ไอยูยู...ไม่ใช่ฉัน และเธอๆ
IUU Fishing : Illegal Unreported and Unregulated fishing ระเบียบว่าด้วยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงานและไร้การควบคุม เป็นกฎของสหภาพยุโรป (EU) ที่ได้กําหนดมาตรการเพื่อป้องกันและขจัดการทําประมงผิดกฎหมายที่ไทยได้ไปทำข้อตกลงมา และสหภาพยุโรปได้ให้ไทยออกมาตรการทำประมงให้ถูกต้องมาตั้งแต่ 1 มกราคม 2553
แต่เพราะเรายังคิดทำกันแบบไอยูยู ฉันและเธอๆ ปล่อยปละเฉื่อยแฉะกันมานานร่วม 5 ปี... 21 เม.ย. 2558 คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป อดรนทนไม่ไหวลงมติภาคทัณฑ์ ให้ใบเหลืองกับประเทศไทย ผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่อันดับสามของโลก พร้อมคาดโทษ ต้องแก้ไขปัญหาให้เสร็จภายใน 6 เดือน...มิเช่นนั้นการส่งสินค้าประมงไปขายในสหภาพยุโรปไม่อาจจะทำได้อีกต่อไป
เม็ดเงินปีละหลายแสนล้านบาทที่ไหลเข้าประเทศ มีอันหายวับไปในพริบตา
ร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ต้องออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 10/2558 มีรายละเอียดแนวทางปฏิบัติ 23 ข้อ พร้อมอาศัยอำนาจตาม ม.44 ของ รธน.ชั่วคราว จัดตั้ง ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ศูนย์เฉพาะกิจขึ้นตรงกับนายกฯ โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บัญชาการศูนย์ฯและให้เริ่มปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวมาตั้งแต่ 1 พ.ค. 2558
...
ด้วยคำสั่งนี้ ทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆเป็นไปอย่างไม่ชักช้า...ล่าสุดเดือนธันวาคมที่เพิ่งผ่านมา คณะผู้ตรวจด้านเทคนิคจากสหภาพยุโรป ได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งดูความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา IUU Fishing ของไทย พบว่า...การแก้ไขปัญหามีความคืบหน้าถึง 80%
ที่สำคัญตลอดระยะการปฏิบัติงานจริงตามกฎเหล็ก IUU เพียงแค่ 6 เดือน (ก.ค.–ธ.ค.) ส่งผลดีต่อทรัพยากรสัตว์น้ำได้ฟื้นตัวกลับมามีความอุดมสมบูรณ์อย่างน่าอัศจรรย์...จนไม่น่าเชื่อว่าท้องทะเลไทยวันนี้ จะมีสัตว์น้ำมากมายถึงเพียงนี้.
สุไลมาน ดาราโอะ
ประธานชมรมประมงพื้นบ้าน ต.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี
“ต้องยอมรับมาตรการ IUU ช่วยให้พวกเราชาวประมงพื้นบ้านหากินได้ง่ายขึ้น มีปลามากขึ้นผิดกับช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งที่เรามีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งธนาคารปูม้า เอาปูม้าไข่ที่จับมาได้เพาะฟักลูกพันธุ์ เลี้ยงอนุบาลเอาไปปล่อยธรรมชาติ เพื่อเราจะได้จับมาขายเลี้ยงครอบครัว เราทำอย่างนี้มา 5 ปีแต่จับปูม้าได้แค่วันละ 1-2 กก.เท่านั้นเอง แถมแต่ละตัวยังมีขนาดเล็กไม่เกิน 2 ขีด”
แต่หลังมาทางการมีมาตรการเอาจริงกับการทำประมงผิดกฎหมายมาแค่ไม่กี่เดือน ปรากฏว่า เราจับปูได้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 10-20 กก. ปูม้าที่จับได้ยังมีขนาดใหญ่ด้วย 3-4 ตัว ได้เป็นกิโล
ไม่เพียงเท่านั้น สัตว์น้ำหลายชนิดที่เราไม่เคยพบเห็นมานานแล้ว อย่างปลากระทุงเหวขนาดใหญ่น้ำหนักมากกว่า 10 กก. ที่ปกติจะไม่เคยเข้ามาหากินตามแนวชายฝั่งทะเล แต่ด้วยมาตรการควบคุมที่เข้มงวด ทำให้อาหารตามธรรม-ชาติมีเพิ่มมากขึ้น ปลาชนิดนี้ถึงเข้ามาหากินให้ชาวประมงพื้นบ้านจับได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี
...
นอกจากนั้น ปลาโอ ขนาด 5 กก. กุ้งกุลาดำ ขนาด 2 ตัว 1 กก. ที่ไม่เคยจับได้มาก่อน...วันนี้มาตรการ IUU ช่วยให้ชาวประมงปะนาเระจับได้กันทุกวัน.
มานิต ดำกุล
นายกสมาคมประมงจังหวัดกระบี่
“เรื่องการทำประมงผิดกฎหมายทะเลอันดามันในพื้นที่กระบี่ เตรียมตัวมาเป็น 10 ปีแล้ว เราไม่อนุญาตให้มีโพงพาง อวนรุน อวนลากเดี่ยว อวนลากคู่ หรือแม้กระทั่งอวนล้อมปลากะตักก็ไม่อนุญาตให้เข้ามาทำในทะเลกระบี่ คนในพื้นที่ใครฝ่าฝืนพวกเราจัดการกันเองเลยทันที เริ่มตั้งแต่ออกประกาศเตือน ไล่จับส่งเจ้าหน้าที่ แต่ถ้าเป็นเรือนอกพื้นที่จะโดนมาตรการรุนแรงและเด็ดขาด จึงทำให้ไม่มีใครกล้าเข้ามาทำการประมงผิดกฎหมายในพื้นที่นี้”
กระนั้นก็ตามมาตรการปราบปรามการทำประมงที่ผิดกฎหมายของรัฐบาล ยิ่งส่งผลดีกับชาวประมงกระบี่มากขึ้น สังเกตได้จากก่อนหน้ามีมาตรการ ชาวประมงต้องออกทะเลหากินกันตั้งแต่เที่ยงหรือบ่าย กว่าจะกลับเข้าฝั่งก็เป็นตอนเที่ยงของอีกวัน...ใช้เวลา 24 ชั่วโมงได้ปลามาแค่ค่าน้ำมันกับค่าครองชีพไปวันๆ
...
แต่ตอนนี้ไม่ต้องออกทะเลตั้งแต่เที่ยง ออกกันตอนเย็นๆ 7 โมงเช้าก็กลับเข้าฝั่งได้แล้ว ใช้เวลาแค่ 12 ชั่วโมง ได้กุ้ง หอย ปู ปลา มากกว่าเดิม 10–20% แถมยังได้ปลาที่ไม่ค่อยจับได้ อย่างปลาใบขนุน และปลาเต๋าเต้ย ที่มีราคาสูงถึง กก.ละ 600–700 บาท กลับมาขายมีเงินเก็บไว้เลี้ยงครอบครัวได้ทุกวัน.
แน่งน้อย ยศสุนทร
ผู้ก่อตั้งกลุ่มนักดำน้ำ SAVE OUR SEA (SOS)
“เราเป็นกลุ่มนักดำน้ำอาสาสมัครทำงานสำรวจและดูแลปกป้องทรัพยากรสัตว์น้ำใต้ทะเลร่วมกับกรมประมงมานานกว่า 14 ปี ก่อนหน้านี้ใต้ทะเลจะมีเศษอวนถูกตัดทิ้งติดตามแนวปะการังเป็นจำนวนมาก ปีๆหนึ่ง เราดำน้ำเก็บมาได้หลายร้อยกิโล แต่หลังจากทางการเอาจริงเอาจังเรื่อง IUU การดำน้ำในช่วงหลังมานี่ เราแทบไม่พบเศษซากอวนติดตามแนวปะการังเลย แสดงว่ามาตรการนี้ได้ผล เรืออวนลากไม่กล้าเข้าทำประมงใกล้ชายฝั่งของเกาะเลยไม่มีเศษอวนมาติดปะการังให้เห็น”
ส่งผลให้ปะการังในหลายพื้นที่ฟื้นตัวได้ดี มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น สัตว์น้ำหลายชนิดที่ชมรมนักดำน้ำ SOS ยากจะได้พบเห็นในแนวปะการัง ได้กลับมาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปลาเศรษฐกิจ อย่างเช่นปลาข้างเหลือง ปลากะตัก ปลาทู ปลาเก๋า ที่ก่อนหน้านี้แทบไม่มีให้เห็นเลย เพราะถูกชาวประมงจับไปหมด
...
นอกจากนั้น การเดินสำรวจพื้นที่ริมชายฝั่งทะเล เรายังพบสัตว์หน้าดิน เช่น กุ้ง หอย ปู ฯลฯ มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อย่างชายฝั่งทะเลโคลน จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เดิมเวลาน้ำลงเราแทบไม่ได้เห็นสัตว์หน้าดินเหล่านี้โผล่ขึ้นมาให้เห็นเลย เพราะมีการใช้อวนลากติดชิดชายฝั่ง
แต่เมื่อมีมาตรการคุมเข้มไม่ให้ใช้อวนลากที่ทำลายล้างสัตว์หน้าดินไปจนหมดสิ้น เลยส่งผลให้กุ้ง หอย ปู ได้มีเวลาพักฟื้นตัวและขยายพันธุ์ จนปรากฏกายมาให้เห็นชีวิตใหม่ที่ก่อกำเนิดกระจายไปทั่ว ตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน.
วิมล จันทรโรทัย
อธิบดีกรมประมง
“ที่ผ่านมาเราปล่อยให้มีการทำประมงแบบอิสระเสรีกันมานาน ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลเจริญเติบโตไม่ทันการนำไปใช้ประโยชน์ พอวันนี้เรามาบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและให้สมดุลกับทรัพยากรที่เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันนี้เป็นธรรมดาย่อมส่งผลกระทบกับชาวประมงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ล่าสุดมีการออกพระราชกำหนดที่เข้มงวดมากขึ้น ถึงขั้นยึดเรือ จับผู้ฝ่าฝืนดำเนินคดี และฟ้องร้องทางแพ่งเป็นเงินมากกว่า 30 ล้านบาท จึงกลายเป็นกฎเหล็กที่ไม่มีใครกล้าที่จะฝ่าฝืน หรือจะหลีกเลี่ยงก็กระทำได้ยาก”
แต่อย่างไรก็ตาม กฎเหล็กที่ได้ปฏิบัติมาไม่กี่เดือน ปรากฏว่า สัตว์ทะเลฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เห็นจากการเก็บข้อมูลเป็นระยะๆ ของศูนย์ Port In-Port Out หรือ PIPO ที่สำรวจปริมาณสัตว์น้ำถูกขึ้นท่าเทียบเรือสะพานปลาของกองประมงทะเล พบว่า ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้มากขึ้นทั้งในฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน
ในฝั่งอ่าวไทย ก่อนหน้าจะบังคับใช้กฎเหล็ก IUU เรืออวนลากเดี่ยวจับปลาได้เฉลี่ยวันละ 26.11 กก. เรืออวนลากคู่จับปลาได้เฉลี่ยชั่วโมงละ 144.66 กก. เรืออวนล้อมซั้งจับปลาได้เฉลี่ยวันละ 2,404 กก.
แต่หลังมีการใช้กฎเหล็ก (ก.ย.–ต.ค.58) เรืออวนลากเดี่ยวสามารถจับปลาได้เฉลี่ยวันละ 36.21 กก. และเรืออวนลากคู่จับได้เฉลี่ยชั่วโมงละ 159.74 กก. เรืออวนล้อมซั้งจับปลาได้เฉลี่ยวันละ 3,239 กก.
ส่วนในฝั่งอันดามัน ก่อนบังคับใช้มาตรการควบคุม เรืออวนลากเดี่ยวจับปลาได้เฉลี่ยวันละ 55.63 กก. เรืออวนลากคู่จับปลาได้เฉลี่ยชั่วโมงละ 141.42 กก. เรืออวนล้อมซั้งจับปลาได้เฉลี่ยวันละ 3,056 กก.
หลังบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบเด็ดขาด (ก.ย.–ต.ค.58) เรืออวนลากเดี่ยวจับปลาได้เฉลี่ยวันละ 70.48 กก. เรืออวนลากคู่จับได้เฉลี่ยวันละ 118.41 กก. เรืออวนล้อมซั้งจับปลาได้เฉลี่ยวันละ 3,806 กก.
จากตัวเลขนี้ จะเห็นได้ว่า ผลของการบังคับใช้กฎเหล็กอันเข้มงวดเพียงแค่ไม่กี่เดือน ช่วยให้ชาวประมงทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน สามารถจับปลาได้ปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 30%...ไม่เพียงเท่านั้นปริมาณปลาที่จับได้มากขึ้นนี้มาจากการจับปลาที่ใช้ระยะเวลาน้อยกว่าเดิม 2-5 วันอีกด้วย.
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“เป็นธรรมดาที่มาตรการนี้จะทำให้ชาวประมงพื้นบ้านจับปลาได้มากขึ้น เพราะเดิมทีการจับในบ้านเรา ประมงพื้นบ้านจับปลาได้แค่ 10% เท่านั้น เรือประมงขนาดกลางจะจับได้ 20% ส่วนอีก 70% จะเป็นของเรือประมงพาณิชย์ ขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไป”
แต่เมื่อมีมาตรการ IUU ออกมาบังคับใช้ ทำให้เรือประมงขนาดใหญ่ที่ทำผิดกฎหมายทั้งหลายไม่อาจออกทะเลหาปลาได้ สัตว์น้ำส่วนใหญ่เลยรอดพ้นจากการถูกจับ เหลือมาให้ชาวประมงพื้นบ้านจับได้มากขึ้นเท่านั้นเอง จึงกลายเป็นเรื่องที่แน่นอนอยู่แล้ว
ประกอบกับท้องทะเลอ่าวไทยของเรามีลักษณะพิเศษที่ช่วยให้สัตว์น้ำมีการฟื้นตัวได้รวดเร็ว ติดอันดับ 1 ใน 17 แห่งของโลก เพราะมีแม่น้ำหลัก 5 สาย ประกอบด้วย แม่น้ำโขง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำตาปี ไหลลงไปรวมกันอยู่ในอ่าวเดียว
แม่น้ำทั้ง 5 สาย นำพาธาตุอาหารอันอุดมสมบูรณ์มาหล่อเลี้ยงสัตว์น้ำตลอดเวลา ถ้าเรารักษากฎ IUU ได้เข้มแข็งอย่างนี้ และช่วยกันรักษากติกาไว้ให้ดี ไม่หวนกลับไปทำประมงแบบทำลายล้างอีก ภายใน 2 ปีสัตว์น้ำในอ่าวไทยก็จะฟื้นตัวได้สมบูรณ์เหมือนเมื่อ 30 ปีที่แล้วอย่างแน่นอน.
ทีมข่าวเกษตร