แพทย์ สสจ.สุพรรณบุรี แจง สาวครรภ์เป็นพิษตายพร้อมลูก มีภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นปอด สิ้นใจก่อนทำคลอด พบสถิติแม่ที่มีภาวะนี้ รอดเป็นปกติ 1 ใน 10 ราย ด้านญาติยังทำใจไม่ได้ แต่ไม่คิดเอาความ หวังเป็นอุทาหรณ์ ขอ รพ. พัฒนาการรักษา
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 58 นพ.ชัยวัฒน์ จัตตุพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วย นายเอนก อ่ำสกุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญด้านส่งเสริมและพัฒนา นายสมพร ศรีโปฎก หัวหน้ากลุ่มงานสุขศึกษาประสัมพันธ์และสุขภาพภาคประชาชน พร้อมคณะ แถลงข่าวเมื่อวานที่ผ่านมา ถึงกรณีนี้สาวครรภ์เป็นพิษเสียชีีวิตพร้อมลูกอายุภรรภ์ 8 เดือน โดยมอบให้ นายเอนก พญ.พัชราภรณ์ วิริยเวชกุล ผอ.รพ.ดังที่เป็นกระแสข่าว นางสุวิมล ปานะชา หัวหน้ากลุ่มงานประกันสุขภาพ และ นางทิพวรรณ ประกอบทรัพย์ หัวหน้ากลุ่มงานนิติการ เข้าพบ นายสุริยัน หลงจู อายุ 28 ปี สามีผู้ตาย พร้อมญาติ เพื่อรับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
นพ.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า เนื่องจากญาติผู้ตายยังติดใจสาเหตุการเสียชีวิต จึงต้องชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลรักษา ถึงเหตุผลที่ รพ. ไม่เปิดทำการผ่าคลอดในช่วงกลางคืน และสาเหตุการเสียชีวิต จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่า เด็กและแม่เสียชีวิตจาก "ภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นปอด (Amniotic fluid embolism)" ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 1 ใน 8,000 - 1 ใน 80,000 คน ซึ่งจะทำให้คนไข้มีอาการ เหนื่อยหอบ ไอ และหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ปอดของแม่จะมีเศษเนื้อ (เซลล์) ของเด็กอยู่ในเส้นเลือด จากการที่มีเศษขี้ไคลทารกจากน้ำคร่ำ เข้าไปอุดตันที่ปอดจนปอดเสียหาย หายใจไม่ได้และเสียชีวิตในที่สุด ปกติจะต้องคลอดพร้อมเด็กและออกสู่ภายนอก ไม่มีการไหลย้อนเข้าไปในเลือดของแม่ เพราะจะเกิดปฏิกิริยาเช่นเดียวกับอาการแพ้รุนแรงได้ เนื่องจากเลือด น้ำเหลือง และสารต่างๆ เป็นคนละกรุ๊ปกัน คล้ายกับการตายจากให้เลือดผิดกรุ๊ป
...
ซึ่งกระบวนการแพ้ชนิดรุนแรง หัวใจ ปอด ล้มเหลว เลือดไหลไม่หยุด และแม่ครึ่งหนึ่งเสียชีวิตใน 60 นาทีแรก หลังน้ำคร่ำรั่วเข้าไป ส่งผลทำให้คณะแพทย์ไม่สามารถช่วยเหลือได้ทัน ที่สำคัญหากเกิดภาวะนี้ แม้แต่ รพ.ขนาดใหญ่ที่มีผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือครบถ้วน ทั้งที่มีหมอล้อมรอบเตียงคนไข้ และรักษาอย่างเต็มที่ท่ามกลางยาเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ช่วยชีวิตครบถ้วนก็ตาม สถิติบ่งชี้ว่าแม่ 6 ใน 10 ราย จะเสียชีวิต 3 ราย พิการทางสมอง หรือเป็นเจ้าหญิงนิทรา และมี 1 จาก 10 รายเท่านั้นที่รอดเป็นปกติ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องสอบสวนอย่างละเอียดอีกครั้งว่าเกิดความผิดพลาดส่วนใด
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังญาติ ทราบว่ายังติดใจประเด็นการเสียชีวิตอยู่ ซึ่งต้องให้ รพ. หรือสาธารณสุขจังหวัดชี้แจง แต่ไม่ได้คิดจะเอาความใด ๆ อยากให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นอุทาหรณ์ ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก และอยากวิงวอนให้ รพ. ปรับปรุงแก้ไขให้มีพัฒนาการทางการแพทย์เพิ่มสูงขึ้น และสร้างขีดความสามารถในการรักษาให้ดีกว่านี้ ตอนนี้ญาติทุกคนยังทำใจไม่ได้ เพียงแต่อยากเรียกร้องความยุติธรรมมาสู่ครอบครัวเท่านั้น.