"นายกฯ" เสนอแนวคิดผู้นำร่วมภายใต้ Thailand+1-ASEAN+ พร้อมสั่งการทีมประเทศไทย มาเลย์ ทำงานบูรณาการ เน้นการศึกษาศักยภาพประเทศคู่ค้า สร้างหุ้นส่วน เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 20 พ.ย.58 เวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้มอบนโยบายทีมประเทศไทย ประจำมาเลเซีย ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการ ทหาร และผู้แทนรัฐวิสาหกิจไทย ประจำมาเลเซีย
โดย พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญภายหลังเสร็จสิ้นการหารือว่า เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้รายงานความก้าวหน้าการทำงานของทีมประเทศไทยว่า ได้ให้ความสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ไทยและมาเลเซีย ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจพร้อมเชิญชวนมาเลเซียเพิ่มการลงทุนในไทย โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษ การส่งเสริมการขนส่งผ่านด่าน ขณะเดียวกัน ไทยพร้อมก็จะเรียนรู้ประสบการณ์และหลักปฏิบัติที่ดีของมาเลเซียในการพัฒนาสินค้ายางพารา ปาลม์น้ำมัน อุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา อุตสาหกรรมฮาลาล สำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้น นักท่องเที่ยวมาเลเซียยังเดินทางไปท่องเที่ยวตามปกติ แม้ค่าเงินริงกิตจะอ่อนค่าลงปัจจุบัน
สำหรับความร่วมมือด้านความมั่นคงนั้น ยังคงติดตามการแก้ปัญหาบุคคลสองสัญชาติ ความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองด้านความมั่นคง การดูแลนักเรียนนักศึกษาไทย โดยสถานเอกอัครราชทูตได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์ดำรงธรรม โดยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งดูแลคนไทยที่กระทำความผิดที่มาเลเซียด้วย
ทั้งนี้ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ประจำกรุงกัวลาลัมเปร์ ได้รายงานถึงความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกองทัพสองประเทศว่า เพื่อส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงในภูมิภาค และเชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาความรุนแรงในภายใต้ และการช่วยดูแลนักเรียนนักศึกษาของไทยที่เข้ามาศึกษาในมาเลเซีย
...
โอกาสนี้นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณทีมประเทศไทยและชี้แจงถึงการทำงานของรัฐบาลว่า วันนี้เข้ามาทำหน้าที่ เพื่อให้ประเทศชาติมีเสถียรภาพ ตามแนวคิด "มั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน" ซึ่งความมั่นคงถือเป็นต้นทางของการสร้างความเจริญเติบโตต่างๆ ขณะเดียวกัน รัฐและประชาชนทุกระดับต้องมีความเข้มแข็ง เพื่อให้สามารถเติบโตไปด้วยกัน คือ ประชารัฐ เมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศก็แก้ปัญหาเร่งด่วนที่คั่งค้าง อาทิ ปัญหาประมง ปัญหาการบิน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปฏิรูปโครงสร้างและเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลเน้นส่งเสริมศักยภาพไทยมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ อาทิ อาหาร พลังงาน การท่องเที่ยว ด้านสุขภาพ ไทยจะต้องสร้างความเข้มแข็ง โดยเฉพาะ ภาคการเกษตรของไทย โดยใช้หลักการเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งการส่งเสริมศักยภาพเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไทยในภูมิภาค
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญคือการทำงานอย่างเป็นบูรณาการ โดยขอให้ทีมประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเศรษฐกิจ มั่นคง หรือข้าราชการการทูต จะต้องรู้ข้อมูลรอบด้านเท่าเทียมกันทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความมั่นคง เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างบูรณาการ
สำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศนั้น ขอให้ไทยเป็นผู้นำร่วมภายใต้แนวคิด Thailand +1 ASEAN + Thailand และ ASEAN + ประชาคมโลก World Community เชื่อมโยงกัน ในทุกระดับเวทีความร่วมมือทั้ง เขตการค้าเสรีในทุกระดับ อาทิ เพื่อให้อาเซียนเข้มแข็ง ซึ่งไทยจะต้องพัฒนาความพร้อมมีกลไก สร้างพลวัต ค้นหาและพัฒนาศักยภาพ ของตนเอง ไปพร้อมกับการศึกษาประเทศคู่ค้าที่ความแตกต่าง เพื่อสร้างสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพราะการพัฒนาต้องมีสองระดับ ทั้งการพัฒนาภายในประเทศ และการพัฒนาการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ซึ่งจะต้องมีความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพราะประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) เป็นทั้งโอกาสซึ่งไทยจะต้องให้ความสำคัญ
นายกรัฐมนตรียังได้ให้แนวทางในการจัดการประชุมร่วมไทย-มาเลเซีย เพื่อให้มีความคุ้นเคยและใกล้ชิดกันมายิ่งขึ้น รวมทั้งยังส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อแสวงหาโอกาสและลู่ทางการค้าการลงทุนระหว่างไทย-มาเลเซีย มากยิ่งขึ้น สร้างเครือข่าย สร้างหุ้นส่วน การดึงดูดการค้าการลงทุน รัฐบาลได้สนับสนุนสิทธิประโยชน์การลงทุน BOI ทั้งลักษณะ กลุ่มอุตสาหกรรม cluster super cluster ทั้งพื้นที่ทั่วไปและในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย เพื่อประโยชน์ของประเทศและชุมชนในพื้นที่ รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนทั้งเงินทุนและนวัตกรรม เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยและสินค้า OTOP เพราะเศรษฐกิจต้องเริ่มจากชุมชน ส่วนด้านการศึกษานั้น นายกฯขอให้ช่วยดูแลนักเรียนไทยในมาเลเซีย พร้อมดูแลการหางานหลังจบการศึกษา
สำหรับความร่วมมือด้านความมั่นคงนั้น ไทยและมาเลเซียยืนยันความร่วมมือ ทั้งการแก้ไขบุคคลสองสัญชาติ รวมทั้งมาตรการแก้ปัญหาการการสัญจร การจัดระเบียบ การวิ่งรถข้ามแดน ยืนยันการเจรจาเพื่อสันติสุข เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความรุนแรงภาคใต้ ยุทธศาสตร์ และการปฏิบัติ ซึ่งจะต้องทำควบคู่กับการให้ความรู้ข้อมูลแก่ประชาชน และเยาวชนในพื้นที่ด้วย ซึ่งจะเป็นแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า ทุกประเทศต้องเป็นประชาธิปไตย รวมทั้งไทยแต่จะต้องดูความเหมาะสมและบริบทภายในของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งรัฐบาลได้เดินตามกรอบ Roadmap เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งอย่างแน่นอน.