นักวิชาการค้าน หากรัฐบาลยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ชี้จะกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย-แรงงานนอกระบบหลายล้านคน ชงปฏิรูประบบสวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้า ให้ประชาชนที่มีศักยภาพร่วมจ่าย เร่งแก้ทุจริต คาดประหยัดงบไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้าน...
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 58 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยการที่รัฐบาลมีดำริอาจยกเลิกบัตรทองโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะจะส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยและไม่อยู่ในระบบประกันสุขภาพหรือระบบสวัสดิการใดๆ เนื่องจากนโยบายดังกล่าวได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและส่งผลดีต่อประชาชนโดยเฉพาะผู้มีฐานะยากจน ครอบคลุมแรงงานอิสระ แรงงานนอกระบบที่มีอยู่หลายล้านคน
อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับความจำเป็นในการปฏิรูประบบประกันสุขภาพเพื่อความยั่งยืนทางการเงินของระบบสวัสดิการสุขภาพในอนาคต สำหรับปัญหาความไม่ยั่งยืนทางการเงินระบบสวัสดิการสุขภาพสามารถแก้ไขด้วยการพัฒนาระบบการร่วมจ่ายสำหรับประชาชนที่มีศักยภาพในการจ่ายร่วมได้ นอกจากนี้ หากรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้ในทุกระดับจะสามารถประหยัดเงินงบประมาณได้ปีละ ไม่ต่ำกว่า 150,000-200,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนมากเพียงพอที่จะสนับสนุนระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้มีความยั่งยืน
“ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีสัมฤทธิผลที่น่าประทับใจในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น อัตราการใช้บริการ ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราความชุกของการเข้าไม่ถึงบริการ สุขภาพที่จำเป็น ของประชาชนไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ลดภาระ รายจ่ายด้านการรักษาพยาบาลของครัวเรือนโดยเฉพาะในกลุ่มคนจน ทำให้ลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำของภาระรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลของครัวเรือนระหว่างกลุ่มคนยากจน และกลุ่มคนรวย”
...
นอกจากนั้นระบบนี้ยังทำให้การอุดหนุนงบประมาณภาครัฐไปสู่กลุ่ม คนจนเพิ่มขึ้น และอุบัติการณ์ของครัวเรือนที่ยากจนอันเนื่องมาจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลลดลงจากร้อยละ 2.7% ในปี พ.ศ. 2543 (ก่อนระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคและพัฒนามาเป็นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า) มาเป็นร้อยละ 1 ในปี พ.ศ. 2557 นับเป็นสถิติตัวเลขที่ดีกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม การไม่ปฏิรูประบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคย่อมทำให้ระบบสวัสดิการด้านสุขภาพของไทยประสบปัญหาทางการเงินภายใน 10 ปีนี้อย่างแน่นอน ประกอบกับโครงสร้างประชากรก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นตามลำดับ ค่าใช้จ่ายทางด้านการรักษาพยาบาลจะเพิ่มสูงมากขึ้นทุกปี
พร้อมระบุการปฏิรูประบบสวัสดิการสุขภาพเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการเงิน ต้องสร้างความเป็นธรรมใน การเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นสำหรับคนไทยทุกคน แต่ต้องเปลี่ยนแปลง โดยอิงระบบภาษีและไม่ต้องจ่ายเมื่อไปใช้บริการ รวมถึงต้องครอบคลุมสิทธิประโยชน์อย่างรอบด้าน และใช้ระบบงบประมาณและการจ่ายค่าบริการแบบปลายปิดเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย มีกลไกสำหรับการคุ้มครองสิทธิแก่ประชาชน การให้ข้อมูล และการรับเรื่องร้องเรียน มีระบบการชดเชยกรณีได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล รวมถึง การกำหนดให้โรงพยาบาลต้องมีระบบพัฒนาคุณภาพบริการ
“ต้องมีระบบการกำกับมาตรฐานเดียวกันทั้งสำหรับสถานพยาบาล ภาครัฐและเอกชน การปล่อยให้มีสองระบบและมีมาตรฐานในการกำกับที่ แตกต่างกัน อาจไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนานโยบายและระบบสาธารณสุขในระยะยาว” ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว