(เครดิตภาพนิ่ง นันดร นครธรรม)

รอง ผอ.สดร.เผยภาพแสงประหลาด ‘วัตถุมีไฟ’ เหนือท้องฟ้าฝั่งลาว ไม่ใช่อุกกาบาตและเครื่องบินตก คาดเป็นท่อนจรวดของรัสเซีย ที่เมื่อหลายวันก่อนมีรายงานว่า จะมีท่อนจรวดเข้ามาในวงโคจรของชั้นบรรยากาศโลก...

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 2 ม.ค.59 ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.)ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวไทยรัฐที่ จ.เชียงใหม่ ทางโทรศัพท์ว่า กรณีมีชาวบ้านในหลายจังหวัดทั้งภาคอีสาน และภาคเหนือ เห็นลำแสงประหลาดพุ่งลงมาจากท้องฟ้าช่วงเช้าของวันนี้นั้น จากการดูจากไฟล์ภาพและคลิปที่ประชาชนถ่ายได้เป็นจำนวนมากแล้ว เชื่อว่า ลำแสงดังกล่าว ไม่น่าจะเป็นไฟร์บอล หรืออุกกาบาตตก และก็ไม่น่าจะใช่เครื่องบิน แต่คาดว่าเป็นท่อนจรวดของรัสเซีย เพราะเมื่อหลายวันก่อนมีรายงานว่าจะมีท่อนจรวดของรัสเซียเข้ามาในวงโคจรของชั้นบรรยากาศโลก

(ขอบคุณคลิปจาก เอนก ฤทธิศักดิ์)

"แต่ตอนนี้เรากำลังให้เจ้าหน้าที่ช่วยตรวจสอบ เช็กข้อมูลอยู่ ในเบื้องต้นยังไม่พบว่า มีอุกกาบาตเข้ามาในวงโคจรของโลกในช่วงนี้ เพราะหากเป็นอุกกาบาตจริง จะมีความเร็วสูงมาก แต่เช้าวันนี้มีความเร็วต่ำทำให้ประชาชนสามารถถ่ายภาพลำแสงดังกล่าวจากบนท้องฟ้าได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้ ทางทีมงานกำลังหาข้อมูลเร่งสรุป เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป" ดร.ศรัณย์ กล่าว

...

ต่อมา เวลา 14.00 น. ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยอีกครั้งว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 2 มกราคม 2559 ประชาชนสังเกตเห็นลำแสงสีขาวพาดผ่านท้องฟ้าเมืองไทย ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทั้งเชียงใหม่ แพร่ น่าน ลำปาง พะเยา ตาก นครสวรรค์ กาญจนบุรี ชัยนาท อยุธยา ศรีสะเกษ เลย หนองคาย มหาสารคาม ฯลฯ มีลักษณะเป็นลำฝุ่นสีขาวหางยาวๆ เคลื่อนที่อย่างช้าๆ มีประชาชนสามารถบันทึกภาพได้ ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ส่งต่อกันผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างแพร่หลาย

จากการวิเคราะห์ในเบื้องต้น คาดว่า ไม่ใช่ดาวตก เนื่องจากเคลื่อนที่อย่างช้าๆ และไม่ใช่เครื่องบินเนื่องจากสามารถเห็นได้ในบริเวณกว้างมากๆ แสดงว่าอยู่สูงจากพื้นโลกค่อนข้างมาก จึงมีความเป็นไปได้มาก ที่จะเป็นขยะอวกาศจากชิ้นส่วนจรวด SL-23 ที่ดีดตัวออกมาในขณะที่ส่งดาวเทียม Eletro-L2 ของประเทศรัสเซีย เคลื่อนที่ผ่านเหนือฟ้าประเทศไทย และคาดว่าจะตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก

ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เป็นเหตุการณ์ที่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากในอวกาศมีเศษวัตถุหลายประเภทโคจรอยู่เป็นจำนวนนับล้านชิ้น จึงมีโอกาสเข้ามาในบรรยากาศโลกอยู่เสมอ.