เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 17 พ.ย. พระครูสิทธิธรรมวิภัช เจ้าอาวาสวัดราชบูรณะ อ.เมือง จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ สถานที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อทองขาวและภายในวิหารหลวงพ่อทองดำ เป็นภาพเก่าแก่อยู่ในยุคปลายรัชกาลที่ 3 ที่ช่างศิลป์ในยุคนั้นเขียนไว้ภายในอุโบสถด้านล่าง เป็นภาพกามกรีฑา ช่วงกลางเป็นภาพไทยรามเกียรติ์ และภาพหลายอย่างที่แปลกตา โดยเฉพาะที่ฝาผนังด้านขวาของพระอุโบสถมีภาพคู่แฝดอิน-จัน ที่ถูกซุกซ่อนไว้ หาก ใครไม่สังเกตก็จะไม่เห็น แม้กระทั่งอาตมาและพระในวัด ล่าสุด ผศ.ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มาศึกษาเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังและพบภาพฝาแฝดอิน-จัน นับเป็นภาพที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สามารถเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า จิตรกรรมฝาผนังภายในวัดราชบูรณะนั้นมีการเขียนไว้ในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 3 อย่างแน่นอน
ภาพจิตรกรรมฝาผนังแฝดอิน-จัน เป็นภาพที่เขียนจากสีฝุ่น พู่กันจีน ลวดลายออกไทยมีกิริยาท่าทางใช้นิ้วชี้ไปทางสัตว์ป่าหิมพานต์ที่อยู่ใกล้เคียงกัน เป็นภาพผสมผสานของวรรณคดีกับเรื่องราวในยุคนั้น ทำให้จิตรกรรมฝาผนังที่วัดราชบูรณะน่าศึกษาเป็นอย่างมาก ขณะที่ภาพจิตรกรรมฝาผนังบางส่วน โดยเฉพาะด้านล่างนั้นได้เกิดชำรุดและหลุดลอกไปตามกาลเวลา ทำให้ภาพเสียหายเป็นอย่างมาก ทางวัดราชบูรณะจึงขอความร่วมมือพุทธศาสนิกชนที่มาทำบุญและไหว้พระที่อุโบสถหลวงพ่อทองขาว และวิหารหลวงพ่อทองดำ มิให้พิงฝาผนัง หรือใช้มือลูบคลำภาพ เพราะอาจจะทำให้ภาพชำรุดเสียหายได้ อย่างไรก็ตาม หากประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจต้องการไปเที่ยวชมจิตรกรรมฝาผนังที่วัดราชบูรณะสามารถไปเที่ยวชมได้ทุกวัน.
...