เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก จ.อุตรดิตถ์ ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยแล้งที่ อ.ท่าปลา ชาวบ้านหมู่ 5 บ้านน้ำหมันใต้ ต.น้ำหมัน อ.ท่าปลา ได้นำภาชนะเก็บน้ำจำพวกถังที่ใส่บรรจุภาชนะน้ำขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ใส่รถบรรทุก หลังจากกรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 พิษณุโลก โดยมี นายนคร ทองคำอ้น หัวหน้าหน่วยชุดปฏิบัติการพิเศษเผชิญเหตุทรัพยากรน้ำภาค 9 พิษณุโลก ได้นำรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 2คัน และรถบรรทุกน้ำขององค์การบริหารส่วนตำบลน้ำหมัน จำนวน 1 คัน ได้ทำการแจกน้ำให้กับชาวบ้าน
ทั้งนี้ รถบรรทุกน้ำของ อบต.น้ำหมันนั้นมีไม่เพียงพอที่จะตระเวนแจกน้ำได้ครบทั้ง 12หมู่บ้าน ที่มีประชากรจำนวน 7,155 คน 2,325 ครัวเรือนจึงได้ทำการขอยืมรถบรรทุกน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำ สนง.ทรัพยากรน้ำภาค 9 พิษณุโลก จำนวน1คัน มาประจำที่ อบต.น้ำหมัน เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในช่วงเกิดวิกฤติปัญหาภัยแล้งก็ยังมีไม่เพียงพอเนื่องจากต้องไปสูบน้ำจากเขื่อนดินซึ่งมีระยะทางไกล ประมาณ 20 กิโลเมตร และวิ่งได้เพียงวันละ 5เที่ยวเท่านั้น จึงทำให้ชาวบ้านขาดแคลนน้ำ อีกทั้งต้องสับเปลี่ยนแจกให้ครบทั้ง 12 หมู่บ้าน ประปาหมู่บ้านที่ใช้น้ำบาดาลก็ไม่มีน้ำที่จะสูบขึ้นมาทำน้ำประปาแล้ว นอกจากนี้แล้วยังได้นำรถบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายน้ำตามบ้านผู้สูงอายุและผู้พิการที่ไม่สามารถออกมารับน้ำได้
นางเกี้ยว จันทร์สิริ อายุ 74 ปี ม.5 บ้านน้ำหมันใต้ กล่าวว่า รู้สึกดีใจและขอบคุณที่หน่วยงานภาครัฐได้นำน้ำมาแจกจ่ายในวันนี้ ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเจอภัยแล้งที่วิกฤติขนาดนี้ ข้าวก็แห้งตายไม่มีจะกิน ในตอนนี้ลูกหลาน 2-3 วันยังไม่ได้อาบน้ำก็มี
ทางด้านนายสุเทพ เลิศศรีมงคล ผอ.เขื่อนสิริกิติ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 4,283.75 ล้านลูกบาศก์เมตร (45.04%)ปริมาณน้ำพร้อมใช้งาน 1,433.75 ล้านลูกบาศก์เมตร(21.53%) ซึ่งเปรียบเทียบกับหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์มีน้อยมาก การระบายน้ำช่วยเกษตรกรชาวนาที่จะทำนาปีนั้น ทางเขื่อนไม่มีน้ำที่จะระบายช่วยได้ ทั้งนี้ ทางเขื่อนไม่ได้นิ่งนอนใจได้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมหน่วยเคลื่อนที่ประสานส่วนที่เกี่ยวข้องออกทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนที่มีอยู่จริง เพื่อให้เกษตรกรชาวนาและกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชังท้ายเขื่อนรับทราบเป็นระยะ และนำไปวางแผนทำการเกษตรในช่วงฤดูทำนาปรังและนาปี ยืนยันว่าน้ำใช้อุปโภคบริโภคและระบายในระบบนิเวศเพียงพอจนสิ้นสุดฤดูแล้งแน่นอน.
...