เข้าสู่ตอนที่ 3 แล้ว กับภารกิจของ "ทีมข่าวไทยรัฐ" เปิดโปงขบวนการค้าไม้กฤษณา หรือ "ไม้หอม" หลังวันเสียงปืนแตกจากป่าภูเขียว เมื่อกลางเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า สังเวยคมกระสุนให้ขบวนการอัปยศตัดป่า

ในตอนแรก เป็นการชำแหละให้เห็นถึงเครือข่ายขบวนการค้าไม้หอม และตัวเลขการส่งออกไม้ชิ้น ที่มีตัวเลขพุ่งสูงกว่า 60,000 กิโลกรัม รวมไปถึงการขายน้ำมันหอม อันเป็นที่นิยมกัน ส่วนตอนที่ 2 เป็นการจับพิรุธตัวเลขการส่งออก ที่ยังหาที่มาที่ไปของไม้หอมไม่ได้ ว่ามาจากสถานที่ใด เป็นไม้ปลูกหรือไม้ป่ากันแน่

ยิ่งเป็นไม้ป่ายิ่งมีราคาเพราะขายได้ราคาดี!??

ทว่ามูลค่าของไม้หอม เป็นสินค้าที่ประเมินราคาไม่ได้ ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของลูกค้า ก็ยิ่งทำให้การทุจริตซิกแซ็กหาไม้หอมจากป่า มีให้เห็นอยู่เนืองๆ ทั้งการขนแรงงานต่างด้าวเข้าไปตัด การสวมรวย และการปลูกบังหน้า อันเป็นกลยุทธ์ของกลุ่มผู้ค้าบางกลุ่มที่นิยมทำ

ตราบใดที่ยังตรวจสอบไม่ได้ ว่าไม้หอมที่ออกสู่ท้องตลาด เป็น "ไม้ป่า" หรือ "ไม้ปลูก" ตราบนั้นขบวนการตัดป่าค้าไม้หอมก็ยังคงเหิมเกริมไม่หยุดยั้ง

...

ถึงเวลาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งอุดช่องโหว่แล้วหรือยัง!??

"ทีมข่าวไทยรัฐ" เดินทางมุ่งหน้าไปจังหวัดเชียงราย เพื่อเข้าพูดคุยกับ นายวิศวะ ศรีเพ็ชรกล้า ตัวเเทนศูนย์เรียนรู้เรื่องไม้กฤษณา ใน อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ที่ออกมาให้ข้อมูลขั้นตอนการขออนุญาตส่งออกไม้หอม (ไม้ชิ้น) ที่ทำอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของ "ไซเตส" และข้อกำหนดของกฎหมายไทย

"วิศวะ" เล่าว่า ก่อนหน้าทำธุรกิจค้าไม้หอมในนามนิติบุคคล ส่วนใหญ่จะส่งออกไม้ชิ้น มากกว่าน้ำมัน ตัวเลขอยู่ที่ 60 ถึง 500 กิโลฯต่อปี ไม้ที่เอามาทำเป็น "ไม้ปลูก" ที่ผ่านกระบวนการกระตุ้นให้เกิดสารเรซิ่น จนเนื้อไม้เป็นสีดำ แล้วตัดไม้คัดเอาเฉพาะเนื้อดำ ส่งขายต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะในแถบตะวันออกกลาง จีน เเละเกาหลี

ส่วนขั้นตอนขออนุญาตจาก "ไซเตส" นั้น ทางเจ้าของสวน ต้องยื่นเรื่องแสดงเอกสารสิทธิ พิกัดแหล่งเพาะปลูกอย่างชัดเจนกับทางกรมวิชาการเกษตร เพื่อจะได้รหัสในการลงทะเบียนออนไลน์การส่งออกไม้ ว่าจะนำออกทางช่องทางใดของประเทศ จากนั้นค่อยนำไม้ไปส่งตามช่องทางนั้น โดยทางไซเตสตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง ด้วยการแจ้งในระบบให้เจ้าหน้าที่ตามด่านนั้นๆ ตรวจสอบ ว่าไม่ได้มีการนำไม้กฤษณาที่ลักลอบตัดในป่ามาสวมส่งออก

"ก่อนที่เจ้าของสวนจะมีการตัดหรือเคลื่อนย้ายไม้กฤษณา จะต้องดำเนินการขออนุญาตกำนันผู้ใหญ่บ้านหรือตำรวจในพื้นที่ทุกครั้ง เพื่อยืนยันว่าไม้กฤษณาดังกล่าว เป็นไม้ที่เกิดขึ้นจากสวน ไม่ได้เอามาจากป่า หรือสวมรอยมา ก่อนนำไปแปรรูปในโรงงาน" คือ สิ่งที่นายวิศวะอธิบาย

เมื่อได้เห็นตัวเลขการส่งออก "ไม้ชิ้น" ของหนึ่งในกลุ่มนักธุรกิจไม้หอม ก็ทำให้อดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ เมื่อเทียบกับตัวเลขการส่งออก (ไม้ชิ้น) ปีล่าสุด ที่ฉายตัวเลขสูงกว่า 6 หมื่นกิโลฯ จึงทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย ว่า "ไม้ชิ้น" เหล่านี้ เป็นไม้ที่มาจากที่ใด? บริษัทไหนหรือนิติบุคคลรายใดเป็นคนส่ง?

และที่สำคัญ ไม้ที่ออกสู่ตลาดโลกนั้นยังหาที่มาที่ไปไม่ได้ ว่าเป็น "ไม้ปลูก" หรือ "ไม้ป่า"!??

...

จาก จ.เชียงราย ย้ายมา จ.ปราจีนบุรี ทีมข่าวเดินทางด้วยระยะทางไกลเกือบ 1 พันกิโลเมตร เพื่อค้นหาความจริงในเรื่องนี้ โดยเข้าพูดคุยกับ นาย ว. (ขอสงวนนาม) อดีตนายพราน ที่เคยเข้าป่าหาไม้หอมในเขตป่าทับลาน - เขาใหญ่ ซึ่งนาย ว. เล่าว่า ยึดอาชีพพรานหาไม้หอมมานานแล้ว เมื่อก่อนรวมตัวกันเข้าป่าเพื่อหาไม้หอมส่งขายนายทุน ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีคนทำอยู่ เพราะขายได้ราคาดี

การเข้าป่าหาไม้หอมเป็นเหมือนอาชีพของชาวบ้านที่อยู่ติดป่า ซึ่งนอกจากชาวบ้านแล้ว ก็ยังมีนายทุนที่ไปว่าจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาหาไม้หอมอีกจำพวกหนึ่ง คนพวกนี้จะเข้าป่ากันครั้งละหลายสิบคน เข้าแต่ละครั้งนานเป็นสัปดาห์ มีการจัดเตรียมเสบียงอาหารพร้อมสรรพ ซึ่งนอกจากไม้หอมแล้ว บางคนยังมีเป้าหมายในการตัดไม้พะยูงอีกด้วย

เมื่อถึงพื้นที่เป้าหมายกลางป่าลึก จะเลือกต้นกฤษณาต้นใหญ่ โดยใช้ความชำนาญในการดูเนื้อไม้ และแผลที่เกิดตามธรรมชาติ หากมั่นใจว่าต้นไหนมี "ไม้แก่น" ก็จะทำการโค่นทันที เพื่อผ่าหาไม้แก่นสีดำ ซึ่งถือว่าราคาดีที่สุด พอได้มาก็จะหั่นเป็นชิ้น ใส่ในเป้สนามแล้วช่วยกันขนลงมาจากเขา มีนายทุนมาคอยรับเพื่อนำไปขายต่อที่โรงงาน

...

มีโรงงานหลายแห่งรอรับในย่าน อ.ประจันตคามและรอบๆ เขาใหญ่!??

อดีตพรานไม้หอม ยังเล่าย้อนถึงวิธีการสวมไม้ด้วยว่า ส่วนขั้นตอนของนายทุนที่จะสวม "ไม้ป่า" แทน "ไม้ปลูก" เวลาส่งขายนอกประเทศนั้น คือขั้นตอนหลังการขออนุญาตจากไซเตส แล้วนำไม้หอมกลับมารอการส่งออก "จุดนี้นายทุนจะทำการเปลี่ยนไม้หอม โดยเอาไม้ป่าสวมแทน เนื่องจากไม่มีการตรวจสอบพิสูจน์ที่มา ซึ่งไม้ป่าจะขายได้ราคาดีกว่า เพราะเป็นที่ต้องการของลูกค้า และนอกจากนี้ ยังมีการสวมรอยเข้าประเทศด้วย มีอยู่ 2 เเบบด้วยกัน คือ เข้ามาเเบบตรงๆ จากชายเเดนแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ส่วนทางใต้ คือ ยะลา ปัตตานี แล้วเข้ากรุงเทพฯ กับอีกพวกหนึ่งคือนำเข้ามาจากต่างประเทศ ผ่านมาทางด่านทั่วไป ใช้วิธีติดสินบนเจ้าหน้าที่บางหน่วยงาน หิ้วมาเท่าไร ก็จ่ายไปเท่านั้น ก่อนนำไปขายตามท้องตลาด"

...

มาถึงย่อหน้าสุดท้าย "ทีมข่าวไทยรัฐ" ย้ำว่าจะยังคงเดินหน้าตีแผ่ขบวนการค้าไม้หอมต่อไป เพื่อปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ผืนป่าและธรรมชาติที่กำลังถูกทำลาย ซึ่งประเด็นสำคัญของขบวนการค้าไม้หอม นั่งคือต้องมีการพิสูจน์ให้ได้ ว่าไม้ที่ถูกส่งออกขาย เป็น "ไม้ปลูก" หรือ "ไม้ป่า" ที่มีการสวมรอยหรือไม่ และนอกจากนี้ ยังมีการบ้านข้อใหญ่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบดำเนินการ นั่นคือการจัดการกับขบวนการค้าไม้หอมผิดกฎหมาย

เพื่อนำธรรมชาติและผืนป่ากลับมาสู่สังคมไทย !??

ทีมข่าวไทยรัฐ รายงาน

อ่านเพิ่มเติม