ตะลุยโลกใบใหญ่ ฉบับส่งท้ายปี “แพะมงคล” 2558 ต้อนรับ ปี “ลิงเฉลียวฉลาด” 2559 “พี่ม้ามังกร” ขอพาน้องๆไปเยี่ยมชมสิ่งที่เป็นมงคลชีวิต ต้อนรับการเริ่มต้นสิ่งดีๆในปีใหม่ ที่พุทธอุทยาน วัดทิพย์สุคนธาราม อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี เพื่อนมัสการ “พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์” และนิทรรศการอนุสรณ์แห่งการตื่นรู้กันครับ

ทันทีที่น้องๆเข้าสู่พุทธอุทยาน จะตื่นตาและรู้สึกอิ่มใจกับ พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ ยืนเด่นเป็นสง่า โดย พระหัตถ์ยกขึ้นราวพระอุระ ทำกิริยากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายหงายขึ้น รองรับน้ำฝน เพื่อนำความชุ่มชื้นมายังพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ซึ่งแห้งแล้ง ซึ่ง ปางคันธารราฐ ก็คือ ปางขอฝน นั่นเอง นอกจากนี้นามของพระพุทธรูปก็ยังมีความหมาย 3 ประการคือประการแรก พระพุทธรูปซึ่งเป็น ที่พึ่งของประชาชนชาวไทยและชาวโลก

ประการที่สอง พระพุทธรูปซึ่งเป็นที่พึ่งของสามโลก ได้แก่ โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และยมโลก

ประการที่สาม พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระพุทธรูปแห่งบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน

รอบๆพุทธอุทยาน ประดับตกแต่งด้วยพรรณไม้ในพุทธประวัติ อาทิ ต้นพระศรีมหาโพธิ ต้นนิโครธ ต้นสาละ เป็นต้น ทั้งยังมีนิทรรศการกลางแจ้งเกี่ยวกับพุทธประวัติ และยังเป็นลานให้พุทธศาสนิกชนได้ฝึกปฏิบัติธรรมอีกด้วย

สำหรับความเป็นมาของพุทธอุทยานนั้น “พี่ม้ามังกร” ขอพาน้องๆเข้าไปเจาะข้อมูลจากนิทรรศการ “อนุสรณ์แห่งการตื่นรู้” ซึ่งจัดไว้ในอาคารนิทรรศการ ที่ตั้งอยู่ด้านข้างของพระพุทธเมตตาประชาไทยฯ ครับ

นิทรรศการนี้แบ่งเป็น 4 ส่วน ส่วนแรก คือ พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ ซึ่งจัดแสดงประวัติความเป็นมาและการก่อสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ซึ่งก้าวแรกทันทีที่เข้าสู่ห้องนิทรรศการ น้องๆจะเห็นรูปเหมือนของ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ซึ่งได้รับบริจาคที่ดินจากนางฉันท์ทิพย์ กลิ่นโสภณ และครอบครัว จำนวน 339 ไร่ ที่ ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี และทุนในการสร้างวัด โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ รับเป็นผู้อุปถัมภ์การสร้างวัดและตั้งชื่อวัดว่า “วัดทิพย์สุคนธาราม” ทั้งสมเด็จพระมหาธีราจารย์มีปณิธานอันแรงกล้าที่จะก่อสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธ และเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่ง พระพุทธรูปยืนแห่งบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน ที่ถูกทำลายไป จึงดำริสร้างพระพุทธรูปไว้บนที่ดินดังกล่าว ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้ง จึงได้ออกแบบพระพุทธรูปเป็นปางขอฝน เพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาล พลิกฟื้นที่ดินที่แห้งแล้งให้กลับชุ่มชื้น และให้นามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์”

...

และเมื่อปี 2554 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับโครงการก่อสร้างพระพุทธรูปไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปีจึงเสร็จสมบูรณ์ และทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เป็นประธานในพิธีสมโภชพระพุทธเมตตาประชาไทยฯ เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมานี้เองครับ

ถัดมาเป็นเรื่องการก่อสร้างพระพุทธรูป ซึ่งหล่อด้วยโลหะสำริด สูง 32 เมตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่มาจาก มหาสัปปุริสลักษณะ หมายถึง อาการแห่งกายของมหาบุรุษ 32 ประการ ลักษณะพระบาทยืนตรง สองข้อพระบาทจึงต้องแบกรับ น้ำหนักทั้งหมด วิศวกรต้องอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ผสมผสานกับ ช่างฝีมือโบราณเพื่อให้ งานออกมาถูกต้องตามหลักพุทธศิลป์แต่มีความแข็งแรง คงทน โดยให้โครงสร้างเหล็กในพระบาททั้งสองข้างขององค์พระยึดกับฐานคอนกรีต และให้สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือเอไอที ทดสอบการรับแรงลมพายุและแรงแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุด เพื่อให้องค์พระพุทธรูปมีความคงทนถาวรนับพันปีหลังจากที่น้องๆทราบประวัติความเป็นมาขององค์พระพุทธรูปยืนแล้ว เราจะเดินเข้าสู่ส่วนที่สอง คือ การเดินทางของพระพุทธศาสนา ซึ่งแสดงเป็นภาพยนตร์สั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับ พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์นักรบ ผู้ยิ่งใหญ่ ที่วางดาบจากศึกสงครามมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทั้งเป็นองค์อุปถัมภ์ที่สำคัญ โดยทรงจัดสมณทูต 9 สายออกเผยแผ่พระธรรมนอกอาณาเขตชมพูทวีป ซึ่งหนึ่งในเส้นทางก็คือ ดินแดนสุวรรณภูมิ ตั้งแต่สมัยทวาราวดี จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และได้มี การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 9 ของโลก ณ พระมณฑปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ.2331

ส่วนที่สาม คือ “เจติยะ” สิ่งที่ควรบูชา ซึ่งได้แก่ ธรรมเจดีย์ คือ พระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า, ธาตุเจดีย์ คือ สถูปสำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ, บริโภคเจดีย์ คือ สิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าได้แก่ สังเวชนียสถาน 4 แห่ง ต้นโพธิ์ที่พุทธคยา เป็นต้น, อุเทสิกะเจดีย์ คือ สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระพุทธเจ้า ได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ รอยพระพุทธบาท ธรรมจักร เป็นต้น ในส่วนนี้ น้องๆจะได้ชมภาพยนตร์สั้น เกี่ยวกับ หุบเขาบามิยัน ที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปยืนแห่งบามิยัน และถูกระเบิดทำลายเมื่อปี พ.ศ.2544

และส่วนสุดท้าย คือ คบเพลิงแห่งธรรม ซึ่งห้องนี้จะ ออกแบบเสมือนน้องๆได้ยืนอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ และประดับด้วยใบโพธิ์เต็ม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการตื่นรู้ นั่นเอง

วันหยุดเทศกาลปีใหม่นี้ น้องๆที่สนใจลอง ชวนคุณพ่อคุณแม่ไปกราบนมัสการ พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ สำหรับนิทรรศการเปิดให้เข้าชมเป็นรอบ โดยวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะเปิดให้เข้าชมวันละ 5 รอบ รอบละ 1 ชั่วโมง คือ ตั้งแต่เวลา 10.30-14.30 น. วันจันทร์ ปิดบริการ สอบถามได้ที่โทร. 09-8964- 0908­.