พท.ขู่ออกรณรงค์ประชามติควํ่ารธน.
สปท.กางปฏิทินปฏิรูป แจกแจงกลางวงประชุมคณะทูต-กงสุลใหญ่ไทยที่ประจำอยู่ทั่วโลก มอบการบ้านหาข้อมูลปรองดอง-การพัฒนาของนานาประเทศด้วย รอง ปธ.กรธ.ยึดขันติไม่โกรธคนด่าคิดวิปริตปมนายกฯคนนอก “พีระศักดิ์” ชงต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของสภาฯโหวต ขอรูปแบบ ส.ว. ยังเป็นปลาสองน้ำตามเดิม “สมพงษ์” กวักมือเรียกทหารมาลงเลือกตั้งเพื่อความสง่างาม ชงแนวทางปลดแอกพรรคจากพวกนายทุน “อภิสิทธิ์” จี้ กรธ.ขอความชัดเจนที่มานายกฯ “อ๋อย” รู้ทันเกมหมากล้อม “มีชัย” วางกับดักให้อำนาจนอกระบบกระตุกการเมืองอย่ามุ่งแต่เลือกตั้ง “ปึ้ง” เย้ย รธน. ไม่ผ่านประชามติแน่ เด็ก พท.จวก “วรงค์” รู้น้อยอย่าอวดฉลาด “วัชระ” ตอกทำเป็นปิดตาข้างเดียว
แม้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกมาชี้แจงปมปัญหาข้อเสนอที่มานายกรัฐมนตรีอย่างละเอียด แต่ฝ่ายการเมืองยังคงเรียกร้องขอความชัดเจน โดยเฉพาะการเปิดรายชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯก่อนการเลือกตั้ง อาจเป็นช่องให้กลุ่มอำนาจนอกระบบหรือไม่
...
สปท.แจงแผนปฏิรูปคณะทูตไทย
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14 พ.ย.ที่กระทรวงการต่างประเทศ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พร้อมสมาชิก สปท. ชี้แจงความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศตามโรดแม็ปของรัฐบาล และ สปท. ในการประชุมเอกอัครราชทูตไทยและกงสุลใหญ่ไทยประจำประเทศต่างๆทั่วโลก โดย ร.อ.ทินพันธุ์กล่าวว่า การดำเนิน การของ สปท.จะครอบคลุมถึงการควบคุมการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ป้องกันผู้ที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม และทำให้การทำงานของรัฐบาลเป็นไปโดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำ สามารถควบคุมการตรวจสอบได้ รวมถึงทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความเข้มแข็งมีศักยภาพ และการปฏิรูปไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจสังคม ต้องทำให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว รวมถึงการใช้งบ ประมาณของรัฐที่คุ้มค่า สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องดำเนินการให้เกิดผลต่อไป
ปลื้มทุกคนกระตือรือร้นซักถาม
ต่อมานายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท. ให้สัมภาษณ์ว่า ร.อ.ทินพันธุ์และตนบรรยายสรุปถึงการปฏิรูปในระยะ 20 เดือนตามโรดแม็ปของรัฐบาล เพื่อขอให้ทูตและกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกชี้แจงถึงหนทางประชาธิปไตย ซึ่งขณะนี้มีแนวทางที่ชัดเจน โดยจะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และยังบอกถึงความตั้งใจในการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่เป็นเพียง การแก้ไขปัญหาระยะสั้น หรือก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น แต่เป็นการตั้งรากฐานใหม่ให้กับประเทศ โดยขอความ ร่วมมือให้ทูตและกงสุลใหญ่ศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการปรองดอง และขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ ของประเทศต่างๆ เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาประเทศของเรา ซึ่งทุกคนให้ความสนใจและกระตือรือร้นสอบถามแนวทางการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน โดยเฉพาะในด้านการปรองดอง ความเหลื่อมล้ำในประเทศต่างๆ
เชิญกลุ่มเคลื่อนไหวให้ความเห็น
นายภัทระ คำพิทักษ์ กรธ. ในฐานะโฆษกอนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะ กล่าวว่า วันที่ 19 พ.ย. อนุกรรมการฯจะจัดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มต่อร่างรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นจะเชิญภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวต่อการผลักดันประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มปฏิรูปด้านการศึกษา กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค กลุ่มสื่อสารมวลชน กลุ่มการค้าเสรี กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาให้ความเห็นและประเด็นปัญหาพร้อมแนวทางแก้ไข เพื่อนำรายละเอียดไปเสนอต่อ กรธ. ประกอบการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญต่อไป สำหรับตัวแทนกลุ่มที่จะมาให้ข้อมูล อาทิ กลุ่มเอฟทีเอวอชท์ มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงเครือข่ายประชาชน
“อภิชาต” ไม่โกรธถูกด่าคิดวิปริต
นายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และประธานอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร กล่าวถึงกรณีนักการเมืองวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอของ กรธ.เรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ที่ต้องให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อนายกฯให้ประชาชนทราบก่อนการเลือกตั้งว่า อย่าเพิ่งด่วนสรุปอะไรในเรื่องนี้ เพราะความเห็นยังแกว่งอยู่ ส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นข้อเสนอที่วิปริตนั้น ไม่มีใครโกรธเคืองอะไร ประเด็นไหนที่ไม่เห็นด้วยสามารถเสนอมายัง กรธ.ได้ เพราะนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. เป็นคนใจดี ตนทำงานด้วยก็สบายใจ เพราะเปิด โอกาสให้ทุกคนแสดงความเห็นได้เต็มที่
สนช.ตีกรอบต้องใช้เสียง 3 ใน 5
ที่ศาลากลาง จ.แพร่ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ประเด็นการได้มาของนายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้ข้อยุติ อยากฝากประชาชนว่าการร่างรัฐธรรมนูญเป็นเหมือนตุ๊กตา ต้องทำให้เสร็จในช่วงเดือน ม.ค. 2559 ส่วนตัวเห็นว่าถ้านายกฯไม่มาจาก ส.ส. ควรให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ซึ่งต้องใช้เสียง 3 ใน 5 เพราะเป็นเรื่องสำคัญจำเป็นต้องใช้เสียงจำนวนมาก กระบวนการประชาธิปไตย ส.ส.คือตัวแทนประชาชน ส่วนวิธีการเสนอรายชื่อนายกฯเป็นเพียงรายละเอียด จะมีหรือไม่มีก็ได้
ตอกย้ำ ส.ว.ต้องมาจากปลา 2 น้ำ
นายพีระศักดิ์กล่าวอีกว่า ส่วนข้อเสนอของกรธ. ให้ตัดอำนาจถอดถอนของ ส.ว. เหลือแค่การ พิจารณากฎหมายเพียงอย่างเดียวนั้น ต้องดูที่มาของ ส.ว.ด้วย ถ้าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่สมควรมีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ถ้า ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ก็ควรคงอำนาจถอดถอนไว้ตามเดิม ยังยืนยันว่า ส.ว.ควรมาจากทั้งการสรรหาและ เลือกตั้ง เพราะทุกวิธีได้ลองมาหมดแล้ว ถ้าตัดการเลือกตั้งออกไป ก็จะขาดความเชื่อมโยงประชาชน สภาควรมีความหลากหลาย
กวักมือเรียกทหารมาลงเลือกตั้ง
นายสมพงษ์ สระกวี สปท. ในฐานะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวว่า กมธ.ปฏิรูปด้านการเมือง ยังไม่ได้หารือประเด็นที่มา ของนายกฯ แต่เท่าที่จับอารมณ์ของ กมธ.แต่ละคน ไม่มีใครต่อต้านข้อเสนอให้พรรคการเมืองเปิดรายชื่อบุคคลที่จะเสนอให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ และตน คิดว่าเป็นเรื่องดี ไม่ใช่สูตรวิตถารตามที่พูดกัน ถือเป็นสีสันในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมวิพากษ์วิจารณ์ และตรวจสอบประวัติคนที่จะมาเป็นนายกฯล่วงหน้า ไม่ใช่มามุบมิบ หรือเสนอไอ้โม่งมาเป็นก็ได้ แน่นอนว่าไม่เคยลองมาก่อน แต่ถ้าทำก็สนุก ส่วนที่มองว่าเป็นการเอื้อให้ทหารจัดตั้งรัฐบาลเพื่อสืบทอดอำนาจนั้น หากทหารอยากตั้งพรรคการเมืองจริง ก็ควรสนับสนุนให้มาเดินบนถนนประชาธิปไตยจริงๆ จะได้มีศักดิ์ศรีเท่านักการเมือง ดีกว่าไปถืออาวุธซ่อนตัวอยู่ในที่มืด ซึ่งน่ากลัวกว่า
ชงปลดแอกพรรคจากพวกนายทุน
นายสมพงษ์กล่าวว่า ส่วนการประชุม กมธ.ปฏิรูปด้านการเมือง วันที่ 16 พ.ย.นี้ จะหารือเรื่องการปฏิรูปพรรคการเมือง เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของพรรคจริงๆ ไม่ใช่เป็นของนายทุน ต้องหาทางสกัดนายทุนไม่ให้เข้ามาครอบงำพรรค เบื้องต้นที่ กมธ.หารือกันมี 2 แนวทาง คือ 1.ให้ประชาชนผู้ยื่นเสียภาษี 10 ล้านคน แสดงความจำนงว่าต้องการบริจาคเงินให้พรรคใด แต่ประชาชนไม่ต้องเสียเงินบริจาคเอง เพราะรัฐบาลจะจ่ายเงินบริจาคแทนประชาชน คนละ 300 บาท ให้พรรคการเมืองตามที่ผู้ยื่นเสียภาษีแสดงความจำนงมา ขณะนี้มีบัญชีผู้ยื่นเสียภาษีทั่วประเทศ 10 ล้านคน รัฐบาลต้องจ่ายเงินบริจาคให้พรรคการเมือง 3,000 ล้านบาท วิธีนี้จะช่วยลดบทบาทนายทุนลง พรรคต้องเลือกเฟ้นคนดีเพื่อจูงใจผู้ยื่นเสียภาษี บริจาคเงินให้พรรคมากๆ 2.ให้ประชาชนบริจาคเงินให้พรรคการเมืองโดยตรง กำหนด วงเงินสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาทต่อคนต่อปี ห้ามบริจาคมากกว่านี้ และนำเงินที่บริจาคไปยื่นหักภาษีได้ ทั้ง 2 วิธีนี้ กมธ.ปฏิรูปการเมืองเห็นด้วยในหลักการ และจะนำรายละเอียดมาคุยกัน เพื่อยื่นเป็นแนวทางปฏิรูปพรรคการเมืองเสนอต่อ สปท. ผลักดันให้บรรจุอยู่ใน พ.ร.บ.พรรคการเมือง หรือกฎหมายอื่นต่อไป
จี้ กรธ.ขอความชัดเจนที่มานายกฯ
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี กรธ.เสนอโมเดลที่มาของนายกรัฐมนตรี โดยให้พรรคการเมืองเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯซึ่งอาจเป็นคนที่ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. ว่า เรื่องนี้ยังไม่มีข้อยุติ ตามหลักการนายกฯต้องเป็น ส.ส. ทุกอย่างก็จะง่าย เพราะใครจะมาเป็นนายกฯต้องผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าผ่านกระบวนการตรวจสอบระดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้ามองว่าพรรคการเมืองจะไม่โปร่งใส ก็ต้องหามาตรการ ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้อนกันอยู่ 2 เรื่อง คือ ความพยายามของ กรธ. ที่ต้องการให้ประชาชนทราบล่วงหน้า กับอีกด้านหนึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาหรือไม่ จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์หวาดระแวงว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์หรือไม่ จึงอยากให้ กรธ.มีความชัดเจนทีละประเด็น ว่าประเด็นนายกฯต้องเป็น ส.ส.หรือไม่ ถ้าไม่เป็นจะใช้เงื่อนไขอะไร การให้เปิดเผยรายชื่อมีจุดประสงค์เพื่ออะไร หาก กรธ.มีความชัดเจนจะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับกันได้ เพราะถ้าเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอก อาจกังวลว่าพรรคการเมืองจะไม่เปิดเผย ทำให้ประชาชนไม่ทราบล่วงหน้า ดังนั้นต้องให้ได้ข้อยุติก่อนว่า จะมีนายกฯคนนอกหรือไม่
“อ๋อย” รู้ทันเกมหมากล้อม “มีชัย”
ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ข้อเสนอของ กรธ.ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อนายกฯก่อนการเลือกตั้ง และการให้มีบัตรเลือกตั้ง 1 ใบเลือกได้ 3 คนคือ เลือกตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต เลือกระบบบัญชีรายชื่อ และเลือกตัวนายกฯในคราวเดียวกันนั้น เป็นการสร้างความสับสน ผู้ที่ออกเสียงต้องชั่งน้ำหนัก ไม่รู้ว่าที่เลือกไปเลือกอะไรกันแน่ ทำให้สงสัยว่ากลไกนี้เป็นการปูทางให้คนนอกมาเป็นนายกฯหรือไม่ โดยอาจฝากชื่อกับบางพรรค เป็นวิธีการกินทีละคำ คือให้เกิดเงื่อนไขให้ได้นายกฯคนนอกก่อน แล้วสร้างสภาพแวดล้อม ต้องยอมรับว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นจอมยุทธ์ทางเทคนิคกฎหมาย วางแผนสร้างเงื่อนไขอย่างแนบเนียน จนในที่สุดเกิดสภาพการมีนายกฯคนนอก และมีการครอบงำจากอำนาจนอกระบบ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
วางกับดักให้อำนาจนอกระบบ
นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า ต้องจับตาดูนายกฯคนนอก และอำนาจนอกระบบที่จะเกิดขึ้น เท่าที่เห็นบ้างแล้ว เช่น นายมีชัยพูดถึงถ้ามี ส.ส.พรรครัฐบาลได้ใบแดง รัฐบาลก็ต้องล้มไป ที่เงื่อนไขไม่ได้ต่างอะไรกับการลงโทษเหมาเข่ง ยุบพรรคการเมืองทั้งพรรค และมีผลทำให้รัฐบาลต้องล้มไปเหมือนในอดีต และถ้ามีการยุบสภาและมีการเลือกตั้ง ก็จะเจอเงื่อนไขที่ กรธ.แย้มเอาไว้ คือ ถ้าในเขตเลือกตั้งใดผู้สมัครรับเลือกตั้งได้คะแนนน้อยกว่าโหวตโน จะไม่มี ส.ส.ในเขตนั้น แค่เริ่มต้นก็เห็นแล้วว่า กรธ.กำลังคิดเงื่อนไขที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกของประเทศ ในที่สุดต้องหาอำนาจนอกระบบ ซึ่งสุดท้ายแล้วต้องดูจุดหมายปลายทาง กรธ. กำลังต้องการอะไรกันแน่
กระตุกการเมืองอย่ามุ่งแต่เลือกตั้ง
นายจาตุรนต์กล่าวว่า ฝ่ายการเมืองน่าหารือกัน ย้ำให้สังคมเข้าใจว่าถ้ากติกาไม่เป็นประชาธิปไตย ทำเสียงประชาชนไม่มีความหมาย วันนี้ยังไม่ต้องมีการเลือกตั้งดีกว่า และถ้าต้องรณรงค์ให้ร่างรัฐ-ธรรมนูญไม่ผ่านประชามติก็จะทำ นักการเมืองควรช่วยกันทำให้ผู้มีอำนาจเข้าใจว่า พรรคการเมืองและนักการเมืองไม่ใช่จะยังไงก็ได้ เพื่อให้มีเลือกตั้งเร็วๆ การแสดงความคิดเห็นจะมาหวังสนับสนุนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเปิดฟังความเห็นต่างด้วย ไม่อย่างนั้นก็ไปปิดประตูร่างแล้วประกาศใช้ไปเลย ถ้าจะให้ได้ร่างที่ดีต้องเปิดให้แสดงความคิดเห็นทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถ้าให้สนับสนุนอย่างเดียว ไม่ใช่ขอความร่วมมือแต่เป็นการยุประเทศให้ลงเหวไปมากกว่า
“ปึ้ง”ฟันธง รธน.ไม่ผ่านประชามติ
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การชี้แจงของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ต่อประเด็นที่มาของนายกฯคนนอก ดูเหมือนไม่ฟังข้อท้วงทิงจากพรรคการเมืองและนักการเมือง อยากขอฟันธงเลยว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ.ยกร่างอยู่ ไม่ผ่านประชามติแน่นอน เพราะพรรคใหญ่และนักการเมืองที่เป็นมือกฎหมายของ 2 พรรคใหญ่ ออกมาคัดค้านแล้ว นายมีชัยยังคิดจะไม่รับฟังอีก แบบนี้ร่างรัฐธรรมนูญไปไม่รอดแน่ ขอให้ คสช.เตรียมหาทางออกรับไว้เลย ยิ่ง พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯฝากเอกอัครราชทูตไทยที่ประจำอยู่กว่า 90 ประเทศ ให้ไปชี้แจงกับต่างชาติให้เข้าใจว่ารัฐบาลจะเดินตามโรดแม็ป การเลือกตั้งจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 60 พล.อ.ประยุทธ์ยิ่งต้องคิดให้หนักว่าจะทำให้เป็นไปตามที่พูดได้อย่างไร วันนี้ท่านไม่ต้องห่วงว่านักการเมืองคิดแต่การเลือกตั้ง ขอให้ท่านสบายใจได้ แต่ขอให้มีกติกาที่เป็นประชาธิปไตย ตรงไปตรงมา ปราศจากลูกเล่นซ่อนเอาไว้ สิ่งที่ท่านควรห่วงตอนนี้คือ การปฏิวัติครั้งนี้เสียของ เสียเวลาประเทศ ทำให้เราก้าวถอยหลังไปหลายสิบปี
“พีระศักดิ์” นำทีมรับฟังปัญหา จ.แพร่
วันเดียวกันที่ศาลากลางจังหวัดแพร่ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำคณะได้แก่ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ นายนรชิต สิงหเสนี ตัวแทน กรธ. นายคำนูณ สิทธิสมาน ตัวแทน สปท. และนายสุรศักดิ์ เรียงเครือ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนจากรัฐบาล ร่วมคณะลงพื้นที่ตามโครงการ สนช.พบประชาชน และติดตามตรวจสอบการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อที่ประชุม สนช. โดยมีนายพิเชษฐ ไพบูลย์ศิริ ผวจ.แพร่ ให้การต้อนรับ นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่แม่น้ำ 4 สาย ลงพื้นที่พร้อมกัน เท่าที่หารือเบื้องต้นพบ จ.แพร่ มีปัญหาที่ประชาชนต้องการให้แก้ไข 4 เรื่อง 1.น้ำ 2.ขยะ 3.คมนาคม และ 4.ประชาชนอยากให้มีมหาวิทยาลัยแพร่