ขอเสรีภาพทหาร นิรโทษฯกองทัพ บรรจุในร่างรธน.

กรธ.เอาแน่ ส.ว.สรรหายกพวง โอ่โมเดลที่มาหลายสูตรสกัดการเมืองแทรกแซง ส่งสัญญาณชัดเลือกตั้งโดยตรง ส.ว.เป็นทางเลือกสุดท้าย เปิดช่องยื่นอุทธรณ์ศาลฎีกานักการเมืองได้ใน 30 วัน พท.ค้านแหลก ส.ว.ลากตั้ง ซัดหวนคืนวงจรวิ่งเต้นซื้อตำแหน่ง เย้ยไม่ผ่านเวทีเลือกตั้งก็โละไปเลย กมธ.การเมือง สปท.ชงหั่นทิ้ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ขจัดนายทุนครอบงำ รับเงินบริจาคไม่ถูกต้อง “เสรี” ให้เจอโทษหนักยุบพรรค หน.คสช.ส่งหนังสือถึงมือ “มีชัย” จัดหนัก 10 ข้อเสนอแนะพิมพ์เขียว สั่งกำหนดกลไกผ่าทางตันแก้วิกฤติ ตั้งกฎเหล็กแก้ไขเพิ่มเติม-วางเงื่อนไขป้องกันล้มล้างฉีก รธน. นิรโทษฯกองทัพใช้กำลัง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง-อาญาและทางปกครอง ทวงลั่นสิทธิเสรีภาพทหาร ห้ามลิดรอนการแสดงออกทางการเมืองข้าราชการทหาร ให้นายกฯอยู่แค่ 2 วาระสกัดเผด็จการทางการเมือง

จากกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทยอยเสนอรูปแบบระบบการเลือกตั้งและกำหนดที่มาของ ส.ส.และ ส.ว. รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งยังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายตามมาไม่ขาดสาย ขณะที่ล่าสุดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ส่งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญมายัง กรธ.ด้วย

กรธ.วางหลักศาลอิสระ–ปลอดอคติ

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 18 พ.ย.ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาที่มาของ ส.ว.และในส่วนของศาลยุติธรรม จากนั้นเวลา 15.15 น.นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ. แถลงว่า ที่ประชุม กรธ.กำหนดหลักการว่าด้วยบททั่วไปของศาล อาทิ การพิจารณาพิพากษาคดี การจัดตั้งศาล โดยมุ่งเน้นการทำหน้าที่ของศาล ต้องมีความอิสระ รวดเร็ว เป็นธรรม ปราศจากอคติ ส่วนหลักการเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม กำหนดให้การแต่งตั้ง การโยกย้าย การเลื่อนเงินเดือนหรือตำแหน่ง การบริหารงานบุคคล ควรต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เพื่อประกันความอิสระของผู้พิพากษา ปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

...

อุทธรณ์ศาลฎีกานักการเมืองใน 30 วัน

นายชาติชายกล่าวต่อว่า กรธ.ได้บัญญัติให้มีแผนกศาลฎีกาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเลือกผู้พิพากษาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 9 คน มาเป็นองค์คณะเพื่อพิจารณาเป็นรายคดี และกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องสามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ซึ่งผู้ถูกฟ้องจะอุทธรณ์ได้เฉพาะคดีที่เป็นข้อกฎหมาย หรือหากจะอุทธรณ์กรณีที่เป็นข้อเท็จจริง ต้องมีข้อเท็จจริงอันเป็นหลักฐานใหม่ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ แนวทางเป็นการให้ความเป็นธรรมเต็มที่ เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถอุทธรณ์ได้

เลือกตั้งตรง ส.ว.เป็นหนทางสุดท้าย

นายชาติชายกล่าวอีกว่า ส่วนการพิจารณาประเด็นที่มาและจำนวนของ ส.ว.ยังไม่มีข้อสรุป ประเด็นนี้ละเอียดอ่อน แต่หลักการ กรธ.ต้องการให้ ส.ว.เป็นผู้รู้ มีสติปัญญา มาช่วยกลั่นกรองกฎหมาย ให้ความเห็นชอบคณะกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ ส่วนอำนาจถอดถอน เห็นว่าควรเป็นหน้าที่ของตุลาการ การออกแบบ ส.ว.ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง เบื้องต้นจำนวน ส.ว.ทาง กรธ.นำตัวเลขจากรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 มาพูดคุย แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะกำหนดจำนวนเท่าใด ส่วนวิธีการได้มาของ ส.ว.มีหลายสูตรทั้งแบบสรรหา การเลือกตั้งทางอ้อม และการเลือกตั้งโดยตรง การเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด กรธ.เห็นว่าคงเป็นแนวทางสุดท้ายที่จะเลือก เพราะจะทำให้ไม่ต่างจากเวที ส.ส. ส่วนการที่ กรธ.ตั้งสโลแกน “ร่วมคิด ร่วมร่าง ร่วมสร้างรัฐธรรมนูญใหม่” นั้นต้องการเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายเห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ใช่ของคน 21 คน แต่เป็นของประชาชนไทยทุกคน ความคิดเห็นต่างๆของประชาชนมีความหมายและมีความสำคัญ ส่งมาให้ กรธ.ได้เลย

คสช.ร่อน 10 ข้อความเห็นร่าง รธน.

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ คสช./491 ลงวันที่ 11 พ.ย.เรื่องขอความร่วมมือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อเสนอความเห็นการร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่ กรธ.ทำหนังสือขอรับความเห็นและข้อเสนอแนะต่อ คสช.มา โดยมีข้อเสนอแนะทั้งหมด 10 ข้อ ได้แก่ 1.ต้องมีบทบัญญัติสำคัญครบถ้วน มีข้อความชัดเจน ให้เกิดความเข้าใจได้ง่าย ไม่ใช้ถ้อยคำกำกวม ล่อแหลมต่อการตีความ ผิดๆ 2.รัฐธรรมนูญไม่ควรยาวเกินไป ควรบัญญัติเฉพาะหลักการจัดรูปแบบการปกครองของรัฐที่สำคัญและจำเป็น รัฐธรรมนูญที่มีรายละเอียดมากเกินไป จะทำให้การตีความยุ่งยากมากขึ้น ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย ควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมาย แต่รัฐธรรมนูญไม่ควรสั้นเกินไป จนขาดสาระสำคัญ

ให้มีกลไกผ่าทางตันยามวิกฤติ

3.ควรกำหนดวิธีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมาย เพื่อความยืดหยุ่นเหมาะสมกับกาลสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ป้องกันการล้มล้างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้กำลัง โดยเฉพาะการปฏิวัติรัฐประหาร 4.รัฐธรรมนูญควรครอบคลุมหลักการสำคัญของการเมืองการปกครอง มีกระบวนการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการเมืองอย่างรัดกุม มิให้บิดเบือนหลักการที่ถูกต้อง จนนำไปสู่การแก้วิกฤติการเมืองด้วยวิธีนอกระบบ 5.ต้องสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่อย่างแท้จริง ไม่ให้ประชาชนมีความสำคัญเฉพาะก่อนหรือหลังเลือกตั้งเท่านั้น 6.ปัญหาวิกฤติหรือข้อขัดแย้งทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ รัฐธรรมนูญอาจเกิดภาวะทางตัน ดังนั้นการร่างรัฐธรรมนูญควรบัญญัติช่องทางผ่าทางตัน เพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ด้วย โดยเฉพาะการเกิดปัญหาสุญญากาศ ด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

นิรโทษกองทัพใช้กำลังทหาร

7.นโยบายด้านความมั่นคงของรัฐต้องบัญญัติให้รัฐพิทักษ์ไว้ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภพแห่งเขตอำนาจรัฐ การใช้กำลังทหารโดยสุจริต เพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยที่มาจากภายในและนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง 8. ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหารต้องมีสิทธิเสรีภาพทุกด้านเช่นเดียวกับประชาชน ไม่ควรถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แม้กระทั่งสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง ด้วยเหตุแห่งอาชีพในการเป็นข้าราชการทหาร

คาดโทษเชือดคนโกงสถานหนัก

9. ควรกำหนดให้การดำรงตำแหน่งของนายก รัฐมนตรีมีวาระ 4 ปี และดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ เพื่อป้องกันการผูกขาด หรือเผด็จการทางการเมือง สอดคล้องกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตยของอารยประเทศ 10. ปัญหาการทุจริตต้องได้รับการต่อต้านและขจัดไปจากชาติ โดยผู้กระทำความผิดต้องถูกลงโทษอย่างหนักเฉียบขาด และรุนแรงเป็นค่านิยมที่จะต้องถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนและข้าราชการเกิดความสำนึกที่ดีต่อประเทศชาติ

กมธ.การเมืองชงโละ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวว่า ในการประชุม กมธ.ด้านการเมืองช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้หารือถึงแนวทางการปฏิรูประบบพรรคการเมือง และเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส. ในส่วนการปฏิรูปพรรคการเมือง สมาชิกเห็นตรงกันว่า ควรมีแนวทางให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง และลดบทบาทการครอบงำพรรคการเมืองจากนายทุนพรรค ซึ่งมีการเสนอแนวทางหลากหลายเช่น การยกเลิก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อขจัดปัญหานายทุนพรรค การควบคุมการใช้จ่ายเงินบริจาคของพรรคการเมือง หากพบว่าที่มาของเงินบริจาคไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องมีมาตรการลงโทษทางกฎหมายที่รุนแรง มีโทษสูงสุดคือการยุบพรรค ส่วนการปฏิรูประบบเลือกตั้ง ส.ส. มีการเสนอให้ผู้สมัคร ส.ส.ลงในนามอิสระได้ อย่างไรก็ตามแนวทางเหล่านี้เป็นเพียงข้อเสนอของสมาชิก ยังไม่ใช่ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ ต้องนำไปหารือกับ กรธ. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนนำกลับมาหารือกันที่ประชุมอีกครั้ง ส่วนในวันที่ 20 พ.ย. กมธ.การเมืองจะหารือเรื่องแนวทางแก้ปัญหาการซื้อเสียง

“สมพงษ์” ติง ส.ว.ควรมาจาก 2 ทาง

นายสมพงษ์ สระกวี สมาชิก สปท. กล่าวว่า ตนในฐานะเคยเป็น ส.ว.เลือกตั้ง อยากให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งมากกว่าแต่งตั้งในสัดส่วน 120 ต่อ 80 จะเป็นสัดส่วนที่ค่อยดูยึดโยงประชาชนมากกว่า ที่พูดเช่นนี้ ไม่ใช่รังเกียจ ส.ว.แต่งตั้ง แต่หากใช้สัดส่วนที่เสนอจะก้าวไปสู่ประชาธิปไตยได้มากกว่า อยากให้ส.ว.มาจากเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน เหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 ด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้ขอพบกันครึ่งทาง ไม่สุดโต่งทางใดทางหนึ่ง

“สุชน” หนุนริบอำนาจถอดถอนให้ศาล

นายสุชน ชาลีเครือ สมาชิก สปท.กล่าวว่า การกำหนดสัดส่วนและที่มา ส.ว. อยู่ที่ให้อำนาจมากแค่ไหน ถ้า ส.ว.มาจากแต่งตั้งทั้งหมด ควรให้กลั่นกรองกฎหมายอย่างเดียว ไม่ควรมีอำนาจถอดถอน แต่ถ้ามาจากเลือกตั้งทั้งควรให้อำนาจถอดถอนอย่างไร ก็ตาม ที่ผ่านมา เคยใช้ทั้งแบบแต่งตั้งทั้งหมด เลือกตั้งทั้งหมด หรือ เลือกตั้งผสมกับแต่งตั้ง ไหนๆจะปฏิรูปการเมืองของประเทศกันแล้ว ก็ให้สุดโต่งๆ ไปเลย โดยให้ใช้แนวทางใดแนวทางหนึ่งระหว่าง ส.ว.เลือกตั้งทั้งหมด กับ ส.ว.แต่งตั้งทั้งหมด อย่าไปลอกของเก่าๆ กันมาก แต่ต้องดูเรื่องอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะการถอดถอน ที่ กรธ.มีแนวคิดให้อำนาจการถอดถอน ไปอยู่ที่ตุลาการนั้นถูกต้องแล้ว เพราะที่ผ่านมามีข้อครหาว่าถอดถอนใครไม่ค่อยได้ มาตรฐานไม่ค่อยมีใช้แต่อารมณ์เล่นพวก

ผู้ตรวจการฯขอบทบาทสร้างจริยธรรม

ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินทำข้อเสนอไปยัง กรธ. ยังยืนยันว่าควรมีองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ไปควบรวมกับองค์กรอื่น แต่ในส่วนอำนาจหน้าที่ทราบว่า กรธ.อาจตัดทอนอำนาจการตรวจสอบจริยธรรมนักการเมือง ซึ่งไม่เป็นไร แต่อยากให้คงอำนาจให้ผู้ตรวจการฯ ยังมีหน้าที่ส่งเสริมจริยธรรม มุ่งเน้นการสร้างคนดี เก่งแล้วไม่โกง เชื่อว่าถ้าสร้างจิตสำนึกดังกล่าวได้จะผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้า

พท.สับ ส.ว.ลากตั้งวิ่งซื้อตำแหน่ง

ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศและแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีกรธ.เสนอให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดว่า เป็นการย้อนยุคและจะกลับสู่แบบเดิมๆ ที่วิ่งซื้อตำแหน่งเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูล ยุคนั้นทำกันเฟื่องฟูมาก และไม่เห็นด้วยที่จะให้ตัวแทนกลุ่มสาขาวิชาชีพต่างๆเข้ามา เพราะในที่สุดจะมีกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆอุปโลกน์กลุ่มตัวเองขึ้นมาและพร้อมที่จะทำตามผู้มีพระคุณทุกประการ คอยตอบแทบบุญคุณผู้ที่ให้ตัวเองเข้ามาเป็น ส.ว. ในที่สุดประเทศไทยจะก้าวไม่พ้นปัญหาเดิม ดังนั้น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ที่ผ่านประสบการณ์และรู้ถึงปัญหาเหล่านี้มาโดยตลอด ไม่คิดที่จะเปลี่ยนวิธีคิดที่มาของ ส.ว.เลยหรือ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ์เลือกตัวแทนของประชาชนเข้าไปทำหน้าที่ ขอฝากให้นายมีชัยทำในสิ่งที่ถูกต้อง ลบข้อครหาต่างๆและสร้างประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยหน้าใหม่ให้ประเทศไทย โดยกำหนดให้ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

ถ้าไม่ผ่านเลือกตั้งหั่นทิ้งไปเลย

นพ.เหวง โตจิราการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.กล่าวว่า กรณี กรธ.มีแนวโน้มให้ ส.ว.มาจากการสรรหาจากกลุ่มตัวแทนวิชาชีพต่างๆว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ส.ว.เป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ตัวแทนขององค์กรวิชาชีพไม่กี่แสนคน การนำคนจากเรือนหมื่น เรือนแสน มาใช้อำนาจอธิปไตยแทนคนทั้งประเทศที่กว่า 60 ล้านคน เป็นการทำลายหลักการประชาธิปไตย อีกทั้งตัวแทนองค์กรวิชาชีพขณะนี้มีไม่ครบทุกสาขาวิชาชีพของคนไทยทั้งประเทศ ไม่สามารถสะท้อนเสียงเรียกร้องต้องการของคนไทยทั้งประเทศได้ ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ถ้าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ควรยกเลิกการมี ส.ว.ไปเลย ที่ กรธ.ระบุว่า หากให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งจะเป็นสภาผัวเมียนั้นไม่ถูกต้อง ควรเคารพการตัดสินใจประชาชน แม้จะเป็นสามีภริยากันก็ต้องเคารพการตัดสินใจ จะมาอ้างสภาผัวเมียเพื่อตัดสิทธิคงไม่ถูกต้อง ดูแล้วกรธ.ต้องการเปิดทางให้กลุ่มเอ็นจีโอเข้ามาเป็น ส.ว.มากกว่า และคงไม่สามารถแก้ปัญหาการครอบงำทางการเมืองได้

ซัด พท.บิดเบือนทั้ง ก.ม.-ข้อมูลคดีข้าว

อีกเรื่อง นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกและคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ เห็นแย้งการดำเนินคดีโครงการรับจำนำข้าวว่า เป็นการบิดเบือนหลักกฎหมายและเจตนารมณ์กฎหมาย เพราะ 1. พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มีเจตนารมณ์ควบคุมการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะทำให้เกิดความเสียหายกับบุคคลภายนอกหรือต่อหน่วยงานของรัฐ กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทำความเสียหายกับงบประมาณแผ่นดิน ต้องรับผิดตามหลักกฎหมายนี้ ขอให้ไปศึกษามาตรา 10 ของ พ.ร.บ.นี้ให้ดี 2.พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่คู่กรณี ไม่มีส่วนได้เสียในโครงการจำนำข้าว แต่เป็นไปตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 3.ที่เรียกร้องให้รัฐบาลเคารพหลักนิติธรรม แต่การทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว เกิดจากการบริหารงานที่ขาดหลักนิติธรรมเช่นกัน ที่พรรคเพื่อไทยสลับหน้ากันออกมาบิดเบือนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายทุกวัน เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นทุกคดีในโครงการรับจำนำข้าว ให้สังคมเข้าใจผิดว่า เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง โดยไม่สนใจในเนื้อหาคดีแม้แต่น้อย

เตือน รบ.ชะล่าใจจะตกเป็นจำเลย