นายกฯ ย้ำ ไทยพร้อมเป็นเพื่อนบ้าน และหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ดีในภูมิภาค-ประชาคมโลก เพื่อให้โลกอีก 15 ปีข้างหน้า ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน
วันที่ 23 พ.ย. เวลา 09.30 น. ณ ห้องรอยัล ออร์คิด บอลรูม โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับและแสดงวิสัยทัศน์ทิศทางการพัฒนาของประเทศไทย ในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ และนิทรรศการระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันแนวปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกสู่การปฏิบัติ ครั้งที่ 2 (ICAD 2)
ภายหลังจากที่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา องค์ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดนิทรรศการด้านการพัฒนาทางเลือก ณ ลานแสดงนิทรรศการ โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน และทรงมีพระดำรัสเปิดการประชุมฯ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในนามรัฐบาลไทย ยินดีที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศ และกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ และนิทรรศการระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันแนวปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกสู่การปฏิบัติ การประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมที่ให้ทั้งทฤษฎี และแนวทางการปฏิบัติ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ภายหลังจากการที่ประชาคมโลกได้รับรองวาระการพัฒนาใหม่ การพัฒนาทางเลือกเป็นรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาชุมชน ที่มีจุดมุ่งหมายให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เคารพในสิทธิของผู้อื่น และคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากยุคโลกาภิวัฒน์ ทำให้เกิดการเชื่อมโยง และเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด ขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดความท้าทาย และปัญหาต่างๆ มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร ผู้ด้อยโอกาสยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข การศึกษา และความคุ้มครองทางสังคมได้อย่างทั่วถึง ประชาชน ยังมีปัญหาเชิงคุณภาพ ทั้งด้านสุขภาพ การเรียนรู้ คุณธรรม และจริยธรรมถดถอยลงในสังคมไทย การแพร่ระบาดยาเสพติดในหมู่เด็กและเยาวชนทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นปัญหาสำคัญในการพัฒนาประเทศ
...
รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาส และการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน โดยกำลังเดินหน้าวางรากฐานการพัฒนา รวมทั้งวางแผนการปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้าน ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศ เปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง ตามวิสัยทัศน์ของประเทศ 2015-2020 “ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง ประชาคมยั่งยืน”
ในการพัฒนาประเทศ รัฐบาลยึดแนวคิด “คนเป็นศูนย์กลาง” เนื่องจากคนเป็นสาเหตุหลัก และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรัฐบาลเน้นการพัฒนาแบบบูรณาการ และเป็นองค์รวม เพื่อให้เกิดความสมดุล โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง มีความพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี
ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนต้องดิ้นรนเพื่อการดำรงชีพ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คนหันหน้าเข้าหายาเสพติด อาชญากรรมที่เกี่ยวกับยาเสพติดนั้นมีความเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมในรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะอาชญากรรมข้ามชาติ และอาชญากรรมเศรษฐกิจ ดังนั้น การแก้ไขปัญหายาเสพติดจำเป็นที่ต้องได้รับการแก้ไขจากพื้นฐาน นั่นคือ ความยากจน และความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกัน พัฒนาคุณภาพชีวิต และเมื่อแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร ก็จะทำให้เกิดความมั่นคงตามมา
กว่า 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาการลักลอบปลูกฝิ่น โดยชาวเขาเผ่าต่างๆ ในภาคเหนือ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ โดยในปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดตั้งมูลนิธิโครงการหลวงพัฒนาชาวเขา อาศัยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ ส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและผืนป่า และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในชุมชน และมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของชุมชน
โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำว่า รัฐบาลพร้อมเป็นเพื่อนบ้าน และหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ดีในภูมิภาค และประชาคมโลก เพื่อให้โลกในอีก 15 ปี ปราศจากความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ประชาชนมีความเข้มแข็ง ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายที่จะร่วมสร้างสังคมนานาชาติที่มีคุณภาพชีวิต โดยประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคสามารถเชื่อมโยง และร่วมกันพัฒนาศักยภาพ เตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาข้ามชาติ ปัญหายาเสพติด การก่อการร้าย การสาธารณสุข และการเตรียมรับมือกับความพร้อมต่อภัยพิบัติ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างยั่งยืนในภูมิภาคนี้
การพัฒนาถือเป็นรากฐานของทุกสิ่ง โดยตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ไทยให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาทางเลือกอย่างยั่งยืน เนื่องจากเป็นต้นแบบที่เห็นได้ชัดอย่างเป็นองค์รวมถึงการเจริญเติบโต ทั้งทาง ด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ผ่านการสร้างงานที่มีคุณค่า ส่งเสริมการศึกษาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า หากทุกคนช่วยกัน ตามลักษณะประชารัฐ เริ่มจากทำให้ชุมชน ท้องถิ่น และประเทศมีความเข้มแข็ง สร้างความเชื่อมโยง ช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ ลดช่องว่างในการพัฒนาระหว่างประเทศ และช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถขจัดความยากจนได้เร็วขึ้น และจะช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ถือเป็นแนวทางที่สำคัญ ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาในทุกมิติ
โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวอวยพรให้การประชุมประสบผลสำเร็จ และบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ทุกประการ