ยินดีหนุน เข้าสู่ปชต. มีชัยโวสั่ง กรธ.ไม่ได้
“มีชัย” ลั่นข้อเสนอแนะ 10 ข้อ คสช.ชี้นำ กรธ.ไม่ได้ ระบุแม้จะเป็นข้อเสนอจากของ คสช.ก็ไม่ต่างจากข้อเสนอของฝ่ายอื่นๆที่ กรธ.จะรับฟังให้น้ำหนักการพิจารณาเท่ากันหมด ย้ำไม่มีพิมพ์เขียว มีแต่กระดาษเปล่าๆ ออกแบบเองทั้งนั้น ยืนกรานไม่ตั้งธงช่วยหรือกระทืบพรรคการเมืองไหน เล็งตัดต่อ “มาตรา 7” มาใส่เงื่อนไขชัดๆไว้ใน รธน. ย้ำไม่มีความคิดตั้งองค์กรใหม่ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ระบุอยากให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดวิกฤติการเมือง กรธ.ใกล้ได้ข้อสรุปไม่เอา ส.ว.เลือกตั้ง-สรรหา ใช้เลือกตั้งทางอ้อม ยังหมุนไม่ลงวิธีคำนวณที่นั่ง ส.ส. พท.ถล่มยับข้อเสนอ คสช.สร้างภูมิคุ้มกันพิเศษ ชี้นำสร้างองค์กรคล้าย คปป. ตั้งข้อสงสัยเงื่อนไขนิรโทษตั้งใจจะทำอะไรอีก พร้อมถอดรหัสแนวทางยกร่าง กรธ.ไม่ต้องการคืนอำนาจประชาชน เพาะเชื้อโรคให้รัฐบาลใหม่ง่อยเปลี้ยเสียขา เปิดทางนายกฯคนนอก นปช.ชี้ข้อเสนอ คสช.กลบข่าวอุทยานราชภักดิ์ ขณะที่ ปชป.ไม่เห็นด้วยทหารถือปืนลงมาคลุกการเมือง สนช.เห็นชอบแล้วตั้ง 5 อรหันต์ ป.ป.ช. “โอบามา” ห่วงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย “บิ๊กตู่” แจงดูอยู่แล้ว แต่มีพวกไม่หวังดีกุข่าวทำเสื่อมเสีย
สืบเนื่องจากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ 10 ข้อมายังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แม้จะมีมาตรา 35 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวตีกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญไว้แล้วก็ตาม ล่าสุดก็เป็นไปตามคาดว่าบรรดาพรรคการเมืองได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างหนัก ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ยืนยันว่า ไม่มีความเห็นใดชี้นำ กรธ.ได้ ข้อเสนอของ คสช.หรือใครก็ตาม กรธ.ล้วนรับฟังเท่ากันทั้งหมด
...
อนุ กรธ.จัดสัมมนารับฟังความเห็น
เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 19 พ.ย. ที่รัฐสภา คณะอนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะ ในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนา เรื่อง “การรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มเฉพาะต่อร่างรัฐธรรมนูญ” โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เข้าร่วมด้วย มีตัวแทนจากกลุ่มต่างๆมาร่วมเสนอความคิดเห็น อาทิ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย มูลนิธิสถาบันการศึกษาและพัฒนาการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ฝ่ายกิจการสตรี เยาวชน และครอบครัว ของมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชมรมผู้ประกอบการโฮสติ้ง มูลนิธิเพื่ออินเตอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง
ประธาน กรธ.ยันไม่มีพิมพ์เขียว
นายมีชัยกล่าวเปิดสัมมนาตอนหนึ่งว่า กรธ.ที่ตั้งขึ้นมาจำนวน 21 คน มาด้วยกระดาษเปล่า มีคนถามว่ามีโผหรือพิมพ์เขียวหรือไม่ เราก็นึกภาวนาว่าถ้ามีก็ดี จะได้ทำงานน้อยไม่ต้องไปคิดอะไร แต่ปรากฏว่าให้กระดาษเปล่า พร้อมกับกรอบจำนวน 5 ด้านเท่านั้น เรากำลังชั่งน้ำหนักว่าจะใส่อะไรบ้าง ภารกิจของ กรธ.จึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ สิ่งหนึ่งที่ กรธ.คิดคือประเทศมีปัญหาอะไร เกิดจากอะไรจะได้ไปปฏิรูปกันถูก การศึกษาและกลไกของตำรวจคือสิ่งที่ทำให้ประเทศเดินไปไม่ได้ ถ้ากฎหมายที่ออกมาแล้วไม่มีการบังคับใช้หรือบังคับตามใจตนหรือเจ้านาย ตามใจผู้มีอิทธิพลมันก็ไม่เกิดความสงบเรียบร้อย
ออก ก.ม.มากแต่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ก็ไร้ค่า
“ที่ผ่านมากลุ่มเอ็นจีโอเรียกร้องกฎหมายนั้นกฎหมายนี้ แต่รู้หรือไม่ว่ากฎหมายนั้นไม่เคยสร้างประโยชน์แก่สังคม เป็นเพียงเครื่องผูกมัดคนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ยิ่งมีกฎหมายมากเท่าใด ถ้าการบังคับทางกฎหมายไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ กฎหมายนั้นจะเป็นเพียงโซ่ตรวน ไม่ได้ช่วยสร้างสังคมให้ดีขึ้น เราจึงคิดว่าถ้าปฏิรูป 2 เรื่องนี้ไม่ได้ บ้านเมืองไม่ไปไหนแน่ รัฐธรรมนูญไม่มีทางสำเร็จ” นายมีชัยกล่าว
ไม่มีธงช่วย-กระทืบพรรคการเมือง
นายมีชัยกล่าวด้วยว่า ขอให้มั่นใจว่า กรธ.ไม่ฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ไม่ได้คิดว่าพรรคใดได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ เรามองเฉพาะกลไกที่เอื้อต่อประชาชนอย่างแท้จริง เคารพสิทธิประชาชน เมื่อสิ่งที่เราทำนั้นสำเร็จ ประชาชนจะเลือกพรรคใด กรธ.ไม่เกี่ยวข้อง เพราะระบอบประชาธิปไตยเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ต้องยอมรับ กรธ.ไม่ได้คิดเอาใจช่วยพรรคใดโดยเฉพาะ อยากขอร้องเวลาที่เสนอแนะกระบวนการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ขอให้วางพักทิ้งไว้ที่บ้านแล้วมาตัวเปล่า คิดว่าบ้านเมืองจะดีได้อย่างไรด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญ จากนั้นเราจะได้ชื่อว่าทำงานโดยมุ่งประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม
สารพัดองค์กรแทงข้อเสนอ กรธ.
จากนั้นแต่ละกลุ่มได้แสดงความเห็น โดยตัวแทนจากกลุ่มปฏิรูปด้านการศึกษา เสนอให้วางเป้าหมายการศึกษาและความรับผิดชอบกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายเฉพาะ กระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น ตัวแทนกลุ่มสื่อสารมวลชน เสนอให้มีบท บัญญัติไม่ให้มีการแทรกแซงสื่อ นำข่าวไปเซนเซอร์ก่อนออกอากาศ รวมทั้งปิดกั้นการเสนอข่าว มีมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้สมัครทางการเมืองแทรกแซงผู้ประกอบการสื่อได้ และที่สำคัญสุดการประกันเสรีภาพสื่อวิทยุโทรทัศน์ หลังมีแนวคิดให้ กสทช.ไปอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาล ขณะที่กลุ่มสมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์ไทย เสนอให้บรรจุเรื่องการให้สิทธิประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ไม่ปิดกั้นสื่อออนไลน์ใหม่ๆ เพราะมีดัชนีชี้วัดว่าไทยยังมีการเซนเซอร์เยอะมาก
“มีชัย” ลั่นไม่จำเป็นต้องทำตาม คสช.
ต่อมาเวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นประธานการประชุม กรธ. โดยก่อนเริ่มการประชุมได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสอบถามในประเด็น 10 ข้อเสนอแนะร่างรัฐธรรมนูญที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาให้ โดยก่อนตอบคำถาม นายมีชัยเอ่ยว่า ทุกข้อเสนอมีผลต่อการตัดสินใจของ กรธ. แต่ไม่มีข้อเสนอใดพิเศษกว่ากัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครส่งมา ต้องดูว่าข้อเสนอนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องการหรือไม่ สิ่งที่ คสช.เสนอมาทั้ง 10 ข้อ ไม่จำเป็นต้องทำตามทั้งหมด กรธ.ยังคงความอิสระ แต่บางเรื่องชัดเจนอยู่แล้ว เช่น ข้อ 7 ช่วงท้าย พูดถึงการใช้กำลังทหารโดยสุจริต เพื่อความมั่นคงของภาครัฐจากภัยที่มาจากภายในและภายนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง นั่นคือสิ่งที่อาจไม่ต้องเขียน เพราะกฎหมายอาญาเขียนไว้ชัดเจนแล้วว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายไม่ถือเป็นความผิด ข้อนี้ไม่ใช่การนิรโทษกรรม เป็นไปตามหลักสากล เช่น ในยามศึกสงคราม หากทหารพลาดยิงไปถูกคนที่ไม่ใช่ข้าศึก ก็ไม่ผิด
เล็งตัดต่อ ม.7 แก้วิกฤติผ่าทางตัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอที่ 6.ของ คสช.เสนอไว้เรื่องผ่าทางตัน ถ้าหากเกิดสุญญากาศทางการเมือง คือ ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ใช่หรือไม่ นายมีชัยตอบว่า คสช.ไม่ได้เขียนคำว่า คปป.เลย การเขียนรัฐธรรมนูญเผื่อไว้สำหรับการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเป็นหน้าที่เรา เริ่มคิดไว้แล้วบางส่วน เช่น หากเป็นวิกฤติธรรมดาอาจจะให้อยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เดาว่าที่ คสช.เสนอมาเพื่อแก้ปัญหายามไม่มีทางออก ที่ผ่านมาเห็นว่าก็ขอนายกฯมาตรา 7 กัน ซึ่งไม่ถูกต้อง คือความเข้าใจผิด ความหมายของมาตรานี้คือ เมื่อไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญ ก็จะให้ใช้ตามประเพณีการปกครอง แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 เขียนยืดยาวจนเกินขอบเขตประเพณีการปกครองไปแล้ว ก็จะไม่แก้ปัญหา แต่คนยังเรียกร้องนายกฯใหม่ตามมาตรา 7 เพื่อจะไปแทนนายกฯเก่าที่ไม่ลาออก เราจึงทำความเข้าใจใหม่ด้วยการตัดมาตรา 7 ส่วนนั้นทิ้ง กำลังดูอยู่ว่าจะเอาเนื้อหาที่ตัดนี้ไปไว้ตรงไหน เพื่อให้เป็นประโยชน์กับการแก้วิกฤติมากที่สุด อย่างไรก็ตาม หากเราเขียนไว้ก็จะกำหนดวิธีใช้ไว้โดยละเอียด แต่ตอนนี้ยังคิดไม่ออก ยังไปไม่ถึงส่วนนั้น
ไม่คิดตั้งองค์กรใหม่ถ้าไม่จำเป็น
เมื่อถามว่า จะมีองค์กรใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แก้วิกฤติการเมืองหรือไม่ นายมีชัยตอบว่า ปัญหานี้อยากให้ศาลทำหน้าที่ ถ้าไม่เป็นศาลปกครอง ก็ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ก็องค์กรอิสระ อาจจำเป็นต้องมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งคอยชี้ แต่ถ้าองค์กรที่มีอยู่ใช้ไม่ได้จริงๆอาจต้องสร้างองค์กรใหม่แต่ กรธ.ขอยืนยันว่าหลักคิดเราไม่อยากให้มีตั้งองค์กรใหม่ กำลังพยายามนำกลไกทั้งหมดที่มีอยู่ ผูกโยงกันเพื่อให้แก้วิกฤติการเมืองได้อย่างไร กรธ.ไม่มีแนวคิดตั้งองค์กรใหม่ ผมเพียงแค่ตอบคำถามที่สื่อถาม ถ้าพรุ่งนี้มีสื่อไปพาดหัวข่าวว่า กรธ.จะตั้งองค์กรใหม่ในรัฐธรรมนูญ ผมจะแช่ง เพราะหลักการจริงๆ ยังไม่ได้คิด ยังไม่พูดคุยกันไปถึงตรงนั้น
แย้มใส่สูตรนับคะแนนใน ก.ม.ลูก
“เราไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญแก้ไขยาก แต่ต้องไม่แก้ไขง่ายเหมือนกฎหมายธรรมดา เพื่อคงความเป็นกฎหมายสูงสุดเอาไว้ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปย่อมต้องมีการแก้ไข ต้องไม่ตายตัว เช่น สูตรการนับคะแนนเสียงเลือกตั้ง จะใส่ไว้ในกฎหมายลูก หากอนาคตมีใครคิดวิธีนับคะแนนที่ดีกว่าได้ ก็ไปแก้ไขในกฎหมายลูก ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ สรุปคือ เรากำลังพยายามจะหากลไกให้การแก้ไขต้องได้รับความยินยอมจากทุกภาคส่วน แต่อาจไม่ใช่จากการทำประชามติ” ประธาน กรธ.กล่าว
ออกตัวให้ คสช.ไม่อยากปฏิวัติอีก
เมื่อถามว่า ในฐานะสมาชิก คสช.ข้อเสนอทั้ง 10 ข้อ คสช.ต้องการอะไร นายมีชัยตอบว่า ให้เดาคือ คสช.เห็นว่าเมื่อเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้น ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งเรียกให้ทหารออกมา ทั้งที่ทหารไม่อยากออกมา แต่พอไม่ออกก็จะถูกกล่าวหาว่ากองทัพไม่ยอมทำเพื่อประเทศ จนที่สุดก็ต้องออกมา คสช.จึงอยากให้เขียนทางออก เพื่อที่กองทัพจะไม่ต้องออกมาอีก ซึ่งแบบนี้ไม่ได้จำเป็นต้องไปมอบอำนาจเต็มให้แก่ใคร เช่น เมื่อปัญหาเกิดขึ้น ก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผลที่ออกมาเป็นอย่างไรก็จบ หวังว่าเราจะแก้ปัญหานี้ออก ไม่อยากใช้แนวทางเหมือนคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่ผ่านมา เนื่องจากหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย
กรธ.เล็งเลือกตั้งทางอ้อม ส.ว.
เวลา 15.00 น. นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงผลการประชุมคณะกรธ.ว่า ที่ประชุมยังพิจารณาเรื่องที่มา จำนวน คุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง และอำนาจหน้าที่วุฒิสภาไม่เสร็จสิ้น แต่เบื้องต้นมีหลักการตรงกันว่าไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเข้ามาครอบงำ คาดว่าจะไม่เอาการเลือกตั้งโดยตรง เพราะจะมีการเมืองมาเกี่ยวข้อง เนื่องจากผู้สมัคร ส.ว.ต้องไปหาเสียง ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่ต้องการระบบสรรหา เนื่องจากทำให้เกิดความไม่ประทับใจ เพราะผ่านการเลือกเพียงไม่กี่คน ดังนั้น ทางออกที่คาดว่า กรธ.จะเลือกใช้ และมีแนวโน้มเป็นไปได้มากที่สุดคือการเลือกตั้งทางอ้อม โดยกำลังพิจารณารูปแบบ อาจให้กลุ่มสังคมพื้นที่คัดเลือกกันเอง เป็นต้น
ยังเขย่าไม่ลงวิธีคำนวณที่นั่ง ส.ส.
นายอุดมกล่าวว่า ที่ประชุมยังพิจารณาเรื่องการคำนวณเพื่อปรับจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่เกินจำนวนที่นั่ง (over hang) 150 ที่นั่ง ให้สอดคล้องกับสัดส่วนที่ได้รับ โดยขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จแต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าจะไม่ปล่อยไหลจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเกิน 150 ที่นั่ง เนื่องจากมีความไม่แน่นอนและ เป็นจารีตมานานแล้วที่มีจำนวน ส.ส.แน่ชัด และที่ประชุมมีความเป็นห่วงในกรณีพรรคที่ได้คะแนน ส.ส.เขตมาก แต่เมื่อไปคำนวณใน ส.ส.บัญชีรายชื่อกลับทำให้ได้ที่นั่งในภาพรวมน้อยกว่าพรรคที่ได้คะแนนส.ส.เขตต่ำกว่า เนื่องจากพรรคแรกได้สัดส่วนเพียงพอแล้ว ดังนั้น กรธ. ต้องไปคำนวณหาวิธีการให้ได้ความเป็นธรรมมากที่สุด
ฉะกองทัพสร้างภูมิคุ้มกันพิเศษ
ด้านความเคลื่อนไหวพรรคการเมือง นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี คสช.ส่งข้อเสนอแนะการร่างรัฐธรรมนูญ 10 ข้อถึง กรธ.ว่า ดูแล้วเป็นธงที่อยากให้ กรธ.ทำตาม โดยเฉพาะการให้ระบุในรัฐธรรมนูญถึงกลไกพิเศษเป็นช่องทางผ่าทางตันในช่วงประเทศเกิดวิกฤติ หาทางออกไม่ได้ ถือเป็นความพยายามหาทางให้มีองค์กรในลักษณะ คปป.เกิดขึ้นมาอีก และเชื่อว่าคงจะมีการหยิบยกมาใส่ รวมถึงกรณีที่เสนอให้การใช้กำลังทหารโดยสุจริต เพื่อความมั่นคงของรัฐไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง อาญา และทางปกครองนั้น ปกติตามระเบียบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายต่างๆชัดเจนอยู่แล้วว่า หากเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต จะไม่มีความผิด การเสนอให้เขียนในรัฐธรรมนูญเช่นนี้แสดงว่ามีความคิดที่จะทำอะไรอีกหรือไม่ เลยต้องการภูมิคุ้มกันพิเศษ กังวลว่าข้อเสนอเหล่านี้ของ คสช. หากนำไปใส่ในร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้ฝ่ายไม่เห็นด้วยต้องไปรณรงค์ไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ จนทำให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดระหว่างสองฝ่ายอีก
ห่วงทำทหารแตกแยกกันเอง
นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรธ.ไม่ควรนำข้อเสนอของคสช.มาเขียนใส่ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องการใช้อำนาจของกองทัพที่ไม่ต้องรับโทษทุกทาง หากเป็นการทำเพื่อความมั่นคงของประเทศ เพราะปกติแล้วหากมีเหตุที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ทหารมีอำนาจ ประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินบังคับใช้ได้อยู่แล้ว ดูแล้วมีเจตนาต้องการสร้างอำนาจให้ตัวเองหรือไม่ ส่วนกรณีให้ทหารมีเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองนั้น ปกติแล้วทหารมีสิทธิเสรีภาพแสดงความเห็นเรื่องต่างๆอยู่แล้ว เพียงแต่กองทัพไปสร้างกฎเกณฑ์ข้อบังคับไม่ให้ทหารแสดงออกทางการเมือง เพราะทหารถืออาวุธ จึงต้องมีความระวังในการแสดงความเห็นทางการเมือง เพื่อไม่ให้สังคมหวาดระแวง แต่ถ้าไปเขียนในรัฐธรรมนูญให้ทหารมีสิทธิเสรีภาพแสดงออกทางการเมืองได้เต็มที่ เกรงว่าจะยุ่งไปกันใหญ่ อาจทำให้ทหารเกิดการแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน