ไปชั่วขณะ 2. ดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งแอลกอฮอล์มีอันตรายต่อระบบประสาทและสมองอย่างยิ่ง หากดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เข้าไปมากๆ จะทำให้บุคคลท่านนั้นๆ ไม่สามารถครองสติได้
3. ผู้ป่วยที่เป็นโรคไขมันสูง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง เหตุเพราะโรคต่างๆ ข้างต้น จะทำให้เลือดส่งไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอ จนมีผลต่อความทรงจำขาดหายไปช่วงสั้นๆ และจะพบได้ในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ 4. ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก เพราะการชักแต่ละครั้งเซลล์สมองจะตาย ผู้ป่วยจะไม่สามารถจดจำเหตุการณ์ขณะชักได้ หรือหลังจากที่ผู้ป่วยชัก ผู้ป่วยจะไม่สามารถจดจำได้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น
อุบัติเหตุสะเทือนความจำได้ แต่ต้องมีรอยช้ำที่สมอง คุณคนนั้นมีหรือไม่?
“และ 5. ตรวจพบรอยช้ำ หรือรอยแผลบริเวณสมองในส่วนความจำ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากการเกิดอุบัติเหตุที่ได้รับการกระทบกระเทือนมากๆ จนทำให้ความทรงจำหายไปช่วงสั้นๆ แต่บาดแผลจะต้องรุนแรงพอสมควร เพราะฉะนั้น หากคุณไม่มีแผลใดๆ บนศีรษะเลย จะเป็นไปได้หรือที่ความทรงจำจะหายไป ยิ่งถ้าคุณสุขภาพดีเป็นปกติ แต่จู่ๆ ความทรงจำกลับหายไปชั่วคราว เรื่องนี้คงจะเป็นไปไม่ได้แน่ๆ” นพ.สมชาย ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท วิเคราะห์ตามหลักการทางการแพทย์
“สมองนั้น ถูกซ่อนอยู่ในกะโหลก ซึ่งเปรียบเสมือนกับการที่เรานำเต้าหู้ใส่ลงไปในถัง หากคุณโยนถังขึ้น เพื่อที่จะให้ถังได้รับการกระแทก แต่ถังกลับไม่เป็นรอยแตก หรือความเสียหายใดๆ เต้าหู้ที่อยู่ภายในจะสะเทือนได้อย่างไร เช่นเดียวกันกับการเกิดอุบัติเหตุของใครคนหนึ่งจนความทรงจำของเขาหายไป บาดแผลบนศีรษะของบุคคลนั้นๆ ต้องปรากฏชัดว่ารุนแรงพอ” นพ.สมชาย อธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้น
สืบทราบได้อย่างไร อุบัติเหตุใหญ่ลบความทรงจำชั่วคราวไปจริงๆ
ทั้งนี้ สามารถตรวจหารอยฟกช้ำ หรือรอยแผลบริเวณสมองในส่วนของความจำได้ด้วยวิธี ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ซึ่งเป็นการตรวจพิเศษเฉพาะทางประสาทวิทยาชนิดหนึ่ง ที่สามารถบอกตำแหน่งและความผิดปกติในการทำงานของสมองได้
“หากตรวจพบว่า คลื่นไฟฟ้าสมองเป็นปกติ หรือไม่มีรอยช้ำในสมอง ก็จะทำให้น้ำหนักของความน่าเชื่อถือที่กล่าวอ้างว่าจำเหตุการณ์ไม่ได้เบาลงทันที แต่ว่าด้วยเรื่องของความทรงจำ เราไม่มีมิเตอร์ไปวัดว่าความทรงจำหายไปจริงหรือไม่จริง เพราะฉะนั้น ต้องดูเป็นกรณีๆ ไปว่า ความรุนแรงของอุบัติเหตุส่งผลต่อสมองของผู้ป่วยมากน้อยเพียงไร” แพทย์ทรงคุณวุฒิทางอายุรกรรมสาขาประสาทวิทยา ให้ความรู้
...
อย่างไรก็ตาม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท ขยายความเรื่องความทรงจำขาดหายไปในช่วงเกิดอุบัติเหตุอีกว่า ในวินาทีที่บุคคลท่านนั้นๆ กำลังเกิดอุบัติเหตุ เขาอาจจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ เนื่องจากอุบัติเหตุเกิดขึ้นเร็วมากๆ หรือเกิดอารมณ์ตื่นตระหนก ตกใจร่วมด้วย จึงไม่ได้สังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น จึงมิได้หมายความว่า ความทรงจำของบุคคลนั้นๆ หายไป แต่ถ้าผู้ประสบเหตุมานึกย้อนเหตุการณ์กลับไป อาจทำให้ลำดับภาพตอนเกิดอุบัติเหตุได้อีกครั้ง
จดจำเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุไม่ได้เลย...เป็นไปได้จริงหรือ?
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีที่คุณพ่อหนุ่มขับเบนซ์อ้างว่า ลูกชายจดจำเหตุการณ์ ณ ขณะนั้นไม่ได้ โดยหลักการแล้ว กรณีความจำหายไปในช่วงเวลาสั้นๆ อาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 การเกิดอุบัติเหตุระดับรถพลิกคว่ำ มีโอกาสที่สมองจะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ทำให้สมองเกิดการชัตดาวน์ชั่วคราว ในระยะเวลา 7-14 วัน หรือ 1-3 สัปดาห์ ซึ่งหากเป็นไปตามกรณีนี้ ถือว่ามีความเป็นไปได้ ดังนั้น ผู้ประสบเหตุควรตรวจเอกซเรย์สมองด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทันที เนื่องจากสมองอาจเกิดการช้ำ และกรณีที่ 2 อาจเป็นไปได้ว่า ผู้ประสบอุบัติเหตุเกิดอาการตกใจ หรือช็อกกะทันหัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเครียดเฉียบพลันขึ้นได้
...
ประเด็นถัดมาที่ทีมข่าวให้ความสนใจเช่นกัน คือ การพบยารักษาโรคซึมเศร้าภายในรถของหนุ่มขับเบนซ์ ซึ่งตัวยาหรืออาการของผู้ป่วยโรคดังกล่าว อาจมีผลต่อการขับขี่พาหนะ, การตัดสินใจเหยียบเบรกหรือไม่ ทีมข่าวไขข้อข้องใจจากปากรองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ซึ่งได้รับคำตอบ ดังต่อไปนี้
กรมสุขภาพจิต ยัน ‘โรคซึมเศร้า’ ไม่มีผลต่อการประสบอุบัติเหตุ
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าให้ฟังว่า โดยทั่วไปอาการของคนที่เป็นโรคซึมเศร้า จะมีลักษณะที่ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง ไม่มีพฤติกรรมทำร้ายผู้อื่น ซึ่งคำถามที่หลายคนสงสัยกันว่า คนที่เป็นโรคซึมเศร้าสามารถขับรถได้หรือไม่นั้น คำตอบคือ สามารถขับรถได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป ไม่ได้มีข้อห้ามหรือข้อยกเว้น เนื่องจากลักษณะอาการของโรคซึมเศร้า ไม่มีผลต่อการประสบอุบัติเหตุ ดังนั้น การซึมเศร้าเป็นเรื่องของสภาวะจิตใจ ซึ่งไม่เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากสมองที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ทั้งนี้ โรคที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ โรคลมชัก โรคอัมพฤกษ์ฉับพลัน และกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ
...
ผลข้างเคียงยาแก้ซึมเศร้า ง่วง ผอม...แพทย์ถาม ซึมเศร้าจริงหรือ?
จากกรณีการเกิดอุบัติเหตุ เบนซ์ชนฟอร์ด ล่าสุดพบถุงบรรจุยาที่ชื่อว่า LexaPro ภายในรถเบนซ์คันดังกล่าว ซึ่งมีคำถามมากมายเกิดขึ้นภายในจิตใจของคนในสังคมว่า หากมีการรับประทานยาดังกล่าวก่อนขับรถ จะเกิดผลข้างเคียงอย่างไร? นพ.พงศ์เกษม อธิบายอีกว่า ตัวยาที่ชื่อว่า LexaPro หรือยาโรคซึมเศร้า มีผลข้างเคียง คือ กินไม่ค่อยได้ ทำให้รู้สึกว่าผอมลง บางรายอาจทำให้ง่วงได้ แต่ยืนยันว่าไม่ใช่ยาอันตราย เพราะโดยปกติแล้วการทานยาจะขึ้นอยู่กับบุคคล หากบางรายที่รู้ตัวว่าทานแล้วรู้สึกง่วงง่าย ก็ไม่ควรรับประทานช่วงกลางวัน หรือในช่วงที่จะมีการขับรถ อย่างไรก็ตาม แพทย์จะระบุไว้ว่า ให้รับประทานช่วงเย็นหรือก่อนนอน
นอกจากนี้ ยาซึมเศร้า ไม่ได้มีการออกฤทธิ์เร็วจนทำให้สามารถกล่อมเกลาประสาทได้ เพราะแม้แต่ในกระบวนการรักษาโรคซึมเศร้าแล้ว กว่าตัวยาเหล่านี้จะออกฤทธิ์เต็มประสิทธิภาพ ก็ยังต้องใช้เวลาถึง 2-3 สัปดาห์
“สำหรับกรณีหนุ่มเบนซ์คนดังกล่าว ที่พบซองยาโรคซึมเศร้านั้น เป็นเพียงการตีความจากหลักฐานที่พบ ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าก็ได้ เนื่องจากว่ายาซึมเศร้าบางประเภท ก็อาจจะใช้เป็นเพียงตัวยาประกอบการรักษาของโรคอื่นก็ได้ เช่น บางโรคที่ทำให้เกิดความเครียดมาก แพทย์จะจ่ายยาในกลุ่มโรคซึมเศร้า เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น เป็นต้น เพราะฉะนั้นคงต้องรอผลตรวจพิสูจน์ก่อนว่า หนุ่มเบนซ์เป็นโรคซึมเศร้าจริงหรือไม่” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต วิเคราะห์จากหลักการทางการแพทย์
วิเคราะห์การตัดสินใจไม่แตะเบรก เมื่อรู้ว่ารถกำลังชน เหตุผลคือ...?
ผู้สื่อข่าวถาม นพ.พงศ์เกษม ว่า “สาเหตุที่ใครคนใดคนหนึ่งขับรถมาด้วยความเร็ว ทั้งๆ ที่เห็นรถคันอื่นอยู่ด้านหน้า แต่กลับไม่แตะเบรก คนที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ มีสาเหตุมาจากปัจจัยอะไร?” ซึ่งได้รับคำตอบว่า โดยทั่วไปผู้ที่ขับรถเร็ว อาจจะเป็นผู้ที่ขับรถเร็วโดยนิสัยอยู่แล้ว ซึ่งนิสัยส่วนตัวนั้น ไม่มีใครตอบได้ เพราะต้องรู้จักตัวตนของเขาด้วย แต่ด้วยสัญชาตญาณของคนขับรถ เมื่อมองเห็นว่ามีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้า ก็จะต้องมีการเหยียบเบรก แต่ในกรณีนี้ เราไม่รู้ข้อเท็จจริงว่า ในช่วงเวลาขณะนั้น คนขับรถเบนซ์ได้ตัดสินใจด้วยท่าทางอย่างไร แต่หากวิเคราะห์ประเด็นไม่แตะเบรก มีความเป็นไปได้ 2 สาเหตุ ดังต่อไปนี้ สาเหตุที่ 1 ในขณะนั้น เขาขาดสติ หรือหมดสติไปกลางคันหรือไม่ เพราะโดยส่วนใหญ่คนที่จะเกิดอาการลักษณะนี้ได้ ต้องเป็นกลุ่มที่อยู่ในความเสี่ยงของโรคทางสมอง เช่น ผู้ป่วยโรคลมชัก ซึ่งจะมีอาการตาค้างในระหว่างขับรถ เนื่องจากหมดสติหรือคุมสติไม่ได้ ทำให้เหยียบคันเร่งต่อ, โรคอัมพฤกษ์ฉับพลัน และโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ จนทำให้หัวใจหยุดทำงานฉับพลัน โดยส่วนใหญ่จะเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุ สาเหตุที่ 2 ในขณะนั้น เขาอาจเกิดการหลับในหรือไม่
ใจประมาท คาดไม่ถึง สูญเสียสอง
ไฟสังคม ลุกโชน ท้ากฎหมาย
หากคนดี แพ้พ่าย ให้เงินตรา
“กฎหมายไทย” ศักดิ์สิทธิ์ได้ อย่างไรกัน...
จากทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
ชมคลิป
- สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์
สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง