บิ๊กหมูลงนาม เจ้าตัวยอมรับ ข้อเสนอมีนน.

“ธีรชัย” ลงนามข้อเสนอ แนะแก้ รธน.ของที่ประชุม ร่วมแม่น้ำ 4 สาย ส่งถึงมือ “มีชัย” ประธาน กรธ. แพลมมีหลายเรื่อง นอกเหนือจากที่มา ส.ว. ออกปากต้องให้น้ำหนัก เพราะคนรับผิดชอบบ้านเมืองชงมา ปัดร่างฉบับ กรธ.ไม่ถูกใจ คสช. โฆษก กรธ.งดเปิดรายละเอียด โยนรัฐบาลขอชี้แจงเองหลังนำเข้าที่ประชุม ครม. “อุดม” บอกใบ้สื่อรอฟังทีเดียว จะได้หงายหลังตึง เผยใบสั่ง คสช.ดันสุดลิ่มนายกฯคนนอก ให้ยกเลิกข้อกำหนดพรรคการเมืองส่ง 3 ชื่อชิงนายกฯ กกต.ชง ครม. คลอดร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เปิดทางหน่วยงานรัฐ-เอกชนร่วมแจกร่าง รธน. “วัฒนา” จวกเผด็จการแบ่งแยกประชาชน ปลุกทุกขั้วทุกสีเลิกทะเลาะจับมือทวงคืน รธน.ประชาธิปไตย “เต้น” เฉ่ง ส.ว.ลากตั้งขึงพืด 5 ปี-นายกฯคนนอก-บัตรใบเดียว โรคร้ายเปิดประตูยึดอำนาจฉีก รธน. ปชป.บี้เปิดหมดเปลือกข้อเสนอ คสช.

จากกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ผลักดันให้มี ส.ว.จากการแต่งตั้ง เพื่อเป็นกลไกคุมเกมในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี จนถูกวิจารณ์อย่างหนัก ล่าสุด นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า ได้รับข้อเสนอแนะการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจาก คสช.เรียบร้อยแล้ว โดยมีประเด็นอื่นๆอีกหลายเรื่องนอกเหนือจากเรื่องที่มาของ ส.ว.

“มีชัย” เผยข้อเสนอ คสช.ถึงมือแล้ว

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 14 มี.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญหมวดการปกครองส่วนท้องถิ่นและหมวดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ นายมีชัยให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมว่า ได้รับหนังสือความเห็นการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจาก คสช.แล้ว ลงนามโดย พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการ คสช. มีจำนวน 4-5 หน้า แต่ยังไม่ได้อ่านรายละเอียด เป็นข้อเสนอที่มาจากการประชุมร่วมกันของแม่น้ำ 4 สาย คือ คสช. ครม. สปท.และ สนช. หลังจากนี้ต้องอ่านรายละเอียดของข้อเสนอทั้งหมดก่อนนำเข้าที่ประชุม กรธ. เมื่อถามว่า ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้เปิดเผยรายละเอียดที่ขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้รับทราบจะทำได้หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ได้ เพราะไม่ใช่เรื่องที่เป็นความลับ กรธ.พร้อมจะเปิดเผยจะมอบหมายให้โฆษก กรธ.ดำเนินการ

...

แย้มมีอีกหลายเรื่องนอกจากที่มา ส.ว.

นายมีชัยกล่าวว่า ข้อเสนอที่ส่งมานอกเหนือจากประเด็นที่มา ส.ว.แล้วยังมีอีกหลายเรื่อง คงต้องรอดูตอนโฆษก กรธ.แถลงน่าจะชัดเจนกว่า ตอนนี้ขอให้ใจเย็นๆ ขอดูรายละเอียดและขอคุยกับ กรธ.ก่อน เมื่อถามว่า ข้อเสนอนี้ไม่มีสภาพบังคับเป็นเหมือนข้อเสนอทั่วไปใช่หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า มันก็มีน้ำหนักอยู่ เพราะว่าเป็นหนังสือมาจากคนที่รับผิดชอบบ้านเมือง เราก็ต้องให้น้ำหนัก ขนาดชาวบ้านมีจดหมายมาเพียงฉบับเดียว กรธ.ให้น้ำหนักได้ ดังนั้นต้องให้น้ำหนัก เมื่อถามว่า ที่ คสช.ส่งข้อเสนอมาอีกครั้ง แสดงว่า กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญไม่ถูกใจใช่หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า จะพูดแบบนั้นคงไม่ได้

โยน รบ.อธิบายเองหลังถก ครม.

ต่อมาเวลา 15.30 น. นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. แถลงหลังประชุมว่า ที่ประชุม กรธ.ได้หารือและรับทราบหนังสือความเห็นการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ คสช.ส่งมาเรียบร้อยแล้ว จากนี้จะขอเวลาพิจารณาศึกษารายละเอียด ก่อนจะปรับปรุงแก้ไข การเปิดเผยสาระสำคัญของเนื้อหาทั้งหมดได้รับการประสานจากรัฐบาลว่า ในวันที่ 15 มี.ค.จะนำข้อเสนอดังกล่าวนำเข้าที่ประชุม ครม.รัฐบาลจะถือโอกาสนี้แถลงชี้แจงอธิบายสาระสำคัญรายละเอียดที่เสนอให้ กรธ.มีประเด็นใดบ้าง เหตุผลที่ กรธ.ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากถ้าพูดไปก่อนโดยที่รัฐบาลและ คสช.ยังไม่พร้อมอธิบายจะทำให้สับสน ควรให้รัฐบาลในฐานะเจ้าของเรื่องเป็นผู้อธิบายจะเหมาะสมกว่า เบื้องต้นในหนังสือที่ส่งมาไม่ได้มีรายละเอียดที่ซับซ้อน แต่ในขั้นตอนการนำเสนอจำเป็นต้องให้ กรธ.มานั่งคิดต่อ เพราะการมีข้อเสนอที่แตกต่างจากที่ร่างไว้เบื้องต้น ทำให้ต้องคิดว่า กรธ.ควรจะยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร

บอกใบ้รอฟังทีเดียวได้หงายหลังผึ่ง

นายอุดมกล่าวว่า ขอย้ำว่าไม่มีใครมาสั่ง กรธ. ได้ เราทำตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้ต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย และไม่รู้สึกกดดันหรือหนักใจเลย เราทำตามหน้าที่ จะต้องจัดทำร่างรัฐ-ธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 มี.ค. ขอให้มั่นใจว่าทำเสร็จทันเวลา เมื่อถามว่า เท่าที่ดูข้อเสนอสุ่มเสี่ยงจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติหรือไม่ นายอุดมกล่าวว่า ทุกข้อเสนอที่ส่งมาสุ่มเสี่ยงเท่ากันหมด ถ้าไม่แก้ไขตามที่เสนอมา ส่วนข้อเสนอของ คสช.ไม่แน่ใจว่าจะสุ่มเสี่ยงหรือไม่ ตอบเป็นภาพรวมไม่ได้ว่าสิ่งใดเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง เมื่อถามว่า ข้อเสนอที่ คสช.ส่งมามีสิ่งใดที่น่าตื่นเต้นบ้าง นายอุดมกล่าวว่า “เอาไว้ฟังวันที่ 15 มี.ค.ทีเดียว จะได้หงายหลังเลย” เมื่อถามย้ำว่า หากไม่ทำตามข้อเสนอ คสช.จะเกิดความขัดแย้งตามมาหรือไม่ นายอุดมกล่าวว่า เราคงไม่ขัดแย้ง เพราะทำงานเพื่อชาติ ไม่มีใครจะมาทำให้เราแตกแยกได้ ความเห็นอาจแตกต่างได้ แต่การทำงานต้องไปด้วยกันได้

คสช.ดันนายกฯคนนอกเลิกชงชื่อ 3 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือความเห็นการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจาก คสช.ที่ส่งมายัง กรธ. นอกจากเหนือจากจะมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. แล้วยังมีประเด็นที่สำคัญอื่นๆที่น่าสนใจ อาทิ ขอให้ปรับแก้ประเด็นที่ให้พรรคการเมืองต้องเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 3 คน ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในระหว่างการรับสมัครรับเลือกตั้ง โดย คสช. ขอให้ไม่ต้องกำหนดไว้ ให้พรรคการเมืองสามารถเสนอชื่อบุคคลใดก็ได้ แต่ยังคงให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกเหมือนเดิม

สปท.ส่งคำถามซาวเสียง 31 มี.ค.

ที่รัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คนที่ 1 ประเด็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 ให้ สปท.มีส่วนร่วมกับการตั้งคำถามประกอบการทำประชามติว่า ได้ข้อสรุปจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) วันที่ 17 มี.ค. และ 24 มี.ค. รูปแบบอาจมอบหมายให้คณะ กมธ.ปฏิรูปด้านการเมือง สปท.รับผิดชอบไปคิดรูปแบบ จากนั้นวันที่ 28 มี.ค. จะบรรจุวาระการประชุม เปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็น ก่อนส่งเรื่องให้ สนช.ภายในวันที่ 31 มี.ค. ส่วนการที่ 2 พรรคการเมืองบอกว่า การปฏิรูปไม่เห็นคืบหน้า จึงสั่งการให้สำนักประชาสัมพันธ์ สภาฯในฐานะเลขานุการ สปท.ส่งการดำเนินงานของ สปท.ให้พรรคการเมืองกว่า 70 พรรคทุกสัปดาห์จะได้เข้าใจ การใช้วาท-กรรม ดิสเครดิตหรือไม่รู้เห็น อาจเพราะไม่ได้รับข่าวสาร หรือได้รับข้อมูลแต่ใช้วาทกรรมรูปแบบเก่าที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ

เย้ย ปชป.ปฏิรูปพรรคคงไม่แพ้ 20 ปี

“เรายังมั่นใจพรรคการเมืองจะรักษาคำพูดตัวเอง สมัยพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย เป็นรัฐบาล ล้วนแต่เคยเสนอยุทธศาสตร์ชาติมาทั้งนั้น เคยเรียกร้องให้มีการปฏิรูป แต่สมาชิกพรรคการเมืองบางคนไม่เข้าใจ และลืมคำพูดตัวเอง ถ้าเชื่อผมในวันที่เสนอให้ปฏิรูปพรรค คงไม่มีรัฐประหาร ประชาธิปัตย์เอาเวลาไปปฏิรูปพรรคตัวเองดีกว่า ถ้าปฏิรูปจริงคงไม่แพ้เลือกตั้งมา 20 ปีแบบนี้ ไม่อยากให้ปัญหาการเมืองในอดีตมาบดบังการปฏิรูปเพื่อบ้านเมือง” นายอลงกรณ์กล่าว

กมธ.การเมืองตั้งไข่กำหนดประเด็น

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ให้ สปท.เสนอความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อการตั้งคำถามประชามติส่งให้ สนช.พิจารณาได้ว่า กมธ.การเมืองได้นัดประชุมในวันที่ 15 มี.ค. เวลา 09.00 น. เพื่อหารือว่า กมธ.แต่ละคนจะมีข้อเสนอต่อการตั้งคำถามประชามติอย่างไร ส่วนตัวมองว่าคำถามน่าจะมี 2 ลักษณะ คือ 1.เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประเทศ เช่น การสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ 2.เกี่ยวกับการเมืองโดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ต้องกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล ขณะนี้ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน เช่น ส.ว.สรรหา และนายกฯคนนอก เมื่อได้ข้อสรุปตรงกันแล้วจะแจ้งให้วิป สปท.รับทราบ เพื่อเป็นข้อมูลนำไปหารือร่วมกับวิป สนช.ในการประชุมร่วมวิป 2 ฝ่าย

กกต.ชง ครม.ผ่านร่าง ก.ม.ประชามติ

ที่สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) นายธนิศร์ ศรีประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิ กกต.แถลงภายหลังการประชุม กกต.ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ...มีทั้งสิ้น 65 มาตรา โดยมีการปรับแก้และเพิ่มเติมบางประเด็น และได้ส่งไปยังรัฐบาลในช่วงเย็นวันที่ 14 มี.ค. เพื่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 15 มี.ค. ก่อนส่งร่างฯต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป เนื้อหาได้ตัดเรื่องให้กรรมการประจำหน่วยออกเสียงสามารถกาบัตรแทนผู้พิการทางกายภาพได้ออก เนื่องจากเห็นว่าอาจขัดต่อหลักการการลงคะแนนที่ต้องทำโดยลับ ขณะเดียวกันมีการเพิ่มเติมให้หน่วยงานรัฐ เอกชนมีส่วนร่วมในการรณรงค์ เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและวิธีการออกเสียงได้ แต่ต้องไม่เป็นการชี้นำ สำหรับบัตรออกเสียงจะมีใบเดียวแม้จะมีประเด็นคำถามเพิ่มเติมจาก สนช. ในบัตรเดียวจะแบ่งเป็นสองตอน แยกสีอย่างชัดเจน มีช่องเห็นชอบและไม่เห็นชอบ จะไม่มีช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน

พท.สับรัฐบาลชี้นำผลโหวต

นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มาตรฐานการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 59 ด้อยกว่าปี 50 มีข้อเปรียบเทียบคือ 1.ฉบับปี 50 ให้ ส.ส.ร.เป็นผู้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดวันหลักเกณฑ์และวิธีการ ส่วน กกต.เผยแพร่กระบวนการขั้นตอน เป็นผู้จัดและควบคุมตามที่ ส.ส.ร.มอบหมาย แต่ร่างฯปี 59 ให้ กกต.ประกาศวันกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ 2.ร่างปี 59 จะไม่นับรวมบัตรเสียและไม่ประสงค์ลงคะแนนมาไว้ในจำนวนผู้มาออกเสียง แต่นับเฉพาะบัตรที่ลงคะแนนเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น 3.ร่างปี 59 ถือเกณฑ์อายุ 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ออกเสียง จะทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเพิ่มมากขึ้น 4.มีการจำกัดความคิดและการแสดงออกตั้งแต่ระหว่างจัดทำ ช่วงเผยแพร่ร่างฯ หากรณรงค์เหมือนปี 50 อาจเสี่ยงถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและอาจกระทำไม่ได้เลย หากไม่มีการยกเลิกประกาศการห้ามชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง ขณะที่ คสช.และรัฐบาลกลับใช้กลไกของรัฐทุกรูปแบบผ่านกระทรวงมหาดไทยและกลาโหม ชี้นำให้สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญนานแล้ว

“วัฒนา” จวกเผด็จการแบ่งแยก ปชช.

นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “เมื่อประชาชนเป็นเพียงเหยื่อ” ว่าวิบากกรรมที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศชาติเกิดจากการที่คนไทยทะเลาะกันเอง จนถูกทหารนำไปเป็นข้ออ้างยึดอำนาจการปกครอง จากนั้นทหาร กลุ่มชนชั้นนำ และผู้ที่มีการศึกษาสูงทั้งหลาย รวมถึงเนติบริกรได้ตั้งรัฐบาล สภาและองค์กรต่างๆ เรียกว่าแม่น้ำ 5 สายใช้อำนาจรัฐโดยไม่ยอมให้ประชาชนตรวจสอบ โดยใช้กองกำลังและกฎหมายที่พวกสถาปนาขึ้นเป็นเครื่องมือควบคุม เมื่อต้องคืนอำนาจก็ร่วมกันออกกฎหมายล้างผิดให้กันทั้งหมด ทั้งยังจะควบคุมประเทศต่อไปอีก 5 ปีโดยผ่าน ส.ว. ที่จะแต่งตั้งขึ้นเอง ด้วยข้ออ้างว่าเป็นระยะเปลี่ยนผ่าน แต่แท้จริงคือการสืบทอดอำนาจ ทำให้ตัวแทนที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาไม่มีอำนาจ ต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลไกต่างๆที่ถูกสร้างขึ้นแล้วก่อนการคืนอำนาจ กลุ่มเผด็จการเข้าใจดีว่าหากประชาชนสามัคคี รวมพลังขับไล่ให้ออกไปได้ไม่ยากเย็น จึงใช้ประโยชน์จากความขัดแย้ง และใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือแบ่งประชาชนเป็นฝักฝ่าย
จากนั้นทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม

ปลุกจับมือทวงคืน รธน.ประชาธิปไตย

นายวัฒนาระบุว่า เมื่อคนพวกนี้ยึดอำนาจรัฐสำเร็จ จะแต่งตั้งตัวเองและพรรคพวกมาเป็นผู้บริหารมีทั้งเงินเดือนและตำแหน่ง อนุมัติวันเวลาทวีคูณและสองขั้นให้ตัวเองพรรคพวกเป็นโบนัสการยึดอำนาจ ส่วนประชาชนเป็นเพียงเหยื่อที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ ต้องผจญกับความยากลำบากเอง ไม่ว่าจะไม่มีน้ำทำนา ขายข้าวหรือยางไม่ได้ราคา หรือต้องตกงาน ทั้งยังถูกทวงบุญคุณแบบรายวันอีกด้วย จึงอยากวิงวอนให้พี่น้องจากทุกสีและทุกกลุ่มการเมืองให้หยุดทะเลาะกัน แล้วหันมาจับมือเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นสากล อยู่บนหลักนิติธรรมและเคารพอำนาจของประชาชน ประชาธิปไตยที่แท้จริงเท่านั้นที่จะทำให้พวกเราจะยอมรับและอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ วันใดที่พวกเราสามัคคีกัน วันนั้นอำนาจจะกลับคืนมาทันที จากนั้นจับมือกันเอาพวกที่สร้างความเสียหายมารับกรรมไม่ดีกว่าหรือ จะทะเลาะให้คนพวกนี้เสวยสุขโดยไม่ต้องรับผิดชอบไปเพื่ออะไร

เย้ยข้อเสนอ คสช.คือโรคร้าย ปชต.

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ท่าทีที่แตกต่างของ คสช.กับ กรธ.เรื่องเนื้อหารัฐธรรมนูญน่าจะอยู่บนหลักเดียวกันคือ การสืบทอดอำนาจเพียงแต่ คสช.ลงลึกถึงสถานะและบทบาทของตัวเอง แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.วางภาพรวมไว้ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเท่านั้น แม้ข้อเสนอของ คสช.อาจทำให้ดูดีขึ้น แต่ถ้าเปรียบการให้มี ส.ว.ลากตั้งคุมอำนาจต่ออีก 5 ปีของ คสช.เป็นเอดส์ การเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอกเลือกตั้งบัตรใบเดียว การให้มี ส.ว.ลากตั้งของ กรธ.เป็นมะเร็ง เป็นผลร้ายต่อประชาธิปไตยทั้งคู่ สำคัญที่สุดต้องอยู่ที่หลักการ ถ้าตั้งหลักผิดปลายทางก็ผิดและเดินผิดจนเสียหาย อาจนำไปสู่การยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญ จนเกิดวาทกรรมว่ารัฐประหาร 22 พ.ค.เสียของจึงต้องทำใหม่อีกครั้ง

ปชป.จี้ “มีชัย” เผยข้อเสนอ คสช.