จากกรณีปัญหาขยะในทะเลบริเวณหน้าชายหาดกะรน อ.เมืองภูเก็ต ถูกเผยแพร่เป็นคลิปในโซเชียลมีเดียเมื่อหลายวันก่อน ส่งผลให้หลาย หน่วยงานต้องร่วมแก้ปัญหา พร้อมทั้งหาแนวทาง สร้างจิตสำนึกให้ผู้ประกอบการประชาชน ทั้งทางเรือและบนบก เพื่อหยุดการทิ้งขยะอันจะเกิดผลร้ายต่อทรัพยากรและการท่องเที่ยว ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 22 พ.ย. ว่า ได้สอบถามไปยังนายถาวร จิระพัฒนโสภณ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ผู้รับผิดชอบดูแลเตาเผาขยะมูลฝอย เทศบาลนครภูเก็ต ซึ่งเป็นเตาเผาขยะเพียงแห่งเดียวของจังหวัดที่รองรับขยะทั่วจังหวัดมากำจัด ว่าขณะนี้ขยะในพื้นที่ที่เข้ามายังโรงเผาขยะนั้นเริ่มเกินจาก 700 ตันต่อวัน เกินจากที่ระบบสามารถรองรับได้ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น 7-15 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 800 ตันในปีหน้า ต้องใช้ระบบจัดการคัดแยกขยะจากต้นทาง-ปลายทาง และยังมีแนวโน้มว่าอาจเพิ่มเป็น 1,000 ตันต่อวันในอีก 5 ปีข้างหน้า

“ขยะฝังกลบมีคงค้างอยู่ในบ่อฝังกลบทั้ง 5 บ่อรวมประมาณ 1 ล้านตัน ขณะนี้เตาเผาขยะมีอยู่ 3 เตา สามารถใช้งานได้เพียง 2 เตา ซึ่งเป็นเตาใหม่มีบริษัท พีเจที เทคโนโลยี จำกัด เข้ามาดำเนินการก่อสร้างและเปิดใช้งานพร้อมผลิตกระแสไฟฟ้าสามารถเดินระบบได้เต็มประสิทธิภาพ ส่วนเตาเผาเดิมขนาด 250 ตันต่อวันที่ใช้งานมาเป็นระยะเวลา 15 ปี และโรงเผาขยะมีสภาพชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ตามปกตินั้น อยู่ระหว่างของบประมาณซ่อมแซม 530 ล้านบาทจากรัฐบาล ล่าสุดมีการอนุมัติงบประมาณซ่อมแซมแล้ว แต่อยู่ระหว่างทำ TOR กำหนดขอบเขตและรายละเอียดของงาน ก่อนจะเปิดให้ยื่นซองประมูลราคาก่อนสิ้นปีนี้ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2560 เมื่อสร้างเสร็จจึงจะสามารถรองรับประมาณขยะที่เพิ่มขึ้นไปอีกหลายปี” รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ตกล่าว

...

นายถาวรเผยอีกว่า ในส่วนของบ่อขยะทั้ง 5 บ่อ ซึ่งมีขยะอยู่กว่า 1 ล้านตันนั้น อาจต้องใช้ระบบการฝังกลบแบบไม่มีวันเต็มเข้ามาช่วย มีการเติมจุลินทรีย์เพื่อให้เกิดการย่อยสลาย จะช่วยให้ลดปริมาณขยะได้ประมาณ 20-40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจจะเหลือขยะอยู่จริงเพียง 6 แสนตัน เมื่อซ่อมแซมเตาเผาเก่าแล้วเสร็จจะทยอยนำพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ 6 แสนตันนี้มาเผาตามกระบวนการ ซึ่งจะสามารถเผาได้วันละ 300 ตัน เป็นระยะเวลา 2 ปีจึงน่าจะหมด แต่กังวลอีกว่าขยะที่เข้ามาใหม่นั้นจะสร้างปัญหาใหม่ จึงต้องกลับไปทบทวนโครงการลดขยะต้นทางในชุมชนมากขึ้น อย่างไร ก็ตาม ที่ผ่านมาทางเทศบาลได้มีการรณรงค์ให้มีการลดขยะจากต้นทาง โดยเฉพาะขยะสดจากครัวเรือน โดยทำโครงการแจกถังหมักปุ๋ยอินทรีย์ครัวเรือนหรือถังขยะไม่มีวันเต็ม ทำปุ๋ยหมักใช้ในครัวเรือน ทำโครงการลดขยะจากต้นทางร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ยังต้องมีการพูดคุยขอความร่วมมือแต่ละท้องถิ่นไปอย่างต่อเนื่อง.