กทม.พร้อมเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า ขึ้นกระเช้าตรวจสอบเสาติดตั้งกล้องวงจรปิดมรณะปากซอยพหล 47 พบกระแสไฟฟ้ารั่วจริง แต่ยังหาจุดไม่เจอ ต้องตัดกระแสไฟที่ต่อเข้ากล้องก่อน พร้อมเร่งตรวจสอบเสาติดตั้งกล้องรอบที่เกิดเหตุ หวั่นสยองซ้ำ ด้านผู้ว่าฯ กทม.ออกโรง สั่งตรวจสอบเสาติดตั้งกล้องทั่วทุกพื้นที่ กทม. ที่มีมากกว่า 10,000 เสา ยันช่วยเหลือเหยื่อในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด เผยด้วยบริษัทรับจ้างติดกล้องพร้อมรับผิดชอบทั้งหมด เพราะยังอยู่ในสัญญาค้ำประกัน ขณะที่สภาทนายชี้ญาติฟ้อง กทม.ได้

หลังเกิดเหตุสยองคนกรุง เมื่อมีผู้พบศพชายนิรนามอายุ 35-40 ปี ถูกไฟฟ้าดูดจนมือทั้ง 2 ข้างไหม้เกรียมตายคาโคนเสาติดตั้งกล้องซีซีทีวี (CCTV) รหัส 1231 CM 1-BE-139-C01 ของ กทม. ปากซอยพหลโยธิน 47 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. โดยชาวบ้านในชุมชนประดิษฐ์โทรการ ตั้งอยู่ในซอยที่เกิดเหตุต่างยืนยันว่า เสาต้นดังกล่าวมีกระแสไฟฟ้ารั่ว เคยร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบแล้วหลายครั้ง ขณะที่ ผบก.นิติเวชฯ รพ.ตร. ผ่าชันสูตรยืนยันผู้ตายถูกไฟฟ้าดูดจริง โดยนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ช่องให้ญาติผู้ตายฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ แต่ถึงขณะนี้ยังไม่รู้ว่าผู้ตายเป็นใคร

โดยความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 11 ม.ค. ร.ต.ท.ณัฐพล รัตนสุภาพงศ์ พนักงานสอบสวน สน.บางเขน เจ้าของคดี เดินทางไปตรวจสอบที่เสาติดตั้งกล้องบริเวณปากซอยพหลโยธิน 47 จุดที่เกิดเหตุอีกครั้ง ก่อนเปิดเผยว่า สถาบันนิติเวชได้ส่งผลพิสูจน์สาเหตุการตายเบื้องต้นว่า เกิดจากหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจากกระแสไฟฟ้าดูด อยู่ระหว่างรอผลอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง สำหรับผู้เสียชีวิตเป็นชายอายุประมาณ 35-40 ปี ไม่ใส่รองเท้า สวมกางเกงฟุตบอลขาสั้นสีส้ม สวมเสื้อยืดสีเขียว ข้างตัวมีถุงพลาสติกใส่เสื้อผ้า ตรวจดูในถุงมีเสื้อกางเกง 3 ชุด ขอประชาสัมพันธ์ ใครเป็นญาติให้มาติดต่อที่ สน.บางเขน เพื่อจะได้นำหลักฐานดำเนินการรับศพ นอกจากนี้ยังได้ประสานฝ่ายสืบสวนลงพื้นที่เพื่อเร่งตรวจสอบว่าใครเป็นญาติด้วย

...

ขณะเดียวกัน ทางด้านการไฟฟ้านครหลวงเขตบางเขน ได้นำรถกระเช้าขึ้นไปตรวจสอบบริเวณจุดต่อสายไฟจากเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯมายังเสาติดตั้งกล้องซีซีทีวีต้นดังกล่าว พบว่าผู้รับเหมาติดตั้งกล้องวงจรปิดได้นำสายไฟไปเกี่ยวกับสายไฟฟ้าส่องสว่างถนน และสายกราวน์เส้นที่ 2 แล้วใช้ผ้าเทปพันไว้ เป็นการทำที่ผิดขั้นตอน

ทั้งนี้ นายประสาน หงษ์ประไพร พนักงานการไฟฟ้านครหลวง บางเขน กล่าวว่า ไฟฟ้าที่รั่วนั้นเกิดจากบริษัทที่ทำหน้าที่ติดตั้งกล้องซีซีทีวีให้กับกรุงเทพมหานคร โดยปกติแล้วไฟฟ้าที่อยู่บนสายไฟฟ้าเมนหลัก จะมีกระแสไฟอยู่ที่ 24,000 โวลต์ แต่เมื่อแปลงกระแสไฟฟ้าเข้ามาใช้งานกับ CCTV จะใช้เพียง 220 โวลต์ หรือเท่ากับกระแสไฟภายในบ้าน และตามปกติการต่อสายไฟ บริษัทผู้รับเหมาจะต้องแจ้งไปยังการไฟฟ้าฯ ให้ส่งช่างไฟฟ้ามาติดตั้งให้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ตัดกระแสไฟออกจากสายไฟที่เชื่อมกับกล้องซีซีทีวีแล้ว จากนี้จะไปตรวจสอบเสาไฟฟ้าและที่ติดตั้งกล้อง CCTV บริเวณโดยรอบว่ามีขั้นตอนผิดปกติอีกหรือไม่

ขณะที่นายเชาวฤทธิ์ ทรงนวรัตน์ ผอ.สำนักงานเขตจตุจักร กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค.58 ประธานชุมชนประดิษฐ์โทรการ เคยแจ้งมาว่า มีกระแสไฟฟ้ารั่วจากเสากล้องซีซีทีวี สนข.จตุจักร ได้ประสานไปยังสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ให้ตรวจสอบ ไม่พบปัญหาการรั่วของกระแสไฟฟ้า กระทั่งวันที่ 31 มี.ค.58 มีการประชุมประจำเดือนของคณะกรรมการชุมชน มีหลายหน่วยงานเข้าร่วม อาทิ สนข. การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง เพื่อหารือ และแจ้งข้อราชการต่างๆ รวมทั้งรับเรื่องร้องเรียน รับเรื่องขอความช่วยเหลือต่างๆ ที่รอการแก้ไขโดยที่ประชุม ประธานชุมชนได้แจ้งการไฟฟ้าฯ อีกครั้งว่า เสาติดตั้งกล้องซีซีทีวีต้นดังกล่าว มีกระแสไฟฟ้ารั่ว การไฟฟ้าฯได้ตัดไฟฟ้าบริเวณนั้น ในวันที่ 1 เม.ย.58 และแจ้งไปยัง สจส.ให้ตรวจสอบอีกครั้ง เมื่อวันที่ 9 เม.ย.58 จากนั้นได้แจ้งไปยังประธานชุมชนฯ ว่าไม่พบกระแสไฟฟ้าชำรุด หรือรั่วจากเสาที่แจ้งมา

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุกระแสไฟฟ้ารั่วจากอุปกรณ์ของ กทม.ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงและบริษัทผู้รับจ้างติดตั้งกล้องวงจรปิดซึ่งยังอยู่ในระยะประกัน เนื่องจากเสานี้ติดตั้งเมื่อปี 57 มีระยะประกัน 2 ปี ทั้งนี้ กทม.เคยเข้าไปตรวจสอบแล้ว ภายหลังมีผู้ร้องเรียนว่ามีกระแสไฟรั่ว เมื่อเดือน เม.ย. 58 และเดือน ก.ย.58 ด้วยเครื่องมือวัดไฟฟ้าโอห์มมิเตอร์ พบว่ายังอยู่ในระดับมาตรฐาน ไม่มีกระแสไฟรั่วและไม่มีอะไรบ่งบอกว่าเป็นอันตรายหรืออาจจะเป็นอันตราย อุปกรณ์ทุกอย่างอยู่ในสภาพปกติ โดยในวันที่เกิดเหตุ กล้องซีซีทีวียังทำงานอยู่ และบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า สั่งการให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ตรวจสอบกล้องซีซีทีวีและเสาทั่วทุกพื้นที่ กทม. ที่มีอยู่ 50,000 ตัว และมีเสามากกว่า 10,000 เสา ให้เร็วที่สุด โดยกล้องซีซีทีวี และเสาที่อยู่ในประกันให้แจ้งบริษัทผู้รับเหมาเข้าตรวจสอบทันที อย่างไรก็ตาม บริษัทได้แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเหตุการณ์ในพื้นที่ กทม. และมีอุปกรณ์ของ กทม. ดังนั้น กทม.ต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อให้ความมั่นใจกับประชาชน นอกจากนี้จะร่วมมือกับตำรวจหาข้อมูลผู้เสียชีวิต รวมทั้งประสานกองประชาสัมพันธ์เร่งประชาสัมพันธ์ให้ญาติผู้เสียชีวิตติดต่อไปที่สถาบันนิติเวชวิทยา กทม. จะให้การดูแลและช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าชายดังกล่าวจะเป็นใคร จะเป็นคนเร่ร่อนหรือไม่ แต่เชื่อว่าชายคนดังกล่าวมีญาติ มีมิตรสหาย มีคนที่เป็นห่วงอย่างแน่นอน กทม. ยินดีให้ความช่วยเหลือ

ขณะที่นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทที่รับจ้างติดตั้งกล้องซีซีทีวี ตรวจสอบคุณภาพกล้องทุกๆ 15 วัน ไม่พบว่ามีปัญหาใดๆ ขณะเดียวกันเสาไฟที่ติดตั้งกล้องทุกเสาได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจากการไฟฟ้านครหลวง ทั้งนี้ในที่เกิดเหตุนอกจากจะมีเสาที่ติดตั้งกล้องซีซีทีวีแล้ว ยังมีเสาของการไฟฟ้าฯ เสาไฟของพ่อค้า แม่ค้าบริเวณนั้นด้วย ขณะนี้กำลังตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือช่วยตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นจากเสาไฟ หรืออุปกรณ์กล้องซีซีทีวีของ กทม. บริษัทเอกชนที่รับจ้างติดตั้งกล้องจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด เนื่องจากยังอยู่ในสัญญาการดูแลหลังการติดตั้ง

...

ด้านนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กล่าวว่า กล้องซีซีทีวีดังกล่าว ติดตั้งเมื่อปี 57 และหมดประกันภายในปี 59 โดยผู้รับจ้างติดตั้งกล้องคือ บริษัท ยูไนเต็ด เทเลคอม เซลส์ แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด (ยูเทล) โดยบริษัทดังกล่าวได้ติดตั้งกล้องอยู่ทั่วพื้นที่ กทม. ประมาณ 1,000 ตัว โดยปล่อยกระแสไฟฟ้า 220 โวลต์ ซึ่งเป็นกระแสไฟฟ้าปกติที่ใช้ในบ้านเรือนประชาชน ทั้งนี้จากการทดลองปล่อยกระแสไฟฟ้าร่วมกับเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวง ทั้งช่วงเช้าและช่วงดึกที่ผ่านมา พบกระแสไฟฟ้ารั่วจริง แต่ยังไม่ทราบว่าเกิดจากอุปกรณ์ชิ้นใด และจุดไหน ดังนั้นจึงให้เจ้าหน้าที่ของ กฟน. ตัดกระแสไฟที่กล้องซีซีทีวีดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียดที่แท้จริง ต้องขอเวลาตรวจสอบแต่จะให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

วันเดียวกัน นายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายกสภา ทนายความฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย กล่าวว่า กรณีเหตุดังกล่าวหลักๆแล้วไฟฟ้าเป็นทรัพย์อันตรายโดยสภาพ ตามกฎหมายแพ่งมาตรา 437 เจ้าของผู้ครอบครองผู้ดูแลต้องรับผิดหากเกิดความเสียหายจากความประมาทเลินเล่อ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้ตรวจตราดูแลเป็นอย่างดี เมื่อเกิดความเสียหาย ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ดังนั้นเมื่อเสาไฟและกล้องซีซีทีวีเป็นของ กทม. เมื่อผู้มีส่วนได้เสียฟ้องคดี กทม. ต้องรับผิดในความเสียหายและมีความรับผิดทางอาญาเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะทางกฎหมายอาญามาตรา 291 เป็นกฎหมายมหาชน ส่วนทางแพ่ง ถ้าผู้ตายไม่มีทายาท หากศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเท่าใด สำนักงานอัยการสูงสุดอาจบังคับให้ค่าสินไหมนั้นตกแก่แผ่นดิน จะได้ถือว่าเป็นบรรทัดฐานต่อไป