ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ - รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์
ผลการประชุมตัวแทนบุคลากรสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศทั้ง 4 ฝ่าย ยัน ไม่รับ (ร่าง) พ.ร.บ.การบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา ฉบับ สกอ. เพราะเอื้ออำนาจฝ่ายบริหารและสภามหาวิทยาลัยมากเกินไป...
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 59 ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) แถลงผลการประชุมร่วม 4 ฝ่าย ร่วมกับ ผศ.ดร.ทองเจือ เขียดทอง ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ผศ.สันติพงศ์ ตั้งธรรมกุล ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยยีราชมงคล (ปคมทร.) และ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา (CHES) ว่าผลการรับฟังความคิดเห็นของบุคลากรของแต่ละสถาบันที่มีต่อ (ร่าง) พ.ร.บ.การบริหารงานบุคคลในสถาบัยอุดมศึกษา ปรากฏว่า ทั้งข้าราชการและพนักงานไม่เห็นด้วย กับ (ร่าง) พ.ร.บ.การบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา ฉบับ สกอ. เนื่องจากร่างดังกล่าวให้อำนาจฝ่ายบริหารและสภามหาวิทยาลัยมากเกินไป โดยไม่ได้สร้างกลไกในการตรวจสอบ ถ่วงดุล ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาธรรมาภิบาลตามมาอีกมากมาย ทั้งนี้ การบริหารงานบุคคลแทบทุกเรื่องมอบให้แต่ละมหาวิทยาลัยไปออกข้อบังคับเอง ทำให้เกิดความเลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการให้นายกสภาเป็นผู้บังคับบัญชาอธิการบดี หากถูกกล่าวหาว่า ทำผิดวินัย หากมีกรณีอธิการทำผิดแต่นายกสภาไม่ตั้งกรรมการสอบ ก็ไม่สามารถร้องเรียน หรือดำเนินการใดๆ ได้
ด้าน ผศ.ดร.ทองเจือ กล่าวว่า ไม่ควรยกเลิก พ.ร.บ. ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 แต่ควรแก้ไขเพิ่มเติม เป็นฉบับที่ 3 แทน เพราะสามารถแก้ปัญหาของข้าราชการที่ต้องการให้มีบัญชีเงินเดือนเป็นการเฉพาะและสามารถปรับขึ้นเงินเดือนได้เหมือนข้าราชการครู ในส่วนของพนักงานสามารถนำเอาประเด็นที่พนักงานต้องการ เช่น เรื่องเงินเดือน สวัสดิการ การรักษาพยาบาล บำเหน็จบำนาญ มาแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในการแก้ไขนี้ด้วย ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีการแก้ไขไม่กี่มาตรา
...
ขณะที่ รศ.ดร.วีรชัย กล่าวว่า มาตรา 78 มีผู้คัดค้านจำนวนมากตั้งแต่การทำประชาพิจารณ์ครั้งแรก เนื่องจากเป็นการบังคับให้ทั้งข้าราชการและพนักงานสายวิชาการ เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ถ้าทำไม่ได้ตามเวลาที่กำหนด มีโทษถึงขั้นให้ออกจากราชการ ซึ่งถือว่าไม่สมเหตุสมผลและเป็นการเลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่มบุคคลากรอุดมศึกษาเท่านั้น ในขณะที่เมื่อมีการพิจารณาปรับเพิ่มเงินเดือน 4% กลับยกเว้นคนกลุ่มนี้ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม ซึ่งเมื่อศาลปกครองตัดสินแล้วว่าต้องจ่ายตามนั้นก็ควรเร่งแก้กฎหมายหรือกำหนดเป็นมาตราการให้ทุกมหาวิทยาลัยดำเนินการตามนั้นโดยเร็ว.