สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รัก ขณะที่คุณครูลิลลี่กำลังเขียนต้นฉบับไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้ ต้องบอกว่ากระแสข่าวที่มาแรงที่สุดและคุณครูอดที่จะหยิบมาเขียนในไทยรัฐออนไลน์ไม่ได้ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ พิธีกรชื่อดัง นักเล่าข่าวที่มีคนติดตามชมกันค่อนประเทศ เอาเป็นว่าไม่ต้องเอ่ยนามของท่านก็แล้วกันนะคะ คุณครูลิลลี่ในฐานะของคุณครูภาษาไทยคนหนึ่งและก็ได้ชื่อว่าเป็นแฟนรายการของท่านเช่นกัน ขออนุญาตงดเว้นที่จะแสดงความเห็นส่วนตัวในประเด็นต่างๆ เหล่านี้นะคะ เพราะถือว่าเป็นเรื่องของกฎหมายและเป็นเรื่องที่มีผู้คนแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวางแล้ว เอาเป็นว่าขอทำหน้าที่คุณครูภาษาไทยหยิบเอาประเด็นข่าวที่มีเรื่องราวของภาษาไทยมาขยายความให้เข้าใจกันเสียหน่อยก็แล้วกันค่ะ

ก่อนอื่นเลยก็ต้องเท้าความกันเสียหน่อยถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นนะคะ หลายท่านคงได้ทราบข่าวกันทั่วถึงแล้ว จากกรณีที่ศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก เกี่ยวกับกรณีทุจริตค่าโฆษณา 138 ล้านบาท เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากที่ศาลได้พิพากษาโทษไปแล้ว ก็มีประเด็นตามมามากมายเกี่ยวกับการที่พิธีกรชื่อดังยังคงจัดรายการอยู่ โดยประเด็นหลักก็อยู่ที่คำว่า จริยธรรม และ จรรยาบรรณ ของสื่อที่ควรจะมี

จนล่าสุดขณะที่คุณครูลิลลี่เขียนต้นฉบับนี้อยู่ พิธีกรคนดังกล่าวก็ได้ยุติบทบาทของตัวเองลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นี่คือการทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นแบบเล่าสู่กันฟังนะคะ อย่างที่เรียนย้ำแต่ต้นว่าจะไม่ออกความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่มีเรื่องความรู้ภาษาไทยดี ๆ มานำเสนอกันค่ะ นั่นคือเรื่องของคำ 2 คำที่เราได้ยินทั้งนักข่าวโทรทัศน์ วิทยุ รวมถึงสื่อทั้งหลายใช้กันอยู่บ่อย ๆ นั่นคือคำว่า จริยธรรม และ จรรยาบรรณ จนมีคนมาถามคุณครูลิลลี่ว่า จริง ๆ แล้ว 2 คำนี้ใช้เหมือนใช้ต่าง หรือใช้แทนกันได้หรือไม่อย่างไร เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ

...


คำว่า จรรยาบรรณ ต้องเริ่มจาก คำว่า จรรยา ก่อนนะคะ คำว่า จรรยา เป็นคำนาม หมายถึง ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติในหมู่คณะ เช่น จรรยาแพทย์ เรามักจะนิยมใช้คำว่า จรรยา ในความหมายที่ดี เช่น มีจรรยา หมายความว่า มีความประพฤติที่ดี ส่วนคำว่า “จรรยาบรรณ” เป็นคำนาม หมายถึง ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกำหนดขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้

มาดูที่คำว่า จริยธรรม นะคะ คำนี้ก็ต้องเริ่มที่คำว่า จริย- ก่อน คำว่า จริย- อ่านว่า จะ-ริ-ยะ เป็นคำนามค่ะ หมายถึง ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ ใช้ในคำสมาส เช่น จริยศึกษา หมายความว่า การศึกษาเกี่ยวกับความเจริญงอกงามในทางความประพฤติและการปฏิบัติตนเพื่อให้อยู่ในแนวทางของศีลธรรมและวัฒนธรรม หรืออย่างคำสมาสว่า จริยศาสตร์ ก็จะหมายถึง ปรัชญาสาขาหนึ่งที่ว่าด้วยการแสวงหาความดีสูงสุดของชีวิตมนุษย์ แสวงหาเกณฑ์ในการตัดสินความประพฤติของมนุษย์ว่าอย่างไหนถูกไม่ถูก ดีไม่ดี ควรไม่ควร และ พิจารณาปัญหาเรื่องสถานภาพของค่าทางศีลธรรมด้วย ส่วนคำว่า จริยธรรม ที่สงสัยกันนั้น เป็นคำนามนะคะ หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ หรือ ศีลธรรม รวมถึง กฎศีลธรรม ด้วยค่ะ ทราบกันอย่างนี้แล้ว ถ้าจะวิพากษ์วิจารณ์หรือพูดถึงข่าวคราวดังกล่าวก็เลือกใช้ให้ถูกต้องนะคะว่าในรูปประโยคไหนจะใช้ จริยธรรม และรูปประโยคไหนจะใช้คำว่า จรรยาบรรณ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคำควรมีไว้ในใจเสมอเพราะนั่นจะทำให้เราอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข และถูกต้องค่ะ