ทั้งพยานหลักฐาน ไม่ชัดแจ้งสมบูรณ์
ศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้อง 5 อดีตตำรวจกองปราบ-ท่องเที่ยว “คดีอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร” ชี้พยานให้การสับสน พยานเอกสารการใช้โทรศัพท์ติดต่อระหว่างจำเลยขาดความสมบูรณ์ ด้านเมียทนายสมชายเผยเสียใจ ขอไว้อาลัยแด่กระบวนการยุติธรรมไทย โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น
คดีนายสมชาย นีละไพจิตร ต่อสู้ตามกระบวนการพิจารณาศาลอย่างยาวนานเกือบ 12 ปี ล่าสุดศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง เปิดเผยเมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 29 ธ.ค. ที่ห้องพิจารณา 809 ศาลอาญา ศาลอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ฟ้อง 1. พ.ต.ต.เงิน ทองสุก อดีต สว.กอ.รมน.ช่วยราชการ บก.ป. (หายสาบสูญ) 2.พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ อดีต พงส.กก.4 บก.ป. 3.จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง อดีต ผบ.หมู่งานสืบสวน แผนก 4 กก.2 บก.ทท. 4.ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการ กก.4 บก.ป. และ 5.พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน อดีตรอง ผกก.3 บก.ป. ปัจจุบันชื่อ พ.ต.อ.นภันต์วุฒิ เป็น ผกก.ฝอ.สพ. จำเลยที่ 1-5 ความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพโดยใช้กำลังประทุษร้าย กรณีนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ถูกอุ้มหายปริศนา นัดนี้นางอังคณา นีละไพจิตร และ น.ส.ประทับจิต นีละไพจิตร ภรรยาและบุตรสาวนายสมชาย มาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย
โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 12 มี.ค.2547 จำเลยทั้ง 5 กับพวก ร่วมกันปล้นทรัพย์นายสมชาย และลักทรัพย์เอารถยนต์ ทะเบียน ภง 6768 กรุงเทพมหานคร นาฬิกาข้อมือยี่ห้อโรเล็กซ์ 1 เรือน ปากกายี่ห้อมองบลังค์ 1 ด้าม และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง มูลค่า 903,460 บาท จำเลยร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชากตัวนายสมชายให้เข้าไปในรถยนต์จำเลยทั้งห้าแล้วจับตัวพาไป จนถึงขณะนี้ไม่ทราบว่านายสมชายจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ต่อมาวันที่ 16 มี.ค.2547 พนักงานสอบสวนยึดรถยนต์ของนายสมชายที่จำเลยทั้ง 5 ร่วมกันปล้นทรัพย์ไว้เป็นของกลาง วันที่ 8 เม.ย.2547 จำเลยที่ 1-4 เข้ามอบตัว วันที่ 30 เม.ย.2547 จำเลยที่ 5 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้ง 5 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
...
คดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2549 ว่าลงโทษจำคุก พ.ต.ต.เงิน จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 2-5 พิพากษายกฟ้อง ต่อมาวันที่ 11 มี.ค.2554 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 5 แต่ให้ออกหมายจับ พ.ต.ต.เงินที่ไม่มาฟังคำพิพากษาตามนัด และไม่รับให้นางอังคณาและบุตรเข้าเป็นโจทก์ร่วม เพราะไม่ชัดเจนว่านาย สมชายเสียชีวิตแล้วหรือไม่ ภรรยาและบุตรจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในคดี ต่อมาศาลมีคำสั่งให้ พ.ต.ต.เงินเป็นบุคคลสาบสูญ จากเหตุการณ์คันกั้นน้ำถล่มที่เขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2551 ขณะที่อัยการยื่นฎีกาและร้องขอให้นางอังคณาและบุตรเข้าเป็นโจทก์ร่วม
ศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีไม่ชัดเจนว่านายสมชายถูกทำร้าย หรือกระทำการต่อชีวิตที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ภรรยาและบุตรของนายสมชายจึงเป็นโจทก์ร่วมไม่ได้ และไม่มีอำนาจยื่นฎีกา ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าฎีกาของอัยการโจทก์ว่าจำเลยทั้ง 5 ร่วมกันกระทำผิดหรือไม่ โจทก์นำสืบถึงเหตุจูงใจจำเลยทั้ง 5 มาจากนายสมชายให้ความช่วยเหลือคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ต่อกลุ่มผู้ต้องหา 5 ราย ในเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนและก่อเหตุความไม่สงบภาคใต้เมื่อปี 2547 นายสมชายทำหนังสือร้องเรียนถึง ผบ.ตร. กรณีผู้ต้องหาระบุว่า ถูกพวกจำเลยทำร้ายร่างกายเพื่อให้กลับคำให้การ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยทั้ง 5 ไม่ได้พบหรือเคยเห็นนายสมชายมาก่อน
ขณะที่พยานบุคคล 5 ปาก ในที่เกิดเหตุเห็นนายสมชายครั้งสุดท้าย บริเวณถนนรามคำแหง แม้เป็นประจักษ์พยาน แต่คำให้การชั้นสอบสวนหลายประเด็นยังมีข้อพิรุธขัดแย้งกับความเป็นจริง พยานบางปากให้การสับสน ส่วนใหญ่พยานให้การทำนองเดียวกันว่าเห็นคนร้าย 3-4 คนยื้อยุดฉุดกระชากกัน แต่ไม่ให้ความสนใจมากนัก กระทั่งทราบข่าวภายหลังว่านายสมชายหายตัวไป จึงมาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าช่วงเวลาเกิดเหตุมองเห็นไม่ถึงนาที และมีปัญหาแสงไฟทำให้มองเห็นไม่ชัดเจนเพียงพอ อีกทั้งคำเบิกความของพยานในชั้นศาลไม่ได้ยืนยันชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นคนร้าย
ขณะที่พยานเอกสารบันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์จำเลยทั้ง 5 เน้นตรวจสอบในที่เกิดเหตุวันที่ 12 มี.ค.2547 ตั้งแต่เวลา 07.00-21.00 น.โจทก์นำสืบว่ามีการติดต่อโทรศัพท์ระหว่างจำเลยมากผิดปกติถึง 75 ครั้ง ชี้ให้เห็นถึงการเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหว สะกดรอยตามนายสมชายตลอด มีพยานเป็นพนักงานสอบสวนจัดทำข้อมูลมาเบิกความว่า ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ส่วนหนึ่งเอกสารเป็นสำเนาไม่มีการรับรองผู้จัดทำโดยตรง ถือว่าเอกสารไม่สมบูรณ์ที่จะเป็นพยานไม่อาจนำมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้ง 5 ได้ ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยานายสมชาย เผยว่า เสียใจขอไว้อาลัยแด่กระบวนการยุติธรรมไทย โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น ผิดหวังที่พนักงานสอบสวนคดีนี้ ส่งเอกสารที่ไม่มีความน่าเชื่อถือให้ศาลพิจารณา รวมถึงไม่มีการคุ้มครองพยานทำให้พยานหวาดกลัว ไม่สามารถจะชี้ตัวจำเลยในชั้นศาลได้ ที่ศาลไม่อนุญาตให้ครอบครัวเป็นโจทก์ร่วม ส่งผลกระทบต่อคนที่โดนอุ้มหายคดีต่อไปในอนาคต หากกระบวนการยุติธรรมมองคนตามข้อเท็จจริง คนธรรมดาจะหายไปไหนได้ตั้งเกือบ 12 ปี ถ้าญาติไม่สามารถเป็นโจทก์แล้วใครจะเป็นโจทก์ได้