ปัจจุบันการขนส่งมวลชนระบบรางของประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในอนาคตประเทศไทยอาจประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านการบริหารจัดการระบบราง เนื่องจากมีสถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรเกี่ยวกับด้านเครื่องกล ด้านไฟฟ้า แต่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญระบบรางโดยเฉพาะ หากไม่มีการวางแผนด้านการผลิตบุคลากรสู่การบริหารจัดการระบบรางที่ดีพอ มีความเป็นไปได้ที่ผลกระทบจะออกมาในรูปแบบวิกฤติขาดแคลนนักบินที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน!!!!!!

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ดร.พิจิตต รัตตกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ผศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น รองอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอสซี) มารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด และเกรกอรี โยอันน์ มาทธิว อองจาลแบร์ท รองประธานกรรมการ บริษัท บอมบาร์ดิแอร์ฯ (ประเทศไทย) เพื่อจัดทำหลักสูตรอนุปริญญา สาขาวิชาเทคโนโลยีระบบรางของวิทยาลัยชุมชนเมืองแห่งกรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

...

ดร.พิจิตตกล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายผลิตกำลังคนเพื่อการบริหารจัดการเทคโนโลยีระบบราง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่องค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระบบรางมากที่สุดของประเทศได้ให้ความสนใจมาร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง เป็นหลักสูตรอนุปริญญาสาขาวิชาเทคโนโลยีระบบราง ที่วิทยาลัยชุมชนเมืองแห่งกรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กำหนดเปิดสอนครั้งแรกในปีการศึกษา 2559 นี้

ดร.พิทยา ชินะจิตพันธุ์ ผอ.วิทยาลัยชุมชนเมืองแห่งกรุงเทพมหานคร เผยว่า ขณะนี้หลักสูตรอยู่ระหว่างเสนอสภามหาวิทยาลัยฯหากผ่านขั้นตอนนี้แล้ว คาดว่าจะสามารถเปิดรับสมัครนักศึกษาเพื่อสอบคัดเลือกเข้าเรียนได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ โดยปีแรกจะรับนักศึกษา 40 คน นักศึกษาจะเรียนด้านวิศวกรรมเครื่องกล ไฟฟ้า ที่วิทยาลัยชุมชนเมืองแห่งกรุงเทพฯ จากนั้นในเดือน ส.ค.59 จะใช้พื้นที่ของ สจล.เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนต่อเนื่อง รวมถึงฝึกปฏิบัติการจริงกับบริษัทที่ให้ความร่วมมือจนจบหลักสูตร

“วันนี้รถไฟฟ้าสายสีม่วงต้องการบุคลากรเพื่อบริหารจัดการระบบรางกว่า 600 คน ใน 4 กลุ่มอาชีพ ประกอบด้วย 1.ระบบอาณัติสัญญาณ2.ระบบการเดินรถ 3.การซ่อมบำรุง และ 4.ระบบโครงสร้างพื้นฐานงานโยธา หลักสูตรที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะฝึกสอนเพื่อเป็นผู้ช่วยวิศวกร สามารถทำงานได้ครอบคลุมทั้ง 4 กลุ่มงาน” ดร.พิทยากล่าว

ปัจจุบันมี 2 สถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรระดับปริญญาตรีในการบริหารจัดการระบบรางคือ สจล. และมหาวิทยาลัยเกษตร ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการวิจัย พบว่า การบริหารจัดการระบบรางต้องการบุคลากรระดับเทคนิเชียล 9,123 คน และต้องการวิศวกร4,300กว่าคน.