"จาตุรนต์" ซัด คสช.เจตนาชัดกระบวนการสืบทอดอำนาจ ผ่านรูปแบบ ส.ว.สรรหา เชื่อทำกรธ.กระอักกระอ่วน รอดูสุดท้าย กรธ.ตัดสินใจอย่างไร พร้อม ชี้ สะท้อนคสช.ลากยาวประเทศอยู่แบบไม่เป็นประชาธิปไตย รวม 8 ปีกว่า

วันที่ 5 มี.ค. นายจาตุรนต์​ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เสนอแนวคิดมี ส.ว.สรรหา ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ว่า ฟังการอธิบายของนายกฯ และพล.อ.ประวิตร บอกว่าถ้า 5 ปีนี้ ถ้าตั้งไข่ได้แล้ว จะไม่มีใครมายุ่งกับฝ่ายการเมือง ต้องการให้ ส.ว.เข้ามาดูยุทธศาสตร์ประเทศ หรือ กระบวนการสรรหาอาจ มีคสช.เข้าไปเป็นก็ได้ ก็พบว่า ส่ิงที่อธิบายมานั้น คือกระบวนการสืบทอดอำนาจนั่นเอง ซึ่งนั่นหมายความว่า กำลังมีกระบวนการสืบทอดอำนาจ เพียงแต่ไม่ชัดเจนว่า จะให้มีคณะกรรมการอะไรของ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งที่ว่าสืบทอดอำนาจนั้น ไม่ใช่คสช.สืบทอดอำนาจทั้งคณะ แต่มีลักษณะสืบทอดด้วยการกำหนดความเป็นไปของประเทศในด้านต่างๆ โดยใช้กลไกที่มีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ร่างไว้แล้ว กับที่กำลังจะปรับปรุงตามความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เพราะฉะนั้น ที่ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ เป็นการสืบทอดอำนาจในรูปของการแต่งตั้ง ส.ว.ที่เป็นพวกของตัวเองเข้ามากำกับยุทธศาสตร์และการปฏิรูป ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ ก็มีการพูดถึงขั้นที่ว่า จะให้ส.ว. ร่วมประชุมกับส.ส.ทักท้วงรัฐบาลได้ ซึ่งอาจมีผลถึงขั้น หากส.ว.ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลใด รัฐบาลนั้นอาจเป็นรัฐบาลต่อไปไม่ได้ นอกจากนั้น ในส่วนของ กรธ.เองได้กำหนดให้องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจอย่างมากในการควบคุม และการตัดสินการดำรงอยู่ของรัฐบาล องค์กรอิสระบางองค์กรหรือหลายองค์กร กว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ก็อาจจะมาจากการแต่งตั้งจากระบบที่อยู่ใต้อำนาจ คสช.ไปแล้ว เมื่อพิจารณากลไกหลายๆ อย่าง จะเห็นอำนาจกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง ก็จะอยู่ในกลุ่มคนที่อาจจะเป็นได้ทั้ง คสช.นั่นเอง ล้วนไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน ทั้งนี้ การที่คสช.มักจะบอกว่า ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ ยังไม่มีข้อยุติสุดท้ายอย่าเพิ่งวิจารณ์ แต่ส่ิงที่ผู้มีอำนาจทั้ง 2 คน ชี้แจง เท่ากับเป็นการอธิบายอย่างชัดเจนแล้ว ว่า ต้องการสืบทอดอำนาจกันอย่างไร และที่ชัดเจน คือ ได้เปิดเผยวัตถุประสงค์สืบทอดอำนาจด้วยการบอกว่า เพื่อไม่ให้การยึดอำนาจมา 2 ปีกว่าเสียของ ส่วนท่าทีของกรธ.หลังผู้มีอำนาจ 2 คน พูดในแนวทางเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมา กรธ.พยายามตอบสนองความต้องการของคสช.มากแล้ว เพราะว่าต้องทำตามทั้งข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พอมาถึงขั้นนี้ดูเหมือนว่า กรธ.จะรู้สึกกระอักกระอ่วน อยู่ในสภาพไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะมีเสียงปฏิเสธแนวคิดนี้แบบจ้าละหวั่น

...

รวมไปถึงกระแสข่าวให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ ได้ด้วย ก็ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่อาจมีมูลก็ได้ ดังนั้น ความเห็นผู้มีอำนาจทั้งหลายที่เสนอมาเวลานี้ ทำให้กรธ.อยู่ในสภาพแบบแบ่งรับแบ่งสู้ อาจจะรู้ว่าถ้าเอาตามผู้มีอำนาจไปทุกอย่าง สังคมจะไม่ยอมรับ เพราะฉะนั้น เวลานี้เราคงต้องดูกันว่า สุดท้ายกรธ.จะสรุปร่างอย่างไร ถ้าหากเป็นไปตามความเห็นของผู้มีอำนาจ คสช.และรัฐบาลพูดกันอยู่ มันจะเป็นการทำให้ประเทศถอยหลังอย่างมาก และจะเกิดสภาพที่สังคมทั้งในและต่างประเทศ ไม่ยอมรับ ซึ่งก็คงต้องดูกันว่า สุดท้ายแล้วร่างจะออกมาอย่างไร

"ถ้าเขามีความกล้าหาญพอที่จะปฏิเสธข้อเสนอที่มันเกินเลยไปมาก ก็อาจจะไม่ตกเป็นเหยื่อของการวิพากษ์วิจารณ์ หรือจำเป็นต้องทำตามความเห็นก็แยกแยะว่า อะไรเป็นความเห็นของ กรธ.และอะไรเป็นความเห็นของคสช. ประชาชนคงจะแยกแยะได้ว่า เรื่องไหนใครจะต้องรับผิดชอบ"

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เมื่อมีการยึดอำนาจเราอาจคุ้นเคย ผู้มีอำนาจจะประกาศมีเลือกตั้งเมื่อไหร่ มีรัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ ระยะเวลาต้องสั้น แต่ต่างจาก คสช.ที่ตอนแรกบอกใช้เวลา 1 ปี ต่อมาถึงตอนนี้ขยายเวลาถึงปลายปี 60 เท่ากับ 3 ปีกว่า ซึ่งถือว่า นานกว่าที่ควรจะเป็นไปมากแล้ว เมื่อมาบอกว่า จะมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านอีก 5 ปี เท่ากับเราใช้เวลาในการปกครองประเทศแบบไม่เป็นประชาธิปไตยถึง 8 ปีกว่า ซึ่งจะเป็นการทำให้ประเทศเสียหายอย่างมาก สุดท้ายแล้วถ้าร่างกันออกมาอย่างนี้ แล้วผ่านประชามติไปได้ ประเทศไทยก็จะเสียหายยับเยิน