กรุงเทพฯ เมืองหลวงของเรากำลังถือได้ว่าอยู่ในช่วงที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการขนส่งมวลชนจากระบบล้อสู่ระบบราง ในส่วนนี้ทำให้การเดินเท้าได้รับความสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC)ได้เล็งเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาทางเดินเท้า จึงริเริ่มศึกษาโครงการเมืองเดินได้ เมืองเดินดี เมื่อปี 2557 เพื่อนำไปสู่การออกแบบพื้นที่ของเมืองเอื้อต่อการเดินมากขึ้น และเปลี่ยน แปลงทางเดินเท้ามากกว่าการปรับปรุงทางเท้า
ทั้งนี้ จากการศึกษาโครงการในระยะที่ 1พบว่า พื้นที่ของ กทม.เขตเมืองชั้นในกว่า 60% เป็นเมืองเดินได้ เช่น ย่านรัตนโกสินทร์ สยาม ปทุมวัน สีลม สาทร บางรัก อนุสาวรีย์ชัยฯ เยาวราชเพราะพื้นที่เหล่านี้ล้วนมีจุดหมายปลายทางในชีวิตประจำวันกระจายตัวในระยะที่เดินถึง โดยพื้นที่สยามสแควร์เป็นย่านที่ได้คะแนน “เมืองเดินได้” สูงที่สุด

และเมื่อวันที่ 18 ก.พ.59 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC) ได้นำเสนอโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ระยะที่ 2“แค่เดินได้ไม่พอ ต้องขอเดินดี” โดย ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า จากการสำรวจเราพบว่าระยะทางที่ไกลที่สุดที่คนใน กทม.เดินได้คือ 800 เมตร หรือ 10 นาที ขณะที่คนญี่ปุ่นเดินไกลสุด 820 เมตร อเมริกา 805 เมตร ฮ่องกง 600 เมตร และตั้งแต่มีรถไฟฟ้าคนใน กทม.เดินเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว
...
นอกจากนี้เรายังพบว่าอุปสรรคที่ทำให้คนไม่อยากเดินคือ สิ่งกีดขวางทางเดิน ขาดร่มเงา ที่บังฝน ขาดแสงสว่าง ทางเท้าสกปรก ทางเดินไม่มีคุณภาพ “การปรับปรุงพื้นที่เมืองให้เดินได้และเดินดี เป็นเป้าหมายของการพัฒนาเมืองที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะประหยัดพลังงาน รักษาสภาพแวดล้อม แก้ไขปัญหาจราจร”
ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ หนึ่งในผู้ร่วมศึกษาโครงการนี้เผยว่า การศึกษาระยะที่ 2 ได้สำรวจทางเท้าทั้งหมด 965 เส้นทาง มีถนนจำนวน 134 ถนน หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ที่กายภาพมีลักษณะเป็นถนนเดินดีได้ในส่วนนี้มีย่านที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูเป็นเมืองเดินดีมากที่สุด ประกอบด้วย เกาะรัตนโกสินทร์ ถนนเยาวราช ถนนเจริญกรุง ถนนทรงวาด และสยามสแควร์

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ กทม.มีการสัญจรไปมา วันละ 17 ล้านเที่ยวคน โดยร้อยละ 60 เป็นการเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนตัว ร้อยละ 40 เดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน และคาดว่าในปี 2572 กทม.จะมีรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว แต่จากการศึกษาโดย กทม.และหน่วยงานภายนอกพบว่า ในปี 2572 ประชาชนจะเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะเยอะขึ้น แต่สัดส่วนผู้ที่ใช้รถส่วนตัวกับระบบขนส่งสาธารณะไม่ได้เปลี่ยนไป ยังคงอัตรา 60:40
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่า การทำให้ทุกพื้นที่ กทม.เป็นเมืองเดินได้ เมืองเดินดีนั้น เป็นไปได้ยาก เพราะในอดีตการพัฒนาเมืองไม่มีแบบแผน ส่งผลให้กายภาพแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งการพัฒนาตามโครงการนี้ กทม.จะเน้นพัฒนาพื้นที่วงแหวนซึ่งมีศักยภาพมากที่สุดให้เป็นเมืองเดินได้ เมืองเดินดี.