จากใจ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

ก่อนอื่นพวกเรา ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ต้องกราบขอขอบพระคุณ แฟนไทยรัฐออนไลน์ทุกท่านที่ให้ความกรุณา ให้ความเห็นในประเด็นที่พวกเรา อยากให้สังคมทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันแชร์ความคิดเห็นและให้ข้อมูล ในประเด็น "ควรสร้าง หรือ ไม่ควรสร้างกระเช้าภูกระดึง"

ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่พวกเราได้จากแฟนๆ ทุกท่านนั้น พวกเราได้พยายามจัดหาข้อมูลจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาให้ทุกท่านได้พิจารณาใน สกู๊ปซีรีส์ข่าวที่อยู่ในบรรทัดถัดจากนี้เป็นต้นไปแล้ว พวกเราทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ทุกคน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลที่พวกเรานำเสนอนี้จะสามารถช่วยให้แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ทุกท่าน ได้นำไปใช้เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป

พวกเราขอย้ำอีกครั้งว่า สกู๊ปซีรีส์ข่าวของเรานี้ มิได้มุ่งหวังให้เกิดความขัดแย้งในสังคมจากประเด็นดังกล่าว หากแต่เรามีเจตนารมณ์ที่มุ่งหวังอยากจะนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้รอบด้านมากที่สุด เพื่อนำไปสู่การได้ข้อสรุปที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนในสังคมต่อไป เพราะพวกเราเชื่อมั่นว่า "ความเห็นต่าง มิใช่ความขัดแย้ง หากทุกภาคส่วนในสังคมแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกัน อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย"

...

จุดกำเนิดภูกระดึง ความท้าทายที่ ข้าต้องพิชิต

‘ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง’ วลีอมตะถูกสลักไว้บนแผ่นป้าย ณ หลังแป

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ถือเป็นบทเริ่มต้นของการเดินป่า ที่ใครหลายคนใฝ่ฝันไว้ว่า อยากจะขึ้นไปพิชิตยอดภูสักครั้งในชีวิต ด้วยลักษณะเฉพาะของภูกระดึงที่เป็นภูเขาหินทรายยอดตัด รูปร่างเหมือนเป็นแท่งภูเขา มีจุดสูงสุดอยู่ที่บริเวณคอกเมย มีความสูง 1,316 เมตร

ภูกระดึง ถือได้ว่าเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีระบบนิเวศที่หลากหลาย และแตกต่างกันตามลักษณะของความสูงของพื้นที่ ประกอบไปด้วย ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา รวมถึงยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอีกหลายชนิด ทำให้ภูกระดึงมีลักษณะพิเศษเฉพาะในการเรียนรู้ระบบนิเวศที่มีความหลากหลาย ขณะที่ป่าแห่งอื่นไม่มี

พลิกปูม ‘ภูกระดึง’ ขุนเขามหัศจรรย์แห่งเมืองเลย

กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของภูกระดึงไว้ว่า ตามตำนานมีพรานผู้หนึ่งตามล่ากระทิงโทน ขึ้นไปจนถึงบนยอดเขาลูกหนึ่งในเขต ต.ศรีฐาน ได้พบพื้นที่บนยอดเขาราบเรียบและกว้างใหญ่มากเป็นทุ่งหญ้าสลับกับป่าสน มีต้นไม้ขึ้นอยู่อย่างเรียงรายเป็นระเบียบ และเต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด เช่น ช้างป่า ฝูงกระทิง เก้ง กวาง ซึ่งหากินอยู่เป็นฝูงๆ ไม่ตระหนกตื่นกลัวนายพราน

หลังจากที่ ธรรมชาติได้ปิดซ่อนเร้นภูกระดึงมานานก็ถูกเปิดเผยให้มนุษย์รู้จักนับแต่นั้นมา และจากการเล่าลือกันมาแต่โบราณว่า มีผู้ได้ยินเสียงระฆังของพระอินทร์ที่อยู่บนเขานี้ ดังนั้นจึงให้ชื่อว่า ภูกระดึง หรือ ภูกะดึง เพราะคำว่า “ภู” หมายถึง ภูเขา และ “กระดึง” มาจาก “กระดิ่ง” ภาษาพื้นเมืองของ จ.เลย แปลว่า “ระฆังใหญ่” นอกจากนี้ เมื่อขึ้นไปบนยอดเขาบางส่วนหากเดินลงเท้าหนักๆ หรือใช้ไม้กระทุ้งก็จะมีเสียงก้องคล้ายระฆัง ซึ่งเกิดจากโพรงข้างใต้ จึงได้รับขนานนามว่า “ภูกระดึง”

...

เหตุใดจึงได้ชื่อว่า เป็นเส้นทางเดินเขาที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทย เคยมีมา

“ภูกระดึง เป็นเส้นทางเดินเขาที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา ผลของการเป็นเส้นทางเดินป่าที่ดีที่สุด จึงทำให้มีคนไปเที่ยวมากมายตลอด 50 ปี” คำจำกัดความภูกระดึง ของ นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เชื้อเชิญมาร่วมวงพูดคุย

โดย อาจารย์ศศิน เล่าถึงมนตร์เสน่ห์ภูกระดึงในแบบฉบับของตัวเองว่า เนื่องด้วยไม่มีวิธีใดที่จะขึ้นไปพิชิตบนยอดภูกระดึงได้ จึงต้องใช้วิธีการเดินขึ้นไปเท่านั้น และความสูง ความลาดชันที่มีอยู่แทบจะตลอดทางจากบ้านศรีฐาน ไปจนถึงหลังแป ด้วยระยะทาง 5.5 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่ลาดชัน ถือได้ว่าเป็นความท้าทายของร่างกายและจิตใจอย่างมาก ไม่เพียงเท่านั้น จากหลังแปไปจนถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง ซึ่งเป็นที่พักด้วยระยะทางราบอีก 3.5 กิโลเมตร ท่ามกลางแดดร้อนอีกต่างหาก

แต่อย่างไรก็ดี ความหฤโหดของเส้นทางขึ้นภูกระดึงนั้น ไม่ได้โหดร้ายหรือลำบากยากแค้นเท่าไร เมื่อเทียบกับที่อื่นที่นักเดินป่ามืออาชีพไปผจญกัน แต่เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่เหมาะสม นักเดินป่ามือสมัครเล่นก็สามารถเดินขึ้นได้ นอกจากนี้ ตลอดสองข้างทางยังมีพืชพรรณต่างๆ ให้ได้สัมผัสถึงความเป็นธรรมชาติ จนบางครั้งก็ทำให้บ่มเพาะจิตใจให้หวงแหนธรรมชาติไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นบทบาทของภูกระดึง ที่ดึงดูดคนให้มาใช้เส้นทางเดินป่าแห่งนี้มากมายเป็นระยะเวลา 50 ปี

โรงเรียนสอนชิมลาง คนคิดเดินป่า ปลูกฝังจิตวิญญาณนักอนุรักษ์

“ความพิเศษของภูกระดึง คือ เส้นทางในลักษณะแบบนี้ในประเทศไทยไม่มีให้เดิน ไม่มีที่ไหนที่จะเดินศึกษาธรรมชาติและได้ความรู้ครบครันในเรื่องระบบนิเวศเท่ากับที่นี่” นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แขกรับเชิญอีกท่าน ที่ทีมข่าวฯ​ เชื้อเชิญมาบอกเล่าถึงดินแดนในฝันของนักเดินป่า

...

นายภาณุเดช บอกถึงความหลงใหลในผืนป่าแห่งนี้ว่า การเดินในที่สูงชันย่อมทำให้ร่างกายต้องออกแรงมากกว่าปกติ ด้วยระยะทาง 9 กิโลเมตร จากด้านล่างไปจนถึงที่พักถือว่าไม่ธรรมดา มันเป็นการพิสูจน์ความท้าทาย ความอดทน ความแข็งแรงของร่างกาย แม้จะบ่นกันในช่วงแรก แต่เมื่อไปถึงข้างบนเหมือนความเหนื่อยที่มีมามลายหายไปเพราะความสวยงามของวิวทิวทัศน์ แมกไม้นานาพรรณ ทำให้ตลอดระยะเวลา 3-5 ชั่วโมงที่เดินขึ้นไป ถือว่าคุ้มค่าอย่างมาก

และถึงแม้ว่าการเดินป่าที่อื่นจะโหดกว่า แต่ที่ภูกระดึงถือเป็นโรงเรียนสำหรับคนเดินป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ร่ำเรียนคณะวนศาสตร์หรือมีความรักในธรรมชาติ จะได้ประสบการณ์จากที่นี่ เหมือนที่หลายคนบอกว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องไปน้ำตกทีลอซูให้ได้ ภูกระดึงก็เช่นกัน

...

กำเนิดแนวคิด ก่อสร้าง ‘กระเช้าไฟฟ้า’ ขึ้น ภูกระดึง

ปฐมบทของโครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เริ่มตั้งแต่ปี 2525 อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ได้เสนอกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสมัยนั้น พิจารณาระบบขนส่งขึ้น-ลง โดยใช้พาหนะสายเคเบิล อันเนื่องมาจากความยากลำบากในการเดินทางถึงยอดภูกระดึง ซึ่งต้องการเดินเท้าขึ้นไปตามความลาดชันเป็นระยะเวลานาน ทำให้นักท่องเที่ยวต้องวางแผนใช้เวลาสำหรับการเดินทางขึ้น-ลงถึง 2 วัน

จากนั้นได้มีการศึกษารูปแบบการก่อสร้าง รวมไปถึงผลกระทบต่างๆ มีการจัดทำประชาพิจารณ์ โดยเริ่มทำตั้งแต่ปี 2527 2542 และ 2557 แต่ละครั้งมีการแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ก่อนที่โครงการดังกล่าวจะเงียบหายไปหลายปี กระทั่ง นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส.เลย เข้ารับตำแหน่ง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ปัดฝุ่นโครงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงอีกครั้ง หลังจากเว้นว่างมาหลายปี จากนั้น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) จึงได้รับงบจำนวน 20 ล้านบาท ก่อนว่าจ้างให้ศูนย์บริการทางการศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัท แกรนด์เทค จำกัด และบริษัท ไทยซิสเทมเอนไว แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ดำเนินการศึกษาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการและผลกระทบเรื่องต่างๆ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ และความเหมาะสมในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงร่วมกับกรมอุทยานฯ จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมขึ้นมาใหม่

ล่าสุด การศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมส่งไปที่สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้พิจารณา และเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี ซึ่ง ครม. ได้รับทราบผลการศึกษาโครงการที่ อพท. เสนอมาแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการเห็นชอบหรืออนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างใดๆ ทั้งสิ้น

ทำไมต้องสร้าง ‘กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง’ ?

ในรายงานการศึกษาได้ระบุถึงแนวคิดและมุมมองสำหรับกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ไว้ดังนี้

1. ลดผลกระทบจากการเดินทางขึ้นสู่ยอดภูกระดึงในสภาพปัจจุบันที่มีเพียงการเดินเท้าเท่านั้น ซึ่งมีส่วนทำลายสภาพพืชพรรณธรรมชาติ สภาพแวดล้อมของพื้นที่จากการเดินเท้าขึ้นสู่ภูกระดึงและกิจกรรมของนักท่องเที่ยว

2. สนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในภารกิจการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การตรวจตราพื้นที่ การขนย้ายเครื่องมือและอุปกรณ์ การขนส่งเจ้าหน้าที่ การป้องกันระงับไฟป่า และเพิ่มขีดความสามารถในการขนย้ายผู้ป่วยผู้บาดเจ็บในกรณีฉุกเฉิน

3. เพิ่มความสามารถในการขนส่งขยะและของเสียต่างๆ จากยอดภูกระดึงลงมากำจัดในพื้นที่ด้านล่าง ซึ่งเป็นผลดีในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของพื้นที่บนยอดภูกระดึง

4. ขยายโอกาสการเดินทางมาท่องเที่ยวของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างๆได้มากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสการท่องเที่ยวของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีข้อจำกัดในการเดินเท้า สามารถขึ้นได้ทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะผู้สูงอายุ

5. การเดินทางสู่ยอดภูมีความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น ใช้เวลาเดินทางน้อยลง

6. ประหยัดเวลาในการเดินทางขึ้น-ลง สามารถขึ้นลงได้ภายใน 1 วัน ทำให้เอื้อต่อการสร้างโอกาสการเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ สามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 19 จังหวัด

7. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของพื้นที่พิเศษเลยทั้ง 9 อำเภอ จ.เลย โดยรวม และของประเทศ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

8. เพิ่มโอกาสในการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพิ่มศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจจากกิจกรรมการท่องเที่ยวแก่ชุมชนท้องถิ่นโดยรอบ

แผนบริหารจัดการนักท่องเที่ยว หากกระเช้าลอยฟ้า ถือกำเนิดจริง

จากรายงานดังกล่าวที่มีการศึกษาถึงระบบการจัดการการท่องเที่ยว กรณีที่มีกระเช้าไฟฟ้า โดยระบุว่า

1. ห้ามก่อสร้างอาคารที่พักในลักษณะถาวรเพิ่มขึ้น เนื่องจากการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่พักแรม 5,000 คนต่อคืน เท่าในปัจจุบัน

2. ไม่มีการสร้างถนน ไม่มีการบริการรถขนส่งที่ใช้เครื่องยนต์บนยอดภูกระดึง ใช้ทางเดินเท้าที่มีปัจจุบัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวบางประเภทยังต้องการอนุรักษ์และหวงแหนเส้นทางเดิมอยู่ โดยจะแยกนักท่องเที่ยวออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการเดินขึ้น กับกลุ่มผู้สูงอายุที่เดินไม่ไหวก็ขึ้นกระเช้าไฟฟ้า

3. สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีข้อจำกัดในการเดิน จะมีลูกหาบบริการด้วยรถเข็น รถลาก แคร่

4. จำกัดจำนวนผู้พักแรมบนยอดภูกระดึง 5,000 คนต่อคืน เท่าข้อกำหนดปัจจุบัน และมีแนวคิดที่จะลดจำนวนลงตามความพร้อมของการพัฒนาที่พักในท้องถิ่น

5. จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวขึ้นสู่ภูกระดึงไม่เกิน 8,000 คนต่อวัน ทั้งเดินและโดยกระเช้า

6. พัฒนาระบบการจองท่องเที่ยวล่วงหน้าทั้งวันเดินทางและจำนวนวันพักแรม

7. ปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพของระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียให้ดีขึ้น เพื่อรองรับการบำบัดน้ำเสียจากผู้พักแรม 5,000 คนต่อคืน ซึ่งจะไม่มีปริมาณน้ำเสียเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน

8. มีการจัดการรองรับเหตุฉุกเฉินด้วยตู้กระเช้าเฉพาะสำหรับปฐมพยาบาลและขนส่งผู้ป่วย

9. จำกัดช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว โดยให้มีช่วงปิดการขึ้นยอดภูกระดึงเพื่อเป็นช่วงให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวจากกิจกรรมการท่องเที่ยวตามหลักการจัดการอุทยานแห่งชาติ

10. เก็บขนขยะลงทุกวัน โดยใช้ตู้กระเช้าที่แยกเฉพาะในช่วงตรวจสอบระบบโดยลูกหาบ และมีแผนนำขยะเดิมในหลุมฝังกลบขนลงมากำจัดด้านล่าง ซึ่งคาดว่าจะสามารถปิดหลุมขยะบนภูกระดึงได้ใน 6-8 ปี

11. ห้ามขยายพื้นที่ส่วนบริเวณนักท่องเที่ยวของศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวางออกไปจากเดิม โดยใช้พื้นที่เฉพาะในพื้นที่ 6.1 ตารางกิโลเมตร เท่าในปัจจุบัน

12. ห้ามพัฒนาร้านค้าหรือบริการ ในลักษณะของการให้สัมปทาน จะมีเพียงการให้สิทธิ์กับร้านค้าเดิมที่ได้รับอนุญาตอยู่แล้ว หรือเพื่อสวัสดิการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงเท่านั้น

13. คงคุณค่าของการเป็นศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติ โดยไม่มีการพัฒนาขยายเส้นทางถนนให้กว้างขึ้นกว่าปัจจุบัน

ผลศึกษาระบุ แนวเส้นทางกระเช้ายาว 4.40 กม. เหมาะสมที่สุด

รายงานการศึกษาชิ้นดังกล่าวนั้น ยังได้สรุปถึงเส้นทางและตำแหน่งที่ตั้งสถานีที่มีความเหมาะสมที่สุด นั่นคือ แนวทางเลือก B โดยมีความยาว 4.40 กม. สถานีต้นทางและสถานีปลายทางอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง โดยสถานีต้นทาง อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐาน ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 3.5 กม. ส่วนสถานีปลายทาง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากบริเวณหลังแปไปทางทิศตะวันตกประมาณ 600 ม. และมีระยะทางจากสถานีปลายทางไปถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง 3.7 กม. ความลาดชันเฉลี่ยของแนวกระเช้าไฟฟ้า 27% และมีเสารองรับจำนวน 7 ต้น

8 ที่นั่งต่อ 1 กระเช้า ขนถ่ายได้ 4,000 คนต่อ 1 ชั่วโมง

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบระบบของกระเช้าไฟฟ้าที่มีความเหมาะสม ในรายงานระบุไว้ว่า เป็นแบบเก๋ง (Mono Cable Detachable Gondola - MDF) ชนิด 8-MDG (8 ที่นั่ง) โดยที่นั่งหันหน้าชนกัน ผู้โดยสารไม่อาจเปิดประตูในขณะที่เดินทางได้จนกว่าจะถึงสถานี ซึ่งเป็นระบบของกระเช้าไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานทั้งด้านความปลอดภัยและทางด้านเทคนิค รวมถึงยังเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ สามารถขนส่งผู้โดยสารต่อเที่ยวได้ประมาณ 4,000 คน ต่อ 1 ชั่วโมง และสามารถรับแรงลมได้ 20 เมตร/วินาที (70 กิโลเมตร ต่อ 1 ชั่วโมง) ซึ่งมากกว่าแรงลมเฉลี่ยบริเวณรอบๆ ภูกระดึงที่มีค่าความเร็วลมเฉลี่ยที่ระดับความสูง 90 เมตร ต่ำกว่า 5 เมตร ต่อ วินาที (18 กิโลเมตร ต่อ 1 ชั่วโมง)

สถานีจะประกอบไปด้วยสถานีต้นทางจะตั้งอยู่ด้านล่างของภูกระดึง จะมีอาคารหลักอยู่ 2 ส่วน คือ อาคารสำหรับการขึ้น-ลงกระเช้า ซึ่งจะแยกส่วนทางขึ้น-ลง ออกจากกันเป็นสัดส่วน และมีห้องควบคุมระบบกระเช้าอยู่ด้วย และอาคารจัดเก็บกระเช้า สำหรับจัดเก็บกระเช้าที่ยังไม่ได้ใช้งานและเป็นส่วนในการซ่อมบำรุงตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ของระบบ ส่วนสถานีปลายทางที่อยู่ด้านบน (หลังแป) จะมีเพียงอาคารสำหรับการขึ้น-ลงเท่านั้น

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถรับชมทัศนียภาพได้จากช่องหน้าต่างกว้างรอบตัวกระเช้าด้วยแผ่นพลาสติก Polycarbonate ที่เหนียวกว่ากระจก ทำให้ปลอดภัยจากการตกกระเช้า การถ่ายเทอากาศผ่านช่องพื้น จึงไม่มีปัญหาฝนรั่วเข้ามาตามช่องระบายอากาศ และสามารถไม่ให้ขยะจากผู้โดยสารร่วงตกหล่นไปตามทาง

ส่วนอุปกรณ์จับยึด (Grips) ที่จับยึดตัวกระเช้าไว้กับสายเคเบิล ซึ่งจะใช้ชนิดจับแล้วคลาย (Detachble) โดยตัวจับยึดจะคลายตัวเมื่อตัวกระเช้าเคลื่อนที่เข้าหรือออกจากสถานีไปยังราววิ่งที่อยู่ในตัวสถานี โดยที่ราววิ่งจะมีความเร็วในการเคลื่อนที่ 0.35 เมตร/วินาที ช้ากว่าความเร็วในการให้บริการ 5-6 เมตร/วินาที ซึ่งจะทำให้สามารถเคลื่อนตัวเข้าไปหรือออกอย่างปลอดภัย และเมื่อเคลื่อนตัวออกจากสถานีตัวจับยึดจะยึดตัวกระเช้าไว้กับสายเคเบิล และเสา (Trestle) จะเลือกใช้รูปแบบของเสาขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน เช่น สภาพพื้นที่ข้อกำหนดในพื้นที่ ระยะห่างของเสา ซึ่งจะต้องสำรวจรายละเอียดจริงของพื้นที่ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา

สำหรับในตอนที่ 2 จะเป็นการให้ข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย ระหว่างฝ่ายนักวิชาการที่ได้ร่วมศึกษารายงานฉบับดังกล่าว และฝ่ายนักอนุรักษ์ ทัศนะของพวกเขาจะเป็นอย่างไร สรุปกระเช้าไฟฟ้าจะสร้างหรือไม่ โปรดติดตาม...

ขอบคุณภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก Patthamaporn Lee

อ่านเพิ่ม