โบราณว่าไว้...“โจรขึ้นบ้านสิบ ครั้ง ไม่เท่ากับไฟไหม้บ้านครั้งเดียว” เพราะทุกอย่างวอดวายไปกับกองเพลิงทั้งหมด
สาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้กว่าร้อยละ 80 เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร และต้นเหตุของไฟฟ้าลัดวงจรส่วนหนึ่งมาจากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า สายไฟเสื่อมสภาพ เนื่องจากมีอายุการใช้งานยาวนาน
แต่ต้นเหตุสำคัญที่หลายคนมักมองข้าม นั่นคือ...การเดินสายไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้เป็นไปตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง
บ้านพักอาศัยที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด คอนโด อพาร์ตเมนต์ รวมไปถึงคฤหาสน์ร้อยล้าน...พันล้าน ล้วนต้องมีการเดินสายไฟ ทว่า...ช่างไฟฟ้าที่มารับจ้างเดินสายไฟจะเป็น “กูรู” หรือเป็นเพียงช่างประเภทครูพักลักจำ ไม่มีใครบอกได้
พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 เป็นอีกหนึ่งความพยายามของภาครัฐที่จะปิดช่องโหว่ กำจัดจุดอ่อนปัญหาช่างไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐาน กำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. 2559 เป็นต้นไป “ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร”...ต้องมีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ หรือ ไลเซนส์ (License)
หากฝ่าฝืนทำงานโดยไม่มีหนังสือรับรอง มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ส่วนนายจ้างที่ฝ่าฝืนว่าจ้างช่างไฟฟ้าภายในอาคารที่ไม่มีหนังสือรับรองเข้าทำงาน จะมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาทด้วยเช่นกัน
“รัฐจำเป็นต้องลดความสูญเสียด้วยการเข้าควบคุมสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพหรือแรงงานสาขานั้นๆ ต้องเป็นผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 และมีใบรับรองความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพเสียก่อน...”
กรีฑา สพโชค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) บอกอีกว่า สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคารเป็นอาชีพแรกนำร่อง จากนั้นกรมฯจะพิจารณาสาขาอื่นเพิ่มเติม อาทิ สาขาช่างไฟฟ้าภายนอกอาคาร สาขา ช่างโลจิสติกส์ สาขาช่างเชื่อม ฯลฯ จนครบทุกองค์ประกอบวิชาชีพช่างที่มีอยู่ในประเทศไทย
...
กรณี “ช่างไฟฟ้า” ภายในอาคารที่ประสงค์จะขอรับหนังสือรับรองความรู้ ความสามารถ จะต้องเข้ารับการทดสอบ เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการประเมินเพื่อรับสมุดไลเซนส์ประจำตัว
รายละเอียดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ารับการทดสอบ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์นับถึงวันสมัครเข้ารับการทดสอบ มีประสบการณ์การทำงานหรือประกอบอาชีพเกี่ยวกับสาขาที่จะทดสอบ หรือผ่านการฝึกฝีมือแรงงานหรือฝึกอาชีพ และมีประสบการณ์จากการฝึกหรือปฏิบัติงานในกิจการในสาขาที่เกี่ยวข้อง
หรือเป็นผู้ที่จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพในสาขาที่เกี่ยวข้อง
เมื่อผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 เรียบร้อยแล้ว จึงจะติดต่อขอหนังสือรับรองความรู้ ความสามารถ ซึ่งมีอายุ 3 ปีโดยจะต้องผ่านการประเมิน 3 ส่วน คือ 1.ความรู้ ความสามารถต้องผ่านมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 2.ประสบการณ์การทำงาน ดูจากประวัติการทำงาน และ 3.คุณลักษณะเฉพาะ ทัศนคติในการทำงาน
กรีฑา ย้ำว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ กพร. ทั้งในส่วนกลาง...ภูมิภาคทั่วประเทศ มีความพร้อมในการรับเรื่องขอมีใบรับรองความรู้ ความสามารถ...ไลเซนส์อาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคารแล้ว
แต่...สาระสำคัญขึ้นอยู่กับศักยภาพของแรงงานเองว่ามีความพร้อมหรือไม่?
ปัจจุบันคาดว่ามีช่างไฟฟ้าภายในอาคารกว่า 50,000 คนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ยังไม่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 จำเป็นต่อการต่อยอดมาถึงการขอรับสมุดไลเซนส์ประจำตัว
ชัยวัฒน์ ลิ้มพิทยา หรือ “ช่างจิ๋ว” ช่างไฟฟ้าปริญญา และเจ้าของบริษัทรับเหมาระบบไฟฟ้า เสริมว่า การส่งเสริมให้มีการทดสอบช่างไฟฟ้าเป็นนโยบายที่ดี ทุกวันนี้ช่างไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่รับจ้างทำงานตามหมู่บ้านคอนโดมิเนียมเป็นช่างไฟจากประเทศเพื่อนบ้านแทบทั้งสิ้น จำนวนไม่น้อยมีความรู้ด้านไฟฟ้าแบบผิวเผิน
แค่เดินสายไฟเป็น...ก็อ้างว่าเป็นช่างได้แล้ว
“จะมีเจ้าของบ้านสักกี่คนที่ว่าจ้างช่างไฟแล้วปีนขึ้นมาเปิดฝ้า...เปิดช่องเซอร์วิสตรวจดูว่า ช่างไฟฟ้าเดินสายไฟถูกต้องหรือไม่ พันกันยุ่งเหยิงอีนุงตุงนัง ไม่รู้เส้นไหนเป็นเส้นไหน หรือแอบมีการต่อสายไฟกลางทางหรือไม่ หรือต่อสายดินจริงๆหรือเปล่า การสอบใบอนุญาตจึงเป็นการรับประกันในระดับหนึ่งว่าช่างไฟที่สอบผ่านมีความรู้จริงๆ และทำให้ผู้จ้างอุ่นใจว่าจะมีความปลอดภัย เวลานอนหลับก็สามารถหลับได้สนิท”
ยิ่งวันนี้เราเปิดเออีซีแล้ว สายไฟก็ได้เปลี่ยนระบบใหม่ทั้งซิงเกิลเฟสและทรีเฟสให้เข้ากันได้ในอาเซียน สิ่งเหล่านี้ช่างไฟฟ้าทุกคนต้องเรียนรู้และตามให้ทัน ช่างไฟที่จบ ปวช. ปวส. ถ้าจะมาทำงานสายนี้ ก็ต้องมีใบรับรองเป็นใบเบิกทาง เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าสามารถทำงานด้านนี้ได้จริงๆ ปัจจุบันช่างไฟหายาก ยิ่งมีใบรับรองยิ่งมีความน่าเชื่อถือ แม้ว่าจะเสียเงินทดสอบบ้างก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่มากมาย
ธนากร หลวงวิเศษ ช่างไฟฟ้าย่านตลาดบางบัวทอง หรือ “ช่างกร” บอกว่า ประกอบอาชีพอิสระ รับงานเดินสายไฟฟ้าและซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยอาศัยความรู้ ปวช. ที่ได้ร่ำเรียนมาและประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้กว่า 20 ปี ยอมรับว่ากฎหมายที่บังคับให้ช่างไฟฟ้าไปเข้ารับการอบรมและทดสอบฝีมือเป็นเรื่องดี
ทุกวันนี้...ช่างไฟฟ้าจริงๆหายาก มีแต่ช่างก่อสร้างที่ผันตัวเองมาเป็นช่างไฟ
“ระหว่างช่างไฟที่เรียนจบมา รู้เรื่องวงจร รู้เรื่องกำลังไฟ กับช่างก่อสร้างที่อาศัยทำบ่อยๆ หรือพูดเก่ง เจ้าของบ้านอยากได้แบบไหน” ช่างกร ว่า “บางครั้งเด็กจบ ปวช. ปวส. สาขาไฟฟ้า ก็ไม่ได้ลงมือทำงาน แต่ใช้ลูกน้องทำแทน แล้วจะบอกได้อย่างไรว่าคนที่จบมาทำงานได้ ดังนั้นการสอบจึงเป็นคำตอบที่ดี”
...
ปัญหามีเพียงว่า...การจะให้ช่างไฟฟ้าที่ทำงานอิสระไปเข้าทดสอบอาจไม่ได้รับความร่วมมือ เพราะแต่ละคนมีงานทุกวัน ไม่ไปทำงานก็ขาดรายได้จุนเจือครอบครัว ถ้าเป็นไปได้อยากให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดทดสอบนอกสถานที่ เหมือนบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้านัดอบรมให้ช่างตามวัน เวลา สถานที่ที่สะดวก
กรีฑา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ฝากประชาสัมพันธ์ว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายนนี้ ให้เตรียมความพร้อมเรื่องขอเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 ให้เรียบร้อย โดยติดต่อได้ที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาคทั่วประเทศ หรือศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ที่ได้รับการอนุมัติจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแล้ว ซึ่งตามปกติค่าธรรมเนียมการทดสอบจะเรียกเก็บที่อัตรา 100 บาท แต่กรมฯขอมอบของขวัญปีใหม่ทำการเรียกเก็บเพียง 10 บาทจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้
ผ่านการทดสอบแล้วก็จะขอไลเซนส์ได้ในช่วงเดือนสิงหาคม... กันยายน เนื่องจากกฎหมายบังคับใช้ในวันที่ 26 ตุลาคม 2559 จะได้ไม่เสียสิทธิ์ในเรื่องระยะเวลา ซึ่งใบรับรองจะมีอายุ 3 ปี หากมีข้อสงสัยติดต่อขอสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 0-2245-1707 ต่อ 601 หรือ 602 ได้ในวันและเวลาราชการ...
“ช่างไทย” ต้องยกระดับให้ได้มาตรฐานสากล ติดอาวุธครบเครื่อง ทั้งภาคทฤษฎี การปฏิบัติ จรรยาบรรณเต็มเปี่ยม ลดการสูญเสียทั้งชีวิต...ทรัพย์สิน พร้อมรับมือกับการแข่งขันในยุคเออีซี.