ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สมควรจะถูกคว่ำ”

ถ้อยคำสำนวนที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ย้ำหัวหมุดผ่าน ทีมข่าวการเมือง หลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ยกร่างเสร็จมีทั้งหมด 270 มาตรา เปิดโฉมหน้าต่อสาธารณะ

สาเหตุที่จะต้องคว่ำในชั้นการทำประชามติ ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงเดือน ก.ค.59 เพราะขณะนี้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญมุ่งหวังให้ชนชั้นนำเป็นผู้กำหนดทิศทางทั้งหมดของประเทศไทย โดยวางกลไกควบคุมการบริหารราชการในอนาคตให้ดำรงอยู่ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำหน้าที่เหมือนข้าราชการประจำ ทำตามกรอบที่กำหนดไว้อย่างเดียว

แต่โครงการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนจะทำไม่ได้

โดยเฉพาะผลการประชุมผู้นำทางเศรษฐกิจโลกระบุว่า โลกยุคนี้เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง จะเกิดภัยคุกคามประเทศรูปแบบใหม่ๆ

ทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ ทุกประเทศจะต้องออกแบบวางระบบให้แก้ปัญหาทันต่อสถานการณ์

แต่ กรธ.กำลังวางระบบประเทศให้ย่ำอยู่กับที่ ถึงเวลานั้นจะทำให้แต่ละปัญหาคลี่คลาย ได้ยากมาก

เห็นได้จากการออกแบบระบบรัฐสภา เริ่มตั้งแต่ที่มาของ ส.ว. ปกติเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกมา ในยุคที่แย่หน่อยก็ให้ประชาชนเลือกเข้ามาครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ว.ทั้งหมด ยังพอมีอะไรยึดโยงกับประชาชน

มาถึงวันนี้ กรธ.พูดเหมือนดูดี ตัดทิ้งอำนาจการถอดถอนของวุฒิสภา แต่ยังมีอำนาจตัดสิน คัดเลือกบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มอำนาจสร้างระบบตัวแทนสืบทอดอำนาจต่อไป

รวมถึงการออกแบบระบบการเลือกตั้งนำไปสู่การมีรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ ตัดสิทธิของประชาชนในการแยกเลือกผู้สมัคร ส.ส.โดยการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว สะท้อนให้เห็นว่า กรธ.กำลังลดทอนความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ทำให้สถาบันการเมืองอ่อนแอ

...

นำไปสู่การต่อรองทางการเมืองและจะนำไปสู่การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ใช่ ส.ส.เป็นนายกรัฐมนตรีได้

แม้พยายามใช้คำพูดสวยหรูกำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีก่อน แต่ภายใต้สภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ผู้มีอำนาจสามารถกำหนดตัวบุคคล เสนอชื่อผ่านพรรคการเมืองเล็กๆน้อยๆได้และกับพรรคการเมืองบางพรรคที่จะใส่ชื่อนายกฯคนนอกกลับเข้ามาก็ได้

พูดให้ชัดเจนคือผู้มีอำนาจจะกำหนดให้คนนอกเข้ามาโดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการที่ประชาชนตัดสิน ไม่ยึดโยงกับประชาชน

แถมยังเปิดช่องให้ ส.ส.ไม่ต้องอยู่ในกรอบของพรรคการเมือง ซึ่งคอยควบคุมวินัยและความประพฤติของนักการเมืองเหมือนประเทศอารยะทั่วไป สภาพพรรคการเมืองย่อมไร้ความหมาย ทำให้รัฐสภาที่มีจุดยึดโยงกับประชาชน ทำหน้าที่ตรวจสอบ กลั่นกรองคนต่างๆก็ไร้น้ำหนักและไม่มีการควบคุมดูแล

ความจริงพรรคการเมืองและนักการเมืองต้องพัฒนาให้เป็นหน่อเนื้อเดียวกัน ระบบการกลั่นกรองคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคการเมืองจะสูงตามมา ได้นักการเมืองที่ดี

มีอีกปมที่สำคัญมาก คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) สมัยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถือว่าองค์กร คปป.มีอำนาจเหนืออธิปไตย แต่เมื่อหลายฝ่ายออกมาคัดค้านถึงขั้นต้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไป

พอถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย องค์กรนี้ก็ยังอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่อำนาจขององค์กรนี้บางส่วนไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

หากประเทศไทยมีวิกฤติประชาธิปไตยหรือวิกฤติของประเทศก็จะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด และศาลรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจถึงขั้นตีความรัฐธรรมนูญ

และยังมีอำนาจไปถึงขั้นเกือบอาจจะกำหนดบทบัญญัติใหม่ตามการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ การปล่อยให้มีอำนาจมากขนาดนี้จะกลายเป็นปัญหาตามมาได้

เพราะเคยสร้างวิกฤติให้ประเทศหลายครั้ง จนพรรคเพื่อไทยถูกเครื่องจักรสังหารทางการเมืองเล่นงาน ไม่ยอมปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย

ที่สำคัญโดยกระบวนการที่ถูกกำหนดขึ้นมาทำให้รัฐธรรมนูญไม่อาจแก้ไขได้เลย เพราะต้องใช้เสียงวุฒิสภาอย่างน้อย 1 ใน 3 และเสียงจากทุกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าร้อยละ 10

แต่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ก็ต่อเมื่อ ถ้าเป็นกลุ่มที่ไม่มีอำนาจจะต้องแก้ด้วยวิธีนอกระบบคือการปฏิวัติ ถ้าเป็นกลุ่มที่มีอำนาจจะแก้ไขได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ

ในบทเฉพาะกาลก็ชัดเจนว่ามุ่งมั่นที่จะสืบทอดอำนาจของกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจร่วมกันในการกำหนดกติกาประเทศ

ฉะนั้นถ้าปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ โดยไม่มีการแก้ไขกติกาให้เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะบริหารประเทศเพื่อแก้วิกฤติของบ้านเมืองได้ยากมาก โดยเฉพาะการ
กำหนดให้องค์กรอิสระมีอำนาจเหนือรัฐบาลและรัฐสภา ทำให้ขาดความเป็นอิสระในการบริหารราชการแผ่นดิน

ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ยิ่งทำให้ประเทศเดินหน้าไปไม่ได้ และยิ่งจะขยายโรดแม็ปออกไปอีกย่อมไม่เป็นผลดีต่อประเทศ มิหนำซ้ำกลับสร้างปัญหาซ้ำเติมประเทศ

ฉะนั้นถึงเวลาที่ คสช.ต้องเปิดกว้างให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ และพรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้เห็นภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญ

ทำอย่างไรพรรคเพื่อไทยถึงจะรับร่างรัฐธรรมนูญ นายภูมิธรรม บอกว่า เท่าที่ดูยังไม่มีเงื่อนไขที่จะทำให้รู้สึกว่ารับไปแล้วประเทศจะมีทางออก เห็นแต่หนทางหายนะ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้จะก่อตัวเป็นวิกฤติซ้ำและซ้อนขึ้นมา ในที่สุดสร้างความขัดแย้งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ฉะนั้นในช่วงเวลาที่ยังมีอยู่ ขอให้นายมีชัยและ กรธ.อย่าไปสร้างสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ มันจะมีผลต่อประเทศอย่างมหาศาล

ขอให้ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงร่างรัฐธรรมนูญออกมาให้ดี มีหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย กำหนดให้ประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริงเป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศ

ถ้า กรธ.เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยก็ต้องทำทุกอย่างให้ประชาชนเข้ามาบริหารจัดการ

เมื่อทำเช่นนี้แล้วอย่าไปกลัววิกฤติประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติการเมือง เกิดปัญหาองค์กรตามรัฐธรรมนูญขัดแย้งกันจนประเทศเดินไปไม่ได้

สุดท้ายรัฐบาลจะตัดสินใจยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสิน ซึ่งจะทำให้กลไกประชาธิปไตย มีการพัฒนาและปรับตัวให้ประเทศเดินหน้าไปได้

แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับคิดแทนประชาชนทั้งหมด ไม่เปิดช่องให้ประชาชนได้เรียนรู้เอง โดยไปคิดว่าควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

และนายมีชัยกำลังใช้ศักยภาพและความสามารถเชิงเทคนิค เพื่อหว่านล้อมและวาดรูปกำหนดรัฐธรรมนูญไปเอื้อกลุ่มอำนาจในปัจจุบัน แบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาของประชาชนได้หรือไม่

สิ่งที่ชอบพูดว่ารัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์ต่อประชาชนล้วนเป็นนามธรรม

ทีมข่าวการเมือง ถามว่า ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยมากพอที่จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างไร นายภูมิธรรม บอกกว่า เชื่อว่านับจากนี้เป็นต้นไป เมื่อประชาชนและฝ่ายต่างๆที่ตกอยู่ในสภาวะประสบปัญหา ซึ่งเกิดจากศักยภาพการบริหารของรัฐบาลก็จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์

และเริ่มมองเห็นว่าหากปล่อยให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้

สุดท้ายเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะไม่ยอมให้ผ่านแน่นอน

เพราะเป็นจุดเริ่มต้นการก้าวไปสู่หายนะของชีวิตแต่ละคน

สุดท้ายบ้านเมืองจะพัง.

ทีมการเมือง