ปลัด ทส. หนุนใช้คำสั่ง คสช.ปลดล็อก 'อีไอเอ' โครงการรัฐแก้เรื่องเส้นผมบังภูเขา ช่วยกระตุ้นศก.-ลดต้นทุน ยันไม่เอื้อบริษัทใด ด้าน ภาค ปชช.ร่วมต้านเพิ่ม รวม 56 เครือข่าย
เมื่อวันที่ 10 มี.ค.59 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ พร้อมด้วย นางระวิวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรฯ ร่วมกันแถลงข่าวประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 ให้แก้ไขมาตรา 47 พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เพื่อดำเนินโครงการเร่งด่วน โดยจัดหาบริษัทเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการ โดยไม่ต้องรอให้ผลการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หรือรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) แล้วเสร็จ
นายเกษมสันต์ กล่าวว่า ยืนยันว่าขั้นตอนการทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอ ในโครงการของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ยังต้องดำเนินการตามเดิม โดยต้องผ่านความเห็นชอบ ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและ ครม. ซึ่งคำสั่งตาม มาตรา 44 จะทำให้กระบวนการทุกอย่างเดินไปคู่ขนานกันได้ ยกตัวอย่าง โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ซึ่งเวลาในการพิจารณาอีไอเอถึง 8 ปี ทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้นถึงกว่าหมื่นล้านบาท หรือสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ตั้งโครงการไว้เมื่อปี 2520 ใช้งบประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท แต่ดำเนินการได้ในช่วงปี 2540 ซึ่งงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นกว่าล้านบาท หากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสามารถดำเนินการพร้อมกับการพิจารณาอีไอเอ จึงเป็นการลดต้นทุนในโครงการต่างๆ ได้จำนวนมาก ประกาศ คสช. ฉบับนี้ จึงทำให้ขั้นตอนต่างๆ เดินหน้าได้พร้อมกันและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
...
"การออกประกาศของ คสช.ไม่เป็นผลทำให้อีไอเอขาดเอกภาพ หรือส่งผลกดดันกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกาศ คสช.เรื่องนี้เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจในการดำเนินการตามกิจกรรม 5 ประเภท ตามประกาศ โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เป็นการลดขั้นตอนลงให้ดำเนินการได้เร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ขอชมเชยรัฐบาลที่ปลดล็อกในเรื่องเส้นผมบังภูเขาให้กระบวนการทุกอย่างคู่ขนานกันไปด้วยกันได้ โดยยังมีความโปร่งใส ชัดเจน ที่สำคัญโครงการสามารถเดินหน้าไปได้ จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมและกระตุ้นการพัฒนาประเทศได้" นายเกษมสันต์ กล่าว
ด้าน นายสุพจน์ กล่าวว่า กระบวนการพิจารณาอีไอเอนั้นต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 1 ปีกว่า จากนั้นหากผ่านอีไอเอแล้วจะต้องมาประมูลหาบริษัทดำเนินโครงการนั้นๆ อีก ซึ่งอาจใช้เวลา 1-2 ปี ทำให้ระยะเวลายืดเยื้อนานไป ซึ่งคำสั่ง คสช.จะทำให้ไม่เสียเวลาเพิ่มเติม เพราะทั้ง 2 อย่างนี้สามารถทำคู่ขนานกันไปได้ หากใครที่เป็นกังวลว่าจะเป็นการล็อกบริษัทไว้แล้วหรือไม่นั้น ตามคำสั่งที่ 9 ระบุไว้ว่า การจัดประมูลนั้นจะไม่มีการลงนามในสัญญาใดๆ ทั้งสิ้นจนกว่าอีไอเอจะผ่าน จึงไม่เป็นการเอื้อให้แก่บริษัทใดๆ แน่นอน และถ้ารายงานอีไอเอไม่ผ่านบริษัทที่เข้าร่วมประมูลนั้นต้องยอมรับเงื่อนไขที่รัฐกำหนดไว้ และจะไม่มีการฟ้องร้องใดๆ กับรัฐเด็ดขาด จึงอยากให้คนที่สงสัยเกิดความระแวงในคำสั่งนี้ อย่าไปคาดหวังว่าจะส่งผลเสียกับประเทศ
ขณะที่ นางระวิวรรณ กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ใช่การยกเลิกขั้นตอน หรือลัดขั้นตอนการพิจารณาอีไอเอ หรืออีเอชไอเอ แค่มีขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้างการประกวดราคาทำคู่ขนานไปเท่านั้น ถือเป็นประโยชน์ต่อโครงการเร่งด่วน เช่น โครงการรถไฟรางคู่ที่ประชาชนต้องการ เป็นต้น ส่วนการพิจารณารายงานของสผ.นั้น ยังต้องผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบ ครบถ้วนทุกขั้นตอนเช่นเดิม จึงไม่ควรเป็นกังวลว่าคำสั่งนี้เป็นการเอื้อให้ทุกโครงการ เพราะในคำสั่งที่ 9 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า จะดำเนินการในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินโครงการหรือกิจการใน 5 ด้าน ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัย ซึ่งโครงการอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในกรอบคำสั่งนี้ก็ต้องดำเนินตามขั้นตอนตามปกติของ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังมีองค์กรและเครือข่ายภาคประชาชนรวม 46 เครือข่าย ร่วมออกหนังสือคัดค้านคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 แล้วนั้น ล่าสุดในวันที่ 10 มี.ค.นี้ มีกลุ่มเครือข่ายร่วมคัดค้านเพิ่มอีก 10 เครือข่าย อาทิ มูลนิธิพัฒนาอีสาน สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เครือข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออก 8 จังหวัด เครือข่ายปฏิรูปการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประเทศไทย ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย สมาคมส่งเสริมการพัฒนาสตรีและเยาวชนลำปาง เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี ซึ่งรวมทั้งหมด 56 เครือข่าย