ในบทเฉพาะกาล-เพื่อการปฏิรูป ทักษิณอัดคสช.อีกดอก‘อ่อนศก.’ จวกรธน.เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมี

“บิ๊กตู่” แจงเองข้อเสนอ ครม. 16 ข้อต่อร่าง รธน. ระบุ 2 ช่วง เขียนในบท เฉพาะกาล ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านมีเงื่อนไขต้องเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นกรอบที่ทุกรัฐบาลต้องมีไว้ในสารบบ เพื่อเป็นไกด์ไลน์ไม่ให้หลงทิศ อึ้งอาจมี คปป.กำกับคัดท้ายห้วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ถ้าดีขึ้นค่อยๆผ่อนผันสู่กลไกปกติ “มาร์ค” เหน็บเจ็บข้อเสนอ ครม.สะท้อนความไม่มั่นใจสิ่งที่ทำมาเองกับมือ “ทักษิณ” กระแทกอีกดอก อัดรัฐบาล คสช.อ่อนเชิงเศรษฐกิจ ขาดวิสัยทัศน์อัตคัดฝีมือ ยิ่งอยู่ยาวยิ่งเจ๊ง ย้ำไม่เคยซุ่มซ่อนต่อรองกับทหาร เชื่อสักวันได้กลับประเทศแน่ แต่ไม่ขอกลับไปสู้คดีที่ถูกยัดเยียด ถล่มอีก รธน.ฉบับ กรธ. เลวร้ายสุดเท่าที่เคยมีมา “บิ๊กตู่” โต้นิ่มๆ ขอพูดด้วยกฎหมาย พร้อมสั่งเครือข่ายทีมงานอย่าต่อปากต่อคำ ผบ.ทบ.ก็ยักไหล่ไร้เสียงตวาด พรรคเพื่อไทยฉุนกุข่าวเหลวไหล นายใหญ่เคลื่อนไหวต่อรองแลกยึดทรัพย์ ปชป.ดิ้นจี้บัวแก้วแอ็กชั่นแฉมุมมืดกลับคืนบ้าง

สืบเนื่องจากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งข้อเสนอปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ 16 ข้อ ไปให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และมีการเผยแพร่สู่สาธารณะจนเป็นที่ฮือฮาในประเด็นการใช้รัฐธรรมนูญ 2 ช่วง ถูกตั้งคำถามว่า เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบนั้น ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นคนออกมาเฉลยด้วยตัวเอง ถึงความจำเป็นในการกำหนดเงื่อนไขบางอย่างในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้การขับเคลื่อนประเทศในอนาคต เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ คสช.

“บิ๊กตู่” ชี้เหตุจำเป็นยัดเงื่อนไขใส่ รธน.

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 2 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีที่ ครม.ส่งข้อเสนอปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยประเด็นที่ต้องการให้แบ่งการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2ขยักว่า ถ้าใช้คำพูดว่าเป็นขยัก อาจจะผิด อาจจะทำให้งง ไม่ใช่มีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ รัฐธรรมนูญก็คือ รัฐธรรมนูญ ทั้งหมด คือรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 200 กว่ามาตรา แต่ความหมายตรงนี้คือบทเฉพาะกาล คือถ้าทุกคนคิดว่าจะต้องมีการปฏิรูปในช่วงระยะเวลาแรกที่เปลี่ยนผ่าน ควรจะต้องมีระยะเวลาหรือไม่ บทนั้นบทนี้ยกเว้นเป็นกาลชั่วคราวได้หรือไม่เพื่อให้เกิดการปฏิรูป ไม่อย่างนั้นก็ทำไม่ได้หมด เพราะในรัฐธรรมนูญก็ต้องพูดถึงกระบวนการทั้งหมดเหมือนที่ผ่านมา แล้วมันก็เกิดปัญหา

...

ปรับบางอย่างเฉพาะช่วงเวลาหนึ่ง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในช่วงแรกจะสร้างความเข้าใจว่าวาระประเทศชาติจะมั่นคงแข็งแรงภายในรัฐบาลหน้า โดยช่วงนี้ต้องปรับวิธีการบริหารราชการ แต่ไม่ได้ปรับทั้งหมด เช่น เรื่อง ส.ว.จำเป็นหรือไม่เพื่อให้เกิดการคานอำนาจในช่วงนี้ เรื่องยุทธ-ศาสตร์ชาติ 20 ปี 6 ยุทธศาสตร์ ด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การบริหารทรัพยากรมนุษย์ มันสั่งไม่ได้ อันนี้ เป็นกรอบงานกว้างๆ ส่วนการจะไปทำอย่างไรเพื่อให้ลงไปสู่วิธีการปฏิบัติ โดยเฉพาะการนำเข้าไปอยู่ในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5ปีก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำตามนั้นกัน ต่อไปเป็นเรื่องแผนการปฏิรูป 5 ปีก็ไม่ได้เขียนว่าจะต้องทำนั่นทำนี่

ทุกรัฐบาลเดินตามยุทธศาสตร์ 20 ปี

นายกฯกล่าวอีกว่า วันนี้เรามองระยะยาวให้ 20 ปี แผนปฏิรูปครั้งละ 5 ปี แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของรัฐบาลหน้าจะทำอย่างไรก็ทำไป แต่ต้องทำตามนี้ด้วยส่วนหนึ่งนอกจากนโยบายพรรค เพราะบางทีไม่มีไกด์ ตรงนี้ก็เดินไปซ้ายขวาแล้วแต่สถานการณ์ทางการเมือง และการต่อสู้ทางการเมืองก็วุ่นไปหมด

แย้มอาจตั้งคณะกรรมการกำกับ

“ถ้าเดิน 2 ทางเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า การเมืองก็เดินคู่ขนานกันไป แต่ถามว่า มันต้องมีมาตรการอะไรหรือไม่ ก็ต้องมีเพื่อที่จะควบคุมให้ตรงนั้นเป็นไปตามนี้ ซึ่งก็มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคณะอะไรขึ้นมาใหม่หรือจะเป็น ส.ว.หรือใครก็แล้วแต่ ซึ่งทั้งหมดนี้คือกลไกที่จะประเมินเท่านั้นเอง ถ้ามันไม่ได้ขึ้นมาทั้ง 2 สภาก็คุยกัน จะเป็นไปได้หรือไม่ เปิดอภิปรายกันได้หรือไม่ว่าทำไมรัฐบาลไม่ทำแล้วจะแก้ไขกันอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จะต้องตกลงกัน ถ้าได้ก็ได้ไม่ได้ก็ต้องมีคนตัดสินจะไปศาลรัฐธรรมนูญได้หรือเปล่า ตนก็ไม่รู้เข้าใจหรือยัง มันไม่ใช่ 2 ขยัก 3 ขยักหรอก ขยักเดียวนั่นแหละเพียงแต่ช่วงนี้จะยกเว้นบางส่วนก่อนได้หรือไม่ เมื่อถึงเวลาสถานการณ์ปกติก็กลับมาทั้งหมดจะกลับเข้าที่เดิมหมด ส.ว.ก็เลือกตั้งใหม่ทั้งหมดก็ได้ เพียงแต่รัฐบาลหน้ามันต้องเกิดความมั่นใจให้เรา ไม่ใช่เพื่อตนแต่เพื่อทุกคนเข้าใจหรือยัง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ประกาศห้วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปี

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังการเลือกตั้งรัฐบาลนี้จะยังอยู่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า หลังเลือกตั้ง ตนจะอยู่ได้อย่างไร ก็ไม่รู้เป็นเรื่องที่จะต้องไปพิจารณามา คิดว่าตนก็ทำไว้ให้เยอะแล้ว ไปคิดกันมาบ้าง ช่วงเปลี่ยนผ่านก็ภายใน 5 ปี ถ้ามันดีขึ้นทุกปีๆก็ผ่อนผันลดลงไปเข้ากลไกปกติ ทำไปตามที่เราวางไว้ไม่เห็นจะยาก ถ้ามันดีและถ้าเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล จะง่ายกว่าตรงที่จะกลับมาเป็นปกติ เมื่อสถานการณ์พร้อม แต่ถ้าใส่ในรัฐธรรมนูญก็ลำบาก นี่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจของตน

ให้อยู่ต่อหรือไปช่วยคิดด้วย

เมื่อถามอีกว่า ขอความชัดเจนว่าในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 4-5 ปีนั้น หมายถึง คสช.จะยังอยู่ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ตนจะอยู่ไปทำไม จะมีวิธีการอื่น แต่หากอยู่ด้วยกลไกปกติก็อยู่ไป ถึงได้บอกว่าจะมีคณะ จะไม่มีหรือจะมีวิธีการไหนก็ไปว่ามา ไม่ใช่ว่าตนจะต้องอยู่หรือไม่อยู่ ไม่ต้องมายุ่งสนใจมากนัก ตนมีหน้าที่ทำให้บ้านเมืองสงบเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ก็คิดกันต่อจะเอาอย่างไร และอย่ามาโทษตน ว่าทำไม่เรียบร้อยไม่สำเร็จ อย่ามาโทษแบบนั้น อยากให้เป็นอย่างไรอยู่ที่ท่านกำหนดของท่านเองทั้งนั้น

“มีชัย” นัดคุย “วิษณุ” ใช้ รธน. 2 ช่วง

เมื่อเวลา 14.30 น. ที่รัฐสภามีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.เป็นประธานการประชุมวาระพิจารณาปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา หมวดแนว นโยบายแห่งรัฐ นายมีชัยให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมว่า ยังไม่ได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายก-รัฐมนตรีเกี่ยวกับความเห็นและข้อเสนอแนะของ ครม. ต่อร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากนายวิษณุอยู่ระหว่างปฏิบัติราชการที่ประเทศกัมพูชา คงต้องรอให้นายวิษณุเดินทางกลับมาก่อนจึงจะนัดหมายวันเวลาในการหารือสอบถามเพิ่มเติมถึงประเด็นในข้อ 16 ที่ ครม.เสนอให้ กรธ.เขียนบัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วงเวลาว่ามีความหมายอย่างไร

กรธ.ปรับสิทธิชุมชนตาม รธน.40-50

ภายหลังการประชุม นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ.แถลงความคืบหน้าในการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญว่า กรธ.ได้พิจารณาในเรื่องสิทธิชุมชน โดยได้ปรับเนื้อหาตามความต้องการของภาคประชาชนสังคม เอ็นจีโอ นักวิชาการและสื่อมวลชน โดยเนื้อหาดีกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 กรธ.พร้อมยืนยันในหลักการใหม่ เรื่องหน้าที่ของรัฐใส่เข้าไปด้วย หมายถึงหากรัฐไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ก็ให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องร้องรัฐได้ โดย กรธ. ปรับเปลี่ยนและเพิ่มเนื้อหาหมวดนี้ให้ชัดเจนขึ้น

“มาร์ค” ชี้ข้อเสนอ ครม.ประจานตัวเอง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อ กรธ. ที่ให้บังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2 ช่วงว่า รู้สึกเป็นห่วงไม่สบายใจข้อเสนอนี้ เพราะ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจของ ครม.ต่อสิ่งที่กำลังดำเนินการ เราคาดหวังให้ คสช. รวมถึงองค์กรต่างๆที่มาจาก คสช. จัดทำระบบสร้างสภาวะแวดล้อมให้การเมืองไทยหลุดพ้นจากสภาพปัญหาเดิม แต่วันนี้กลายเป็นว่า ครม.เองยังไม่มั่นใจว่าที่ทำมาทั้งหมด และกติกาที่กำลังร่างอยู่นี้จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ และเกิดคำถามว่าถ้าแบ่งเป็น 2 ช่วง เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว สาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดความมั่นใจ สิ่งที่ ครม.เสนอคือให้ กรธ.ไปดูว่าช่วงเวลาเฉพาะกิจนั้นจะนานแค่ไหน ที่จะมั่นใจว่าจะไม่กลับไปสู่วังวนเหมือนเหตุการณ์เมื่อ พ.ค.57

วอนอย่าคิดทุกอย่างฝ่ายเดียว

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มีความพยายามตีโจทย์ว่าปัญหาเกิดจากการเลือกตั้ง ฉะนั้นเลือกตั้งไปแล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดปัญหาอีกหรือไม่ ตรงนี้คิดว่าเป็นการวิเคราะห์ปัญหาที่ผิด เมื่อถามว่า กรธ.กำหนดให้มีช่วงเฉพาะกิจ หรือเฉพาะกาลนี้ และกำหนดระยะเวลา 2 ปี ให้มีการตรวจสอบเพื่อประคับประคองบ้านเมืองให้เดินไปได้ นายอภิสิทธิ์ตอบว่า จะประคับประคองหรือจะเกิดความขัดแย้ง ไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายผู้มีอำนาจฝ่ายเดียวที่จะคิด ถ้าทำแล้วมีความขัดแย้ง ถามว่าจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่

สนช.ชงย้ำ ส.ว.สรรหาล้วน

ที่รัฐสภา พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ข้อเสนอจำนวนมากที่ส่งถึง กรธ. คิดว่านายมีชัยจะนำวิธีการทั้งหมดไปสังเคราะห์เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุด ส่วนข้อเสนอให้มี ส.ว.สรรหาทั้งหมดเป็นข้อเสนอจากประสบการณ์ที่ผ่านมา และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญของกรธ.หาวิธีใหม่เพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ว. ยังไม่ทราบว่าดีหรือไม่ ดังนั้นเมื่อของเดิมดีอยู่แล้ว แต่มีข้อเสียอยู่บ้างก็ควรนำรูปแบบเดิมมาปรับปรุงข้อเสียให้ดีขึ้น จะเป็นผลดีกว่าหาวิธีการใหม่ๆที่ยังไม่ทราบผลว่าจะดีหรือไม่ ส่วนข้อเสนอ ครม.ที่ต้องทำการเมืองให้สมดุลช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น ถือเป็นความคิดหนึ่งที่ว่าในที่สุดเรามีการเลือกตั้งจะกลับไปสู่สถานการณ์เดิมเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 หรือไม่ หากเราไม่อยากให้กลับไปสู่ความขัดแย้ง นักการเมืองเลวร้ายและนำมาสู่วัฏจักรการปฏิวัติอีก ต้องจัดการให้เบ็ดเสร็จ ให้ได้นักการเมืองที่ดีๆ มาให้ได้

แก้ รธน.ชั่วคราวใกล้สะเด็ดน้ำ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 เกี่ยวกับประเด็นประชามติ หลังสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ยกร่างว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้รับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวจากที่ประชุม ครม.มาแล้ว โดยได้ปรับแก้การนับคะแนนให้เกิดความชัดเจน ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอ ครม.ที่ให้ยึดเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ รวมถึงนำข้อเสนอจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และบทลงโทษ มาดำเนินการแก้ไขปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงประชุมอีก 1-2 ครั้ง เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อย ก่อนส่งกลับเข้าที่ประชุม ครม. คาดว่าใช้เวลาอีกไม่นาน โดยต้องส่งก่อนที่ กรธ.จะปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอแนะให้แล้วเสร็จวันที่ 29 มี.ค. ผู้สื่อข่าวถามว่า การกำหนดบทลงโทษกับผู้ที่กระทำผิดการออกเสียงประชามติ ใช้ช่องทางไหนในการออก กฎหมาย นายดิสทัตตอบว่า ลองไปดูการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าใช้กฎหมายรูปแบบไหน

“ทักษิณ” ซัดอีกดอก คสช.อ่อนเชิง ศก.

ส่วนกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาเคลื่อนไหวให้สัมภาษณ์โจมตีการทำงานของรัฐบาล คสช. รวมทั้งการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านสำนักข่าวต่างประเทศวอลสตรีทเจอร์นัล และไฟแนนเชียล ไทม์สนั้น วันเดียวกัน ที่ประเทศสิงคโปร์ นายทักษิณให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ถึงการเมืองในประเทศไทยว่า การที่คณะนายทหารหรือ คสช.อยู่ในอำนาจยาวนานเท่าใด มีแต่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยย่ำแย่ลงเท่านั้น รัฐบาล คสช.ขาดวิสัยทัศน์และความรู้ความสามารถในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังสับสนอลหม่าน เป็นรัฐบาลที่ไร้เสรีภาพและขาดกลุ่มบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถที่จะขับดันเศรษฐกิจ นายทักษิณยังปฏิเสธรายงานที่มีมานานแล้วว่า ตนบรรลุข้อตกลงแบบลับๆกับทหาร ไม่ให้แตะต้องผลประโยชน์ส่วนตัวของตนกับครอบครัว เพื่อแลกกับการถอนตัวจากการเมือง โดยระบุว่า ไม่มีการพูดคุยกัน ตนไม่เคยโทรศัพท์หาใคร ตนไม่รู้ว่าทำไมต้องติดต่อกับพวกเขา และไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น

ลั่นไม่กลับไปสู้คดีที่โดนยัดเยียด

นายทักษิณระบุว่า กรณีที่รัฐบาล คสช.ปฏิเสธข้อเสนอเจรจากันอย่างเป็นทางการในเรื่องอนาคตทางการเมือง โดยอ้างว่าไม่เจรจาเพราะตนต้องคดีอยู่ แต่การก่อรัฐประหารเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงยิ่งกว่า ตนใช้เวลาไปพบปะกับเพื่อนเก่าๆ รวมทั้งอดีตประมุขประเทศ เดินทางด้วยเครื่องบินไอพ่นส่วนตัวไปยังที่ต่างๆ เฉลี่ย 120 ครั้งต่อปี ปรับตัวกับชีวิตเร่ร่อนได้ เชื่อว่าจะกลับประเทศไทยในสักวันหนึ่ง แต่จะไม่กลับไปเผชิญกับข้อกล่าวหา หรือใช้ชีวิตอยู่แบบถูกกักบริเวณในบ้านพัก เพราะก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามลอบสังหารตน มั่นใจว่าจะได้กลับประเทศไทย ตนไม่ใช่คนเลว แต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนเลว

อัด รธน.เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมี

ขณะเดียวกัน นายทักษิณยังให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอัลจาซีราและสื่ออีกหลายสำนักในสถานที่แห่งหนึ่งที่ไม่เปิดเผยด้วยว่า เห็นประเทศไทยกำลังถอยหลังมากกว่าเดินหน้า ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเราจึงเริ่มเป็นห่วง และเมื่อถูกถามถึงร่างรัฐธรรมนูญ นายทักษิณระบุว่า นี่เป็นรัฐธรรมนูญที่เลวร้ายที่สุดที่เคยมีมา พร้อมยกเปรียบเทียบกับบางสิ่งบางอย่างที่ถูกเขียนขึ้นในเกาหลีเหนือ “ตนคิดว่าสถานการณ์จะไม่อำนวยให้พวกเขา (รัฐบาล) อยู่ดีมีสุขในอำนาจมากนักอันเป็นเพราะแนวทางที่พวกเขาบริหารประเทศ รัฐบาลใดก็ตามที่ไม่เอาใจใส่ประชาชนจะอยู่ได้ไม่นาน” นายทักษิณกล่าวและว่า ฝ่ายทหารเอาแต่เรียกร้องว่าต้องการความปรองดอง ต้องการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า แต่นี่มันผ่านมาหนึ่งปีกับอีกหกเดือนแล้ว ยังไม่มีสัญญาณปรองดอง ตรงกันข้ามพวกเขากลับอยู่กับฝ่ายหนึ่งแล้วมากดดันอีกฝ่าย