ทำไมไม่เบรก?
ทำไมเลือกที่จะชนตรงๆ?
ข้อมูลความจำถูกลบเพราะถอดแบตเตอรี่ออกจริงหรือ?
ทำไมเซนเซอร์รถเตือนการชนหรือเบรกอัตโนมัติไม่ทำงาน?
เข็มความเร็วสุดท้าย คือ ค่าความเร็วขณะเกิดเหตุ จริงหรือ?
ยังคงเป็นคำถามที่คาใจของคนในสังคม สำหรับเหตุสะเทือนใจกรณีเสี่ยขับเบนซ์ซิ่งชนรถฟอร์ด เฟียสต้า จนเป็นเหตุให้ 2 นักศึกษาปริญญาโทถูกไฟคลอกเสียชีวิต คดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยังต้องรอผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แม้ว่าจะมีการตั้งข้อหาเสี่ยเบนซ์ฐานเมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ขับรถโดยประมาท และขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่แล้วก็ตาม
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงอาสาไขข้อคาใจทั้งหลายให้กระจ่าง จากผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ และนายตำรวจระดับสูงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
...
1. เหตุไฉน เสี่ยซิ่งเบนซ์ไม่เบรกรถ?
นายยุทธพงษ์ ภาษี นายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย คาดการณ์ตามทฤษฎีว่า ข้อแรก คือ การผิดพลาดจากคน ส่วนข้อสอง คือ การผิดพลาดจากยานยนต์ โดยสิ่งที่คนมักจะเชื่อมาตลอดคือ ‘คันเร่งค้าง’ ซึ่งในความเป็นจริงรถสมัยใหม่ไม่ได้ใช้สลิงแล้ว ใช้ไฟฟ้าแทน คันเร่งค้างเป็นไปได้แค่รถที่มีสลิงเท่านั้น ฉะนั้น ไม่น่าจะเป็นข้อผิดพลาดของรถยนต์ แต่อาจจะเป็นการผิดพลาดจากตัวคนมากกว่า ถ้าเป็นคนที่มีร่างกายปกติทั่วไป อาจจะมองใกล้เกินไป ไม่มีทักษะในการคาดการณ์ อีกทั้ง รถเบนซ์ไม่ได้อยู่ในฐานะที่หักหลบได้ จึงคิดว่าผู้ขับน่าจะละสายตาชั่วขณะจากถนนมากกว่า
ขณะที่ พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี อดีตที่ปรึกษา (สบ 10) ผู้เชี่ยวชาญที่คลุกคลีอยู่ในวงการนิติวิทยาศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า หากรถมีการเบรกเกิดขึ้น บนถนนต้องปรากฏรอยเบรกให้เห็นอย่างชัดเจน หรือ หากมีกล้องวงจรปิด เมื่อเปิดย้อนดูจะเห็นได้ว่า ในช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุรถคันดังกล่าวมีไฟเบรกขึ้นหรือไม่
สำหรับปัจจัยที่ทำให้คนขับไม่สามารถเหยียบเบรกได้ในขณะขับรถนั้น มีอยู่หลายปัจจัย เช่น 1.คนขับอาจจะละสายตาจากถนนก้มลงไปเปิดเพลงจากแผ่นซีดีหรือหยิบสิ่งของต่างๆ ซึ่งหากขับรถด้วยความเร็วสูง เกินกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพียงไม่กี่วินาทีรถคันที่ขับอยู่สามารถพุ่งไปถึงคันที่อยู่ด้านหน้าได้
2.การหลับใน 3.อยู่ในอาการมึนเมาขาดสติ และ 4.มีของบางอย่างไปรองอยู่ใต้แป้นเบรก ทำให้ไม่สามารถเหยียบเบรกได้ ซึ่งกรณีนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วโดยมีสุภาพสตรีท่านหนึ่งทิ้งรองเท้าส้นสูงไว้ในรถ จนรองเท้าเข้าขัดกับเบรก ทำให้ไม่สามารถเหยียบเบรกได้
“ส่วนประเด็นทัศนวิสัยในที่เกิดเหตุ ซึ่งอาจจะทำให้คนขับมองไม่เห็นนั้น จากกรณีที่กำลังเป็นข่าวคิดว่า ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะเท่าที่ดูจากคลิปวิดีโอที่กำลังแพร่หลายอยู่ในเวลานี้ เป็นไปได้ยากมากที่จะบอกว่า มองไม่เห็นรถคู่กรณี หรือแม้แต่การขับรถด้วยความเร็วสูงก็ตาม หากมีรถคู่กรณีอยู่ข้างหน้า และเป็นภาพที่อยู่ในสายตาคนขับตลอด ไม่ว่าอย่างไรก็มองทัน นอกจากไม่ได้มอง ซึ่งต่างจากที่พุ่งมาจากด้านข้าง โดยใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที อาจอ้างได้ว่ามองไม่ทันหรือหักหลบไม่ทันย่อมทำได้” ผู้คลุกคลีในวงการนิติวิทยาศาสตร์ กล่าว
...
2. ทำไมไม่หักขวา แต่กลับเลือกชนเข้าไปตรงๆ ?
นายยุทธพงษ์ วิเคราะห์ว่า ส่วนที่เปราะบางที่สุดของรถก็คือ ด้านข้าง เมื่อชนแล้วผู้โดยสารมักจะบาดเจ็บรุนแรง สังเกตจากเสากลางรถที่อยู่ใกล้ตัวมาก ซึ่งเปราะบางที่สุดและอันตรายที่สุด ส่วนด้านหลังก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากว่าวิศวกรคิดมาแล้วว่ารถวิ่งไปข้างหน้า ฉะนั้น โอกาสเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุข้างหน้าจะมีมากกว่า จึงใส่อุปกรณ์ป้องกันไว้ด้านหน้าเป็นหลัก
ทั้งนี้ ตามหลักโครงสร้างทางวิศวกรรม การที่รถยนต์วิ่งไปกระแทกกับวัตถุหนึ่งที่อยู่ด้านหน้า ตัวรถจะช่วยป้องกันคนขับได้มากกว่า ส่วนเรื่องที่คนขับจะปลอดภัยมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความเร็วของรถ ลักษณะของวัตถุที่หยุดนิ่งหรือวัตถุที่มีความยุบตัวได้มากกว่า
3. ทำไมเซนเซอร์เตือนการชนหรือเบรกอัตโนมัติไม่ทำงาน?
นายยุทธพงษ์ อธิบายว่า รถสปอร์ตประเภทนี้ไม่เหมือนรถทั่วไปที่เคยได้ยินสัญญาณเตือน ทั้งระบบป้องกันการชนด้านหน้า หรือเรดาร์ต่างๆ เพราะบริษัทมักจะไม่ใส่มาในรถประเภทสปอร์ต เนื่องจากมองว่าคนที่ขับรถประเภทนี้ได้จะต้องมีทักษะการขับขี่ที่ดีมาก ซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นใหม่ของเบนซ์ในเวอร์ชั่น AMG บางประเทศมีออฟชั่นเซนเซอร์ให้ แต่เวอร์ชั่นที่ขายในประเทศไทยไม่มีอย่างแน่นอน โดยรถยี่ห้อที่มีระบบป้องกันการชนด้านหน้า เมื่อวิ่งเข้าหาคันหน้าและรถจะเบรกให้เองโดยที่ไม่ชน จะมีแค่ วอลโว่ และมิตซูบิชิ ปาเจโร่สปอร์ต
...
4. รถมีกล่องเก็บข้อมูลหรือไม่ และข้อมูลความจำถูกลบเพราะถอดแบตเตอรี่ออกจริงหรือ?
และนี่ก็เป็นเรื่องที่แชร์กันว่อนโซเชียลกับข้อมูลที่ว่า หากถอดแบตเตอรี่รถออกจะทำให้ความจำต่างๆ ในรถหายไป ทีมข่าวฯ สอบถามไปยัง นายวรพล สิงห์เขียวพงษ์ สื่อมวลชนผู้คร่ำหวอดด้านรถยนต์มา 25 ปี และนักจัดรายการวิทยุ ถึงข้อมูลดังกล่าวว่าเท็จจริงอย่างไร โดยนายวรพล ให้คำตอบว่า รถคันดังกล่าวมีกล่องเก็บแรงจี และมีหน่วยความจำที่มีสามารถบันทึกวนทับได้ อย่างน้อยๆ 30 วินาที ถึง 1 นาที ก่อนเกิดอุบัติเหตุ ไม่ใช่แค่ความเร็วสุดท้าย แต่ยังเก็บข้อมูลแรงกระแทก เก็บค่าแรงจี ทั้ง 4 ทิศ หน้า-หลัง-ซ้าย-ขวา ที่จะวิเคราะห์ได้ว่า ก่อนการชน รถถูกเร่ง-เบรกหรือเลี้ยวเร็วแค่ไหน พร้อมเก็บค่าอื่นๆ อีกหลายอย่าง และถึงแม้ว่าแบตเตอรี่จะถูกถอดออกไปความจำก็ไม่หาย โดยอุปกรณ์ส่วนนี้จะอยู่ในระบ OBD (On Board Diagnostics) คือ ระบบที่ใช้ในการตรวจสอบการทำงานเครื่องยนต์ โดยต้องนำไปให้บริษัทรถยนต์เป็นผู้อ่านค่าให้
...
โดยข้อมูลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นายยุทธพงษ์ กล่าวว่า ภายในรถทุกคัน จะมีกล่องคอมพิวเตอร์อยู่ ซึ่งหน้าที่ของกล่องดังกล่าวจะบันทึกค่าต่างๆ ไว้ เช่น รถมีความเร็วเท่าไหร่ ความเร็วสูงสุดที่บันทึกไว้ เบรกไปแล้วกี่ครั้ง โดยจะต้องนำข้อมูลมาแปลงค่าโดยใช้โปรแกรมอ่านค่า
“ในรถทุกคันมันจะมีกล่องคอมพิวเตอร์อยู่ กล่องตัวนี้มันบันทึกทุกค่า ขนาดกระบะอีซูซุยังรู้เลยว่ากินน้ำมันเท่าไหร่ เหยียบเบรกเท่าไหร่ เพียงแต่ทางบริษัทรถเขาจะอ่านค่าให้หรือเปล่า โดยเฉพาะเบนซ์จะอ่านแต่ค่าทางเทคนิคที่ต้องเอาไปซ่อมบำรุง ขณะที่ โรงงานจะพูดแค่ว่ามีการเช็กเซอร์วิสเฉยๆ ไม่อย่างนั้นไม่อย่างนั้นทั่วโลกก็รุมให้เขาอ่าน ปัญหาก็กลับมาที่เขา แต่การบักทึกข้อมูลต่างๆ มีอยู่ในรถจริง อยู่ที่โรงงานจะอนุญาตให้อ่านไหม ตัวอีซียู ตัวคอมพิวเตอร์ มีหลายกล่องมาก อีซียูเฉพาะเครื่องอย่างเดียว แต่ทั้งตัวรถจะมีสมองกลเป็นตัวกลางอีก แล้วมีอีซียูย่อยๆ อย่างแอร์แบ็กไม่ได้จับแค่ค่าอิมแพ็คเท่านั้น แต่ยังจับค่าแรงเหวี่ยงด้วย” นายยุทธพงษ์ อธิบาย
5. เข็มความเร็วสุดท้าย คือ ค่าความเร็วขณะเกิดเหตุ จริงหรือ?
พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี อดีตที่ปรึกษา (สบ 10) ผู้เชี่ยวชาญที่คลุกคลีอยู่ในวงการนิติวิทยาศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยกกรณีศึกษาที่เคยเข้าไปทำคดีให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า เคยมีกรณีของรถปอร์เช่วิ่งมาด้วยความเร็ว จนชนเข้ากับรถฟอร์จูนเนอร์ บนทางด่วนโทลล์เวย์เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และเมื่อลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบรถในครั้งแรก พบว่า เข็มวัดระยะความเร็วของรถปอร์เช่ ค้างอยู่ที่ 280 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งตอนนั้นได้มีการถกเถียงกันมากว่า ความเร็วของรถปอร์เช่ ในขณะเกิดเหตุคือ 280 กิโลเมตร ต่อชั่วโมงหรือไม่ เนื่องจากในทางเทคนิค เมื่อไฟฟ้าในระบบรถถูกตัดหลังจากเกิดอุบัติเหตุ ตัวเลขความเร็วก็ควรกลับไปอยู่ที่เลข 0 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
แต่ต่อมา เมื่อได้มีการตรวจสอบอย่างละเอียดจึงพบว่า สาเหตุที่เข็มวัดความเร็วไม่ตีกลับไปอยู่ที่เลข 0 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากแผงวงจรในรถเกิดหักจากการชน ทำให้ไม่มีไฟฟ้าไปหล่อเลี้ยงระบบรถ เมื่อเข็มความเร็วขึ้นไปแล้ว จึงค้างอยู่และไม่ตกลงมา
ผู้เชี่ยวชาญจากกรมตำรวจ เผย เทคนิคคำนวณความเร็วรถเกิดเหตุ
พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ยังได้เผยถึงทฤษฎีการคำนวณความเร็วของรถได้อย่างแม่นยำว่า สามารถทำได้ด้วยวิธีการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด ในจุดที่จับภาพรถที่ต้องการตรวจสอบวิ่งผ่าน เช่น ในกรณีของรถปอร์เช่ เมื่อได้มีการตรวจสอบกล้องวงจรปิดจำนวน 15 จุด ที่รถวิ่งผ่าน โดยคำนวณคร่าวๆ ได้ว่า 1 วินาที จะมี 24 เฟรมเรต (อัตราการแสดงผลภาพ ต่อหนึ่งวินาที) เมื่อคำนวณแล้ว ทำให้ในท้ายที่สุดพบว่า รถคันดังกล่าว วิ่งผ่าน 15 กิโลเมตร ภายในเวลาเพียง 81 วินาที หรือ น่าจะใช้ความเร็วประมาณ 260 กิโลเมตร ต่อ ชั่วโมง ในระหว่างเกิดเหตุ
หรือ อีกวิธีที่สามารถนำมาเทียบความเร็วได้อย่างง่ายๆ คือ รถปกติที่วิ่งตามความเร็วที่กฎหมายกำหนด เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะฉะนั้น หากมีรถคันใดที่วิ่งแซงรถคันอื่นมาด้วยความเร็วสูงก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่า รถคันนั้นน่าจะมีความเร็วมากกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแน่นอน เพราะฉะนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบควรจะหาข้อมูลเหล่านี้ มาใช้ประกอบสำนวนการสอบสวนด้วย
นอกจากนี้ พล.ต.อ.จรัมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีการตรวจแอลกอฮอล์ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2557 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 ได้ระบุไว้ว่า หากผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ตรวจแอลกอฮอล์ ให้เจ้าหน้าที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้นั้นเมาสุรา เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินคดีฐานขับรถขณะเมาสุราได้ เพราะฉะนั้น จึงควรตั้งข้อสังเกตกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบ ว่าได้พยายามจริงจังมากแค่ไหนที่จะตรวจวัดแอลกอฮอล์กับผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหา
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าความจริงที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ประชาชนคงต้องหวังพึ่งกระบวนการยุติธรรมเฉลยข้อคาใจทั้งหลายให้กระจ่าง เพื่อแสดงให้เห็นว่ากฎหมายไทยให้ความเที่ยงธรรมกับทุกคน
- สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์
สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง