กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ พร้อมกับหักมุมในท้ายสุด กับการออกมาประกาศผ่านสื่อของนักร้องดังว่า จะทำการ FACE OFF กระชากวัยให้หน้าเด็กลง จนล่าสุดผู้เกี่ยวข้องออกมาแจ้งความกรณีนี้ จนเป็นเรื่องเป็นราวกันยกใหญ่ ถ้าตัดเรื่องคดีความ คำถามก็คือ คำๆ นี้มันมีจริงหรือ แล้วศัลยกรรมมีแต่ความสวยงามหรือไม่ มีข้อพึงระวังอย่างไร ไทยรัฐออนไลน์ รวมมาให้ความรู้กัน
1. FACE OFF ศัพท์ใหม่แห่งวงการแพทย์ที่กำลังสร้างความสับสนในหมู่คนไทยจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่หมอด้วยกันเอง เนื่องจากคำว่า FACE OFF ไม่ใช่ศัพท์ทางการแพทย์ แต่เป็นคำที่หยิบยืมมาจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง FACE OFF ซึ่งนำแสดงโดย จอห์น ทราโวตา และ นิโคลัจ เคจ โดยภาพยนตร์นี้เป็นเรื่องราวของพระเอกที่ลงทุนผ่าตัดสลับหน้ากับคนร้ายที่เป็นเจ้าชายนิทราเพื่อสืบคดี
2. ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา บอกว่า "FACE OFF" แปลตรงๆ จากอังกฤษเป็นไทยว่า “เผชิญหน้า" แต่ FACE OFF ที่ปรากฏในข่าวช่วงนี้ หมอว่าคนเอามาจากภาพยนตร์เรื่อง FACE OFF ที่มีตัวเอกเข้ารับการผ่าตัดใบหน้าเพื่อปลอมตัวเป็นคนอื่น การทำ FACE OFF ในภาพยนตร์ แพทย์ในเรื่องได้ผ่าตัดเอาใบหน้าของคนที่ใกล้เสียชีวิตมาสลับกับใบหน้าของพระเอก การผ่าตัดในลักษณะนี้มีอยู่จริงในวงการการแพทย์ แต่ไม่ใช่วิธีที่แพทย์จะรับทำง่ายๆ เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการสมรู้ร่วมคิดในคดีอาชญากรรม โดยการผ่าตัดแบบภาพยนตร์ FACE OFF ศัพท์ทางการแพทย์เราเรียกว่า FACE TRANSPLANTATION หมายถึง เปลี่ยนทั้งหน้าตาและเนื้อเยื่อ การทำ FACE TRANSPLANTATION เป็นเรื่องที่ทำได้ยากและซับซ้อนมาก เพราะต้องต่อเส้นประสาทและเส้นเลือด
3. แต่การเปลี่ยนรูปหน้าในปัจจุบัน (เช่น ในรายการ Let Me In ของเกาหลี ที่เปลี่ยนคนให้ดูดีขึ้นจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม) ทางการแพทย์เรียกว่า FACE RECONSTRUCTION (ปรับโครงสร้างหน้า) แม้ว่าวิธีนี้จะทำให้ใบหน้าคนไข้เปลี่ยนไปเป็นคนใหม่ แต่เนื้อเยื่อของคนไข้ยังเป็นของตัวเองเหมือนเดิมทุกประการ
...
ส่วนกรณี นักร้องดังที่เป็นข่าวนั้น นายกแพทยสภาบอกว่า เป็นการดึงหน้าให้ตึงขึ้นเราเรียกว่า FACE LIFT (ยกหน้า) แน่นอน
4. VECTOR LIFT คืออะไร VECTOR LIFT เป็นอีกหนึ่งวิธีเปลี่ยนแปลงใบหน้าใหม่ให้กับคนอยากหล่ออยากสวยในเวลาอันรวดเร็ว และไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน ด้วยการฉีดสารเติมเต็ม เช่น โบทอกซ์ และฟิลเลอร์ เพื่อปรับทิศทางและองศาของโครงสร้างผิวและกล้ามเนื้อมัดต่างๆ รวมถึงแนวกระดูกบนใบหน้า จนได้เป็นมุมและองศาที่ลงตัวสวยงามเฉพาะแต่ละบุคคล ซึ่งจะมีข้อดีตรงที่ไม่ต้องพักฟื้นนาน ซึ่งวิธีนี้ไม่ได้เหมาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังเหมาะกับคนทุกประเภทที่ต้องการเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ให้เด็กลง ให้คนที่อยากมีใบหน้าวีเชป หรือแม้แต่คนที่มีความบกพร่องบนใบหน้าก็สามารถทำได้ด้วยเช่นกัน
5. และเพื่อให้ไม่อันตรายและไม่โดนหลอกลวง นายกแพทยสภาบอกว่า การทำศัลยกรรมทุกประเภทจำเป็นต้องอยู่ในมือแพทย์ที่จบเฉพาะทาง มีประสบการณ์และใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน เพราะปัจจุบันมีคนไข้จำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อของคลินิกต่างๆ ที่อวดอ้างสรรพคุณจนเกินควร และนำอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานมาใช้
6. สำหรับข้อพึงระวังที่ผู้เชียวชาญแนะนำ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ผ่านการรับรองจาก อย. หาซื้อง่าย และมีขายในตลาดความงามจำนวนมาก โดยเฉพาะกลูต้าเถื่อน โบทอกซ์เถื่อนและฟิลเลอร์เถื่อน ชนิดที่คนไข้ดูเองก็ดูไม่ออก ส่งผลให้คลินิกที่ไม่ได้มาตรฐาน มักจะนำของเถื่อนเหล่านี้มาใช้เพื่อลดราคาการให้บริการ และเรียกลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการเยอะๆ ซึ่งสารเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือบางประเภทฉีดไปแล้วอาจไม่ได้ผลเลย
7. ปัญหาเรื่องหมอ ปัจจุบันมีแพทย์ที่ไม่ได้จบศัลยกรรมตกแต่งมาเปิดคลินิกเสริมความงามจำนวนมาก ส่งผลให้คนไข้ที่โชคร้ายต้องเจอกับเหตุไม่พึงประสงค์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อและเสียโฉม เพราะหมอกลุ่มนี้ขาดประสบการณ์ในการผ่าตัด และไม่ได้รับการอบรมเหมือนหมอเฉพาะทางที่ร่ำเรียนมาอย่างน้อย 5 ปี เช่นเดียวกับการฉีดสารเติมเต็มต่างๆ ก็ต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น คนที่ไม่ใช่หมอแล้วมาทำการฉีดถือว่าผิดกฎหมาย เพราะการฉีดสารต่างๆ เข้าร่างกายคนไข้ต้องใช้ความรู้ และความชำนาญทางการแพทย์ หากฉีดผิดจุด อาจทำให้คนไข้เป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้
8. โดยใครที่กำลังมองหาศัลยแพทย์ตกแต่งที่จบเฉพาะทาง และผ่านการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง สามารถตรวจสอบรายชื่อหมอได้ที่สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย http://www.plasticsurgery.or.th/lst_name.php
9.เช่นเดียวกับการตรวจสอบชื่อแพทย์ผิวหนังที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ตรวจเช็กได้ที่ http://www.dst.or.th/html/index.php?op=article-search_md
...
10. อย่างไรก็ดี ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คนอยากสวยหลายคน ต้องเผชิญกับผลลัพธ์ที่เลวร้ายคือ ความไม่พร้อมของคนอยากศัลย์ ไม่พร้อมในที่นี้คือ หาข้อมูลน้อยเกินไป, ขาดความสามารถในการดูแลตัวเอง หรือแม้แต่งบจำกัด ซึ่งทั้งหมดคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากยอมพลีชีพกับคลินิกเสริมความงามที่ลดราคาล่อตาล่อใจ ทั้งๆ ที่มีคลินิกและโรงพยาบาลที่ปลอดภัยเยอะมากในประเทศไทย คนที่ทำแล้วสวยปลอดภัยในระยะยาวคือโชคดีไป แต่คนจำนวนไม่น้อยที่โชคร้ายเสียทั้งเงิน เสียทั้งโฉม แล้วไม่มีคนรับผิดชอบอีกต่างหาก
ฉะนั้น การทำศัลยกรรมต้องดูความพร้อมของตัวเองเป็นหลัก ต้องมีเวลาในการพักฟื้น และต้องยอมลงทุนให้กับความสวยงาม ที่สำคัญต้องหาข้อมูลให้แน่นที่สุด คุยกับแพทย์ให้แน่ใจ แล้วลุย เพราะ ความสวยไม่จำเป็นต้องรีบ ถ้ารีบอาจจะได้ในสิ่งที่เป็นตราบาปติดหน้าคุณไปตลอดชีวิตก็เป็นได้.
ข้อมูล: ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา และ แพทย์หญิง นันทภัทร์ สุภาพรรณชาติ อาจารย์แพทย์ด้านผิวหนัง จากโรงพยาบาลรามาธิบดี