บีบีซี...รายงานเมื่อเร็วๆนี้ว่า Childwise ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านเด็กและวัยรุ่นในประเทศอังกฤษ เปิดเผยข้อมูลน่าตกใจว่า อาการติดมือถือ หรือแท็บเล็ตของเด็กและเยาวชนกำลังจะกลายเป็นปัญหามากขึ้น ด้วยอัตราเฉลี่ยของการใช้ชีวิตอยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และดิจิตอลมากกว่า 6-8 ชั่วโมงต่อวัน

ชายล์ดไวส์ (Childwise) ได้ทำการสำรวจเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 5-16 ปี จำนวน 2,000 คนจากที่ต่างๆ พบว่า เด็กวัยรุ่นหญิงใช้เวลากับหน้าจอ ซึ่งหมายถึงทั้ง มือถือ แท็บเล็ต ทีวี คอมพิวเตอร์ เฉลี่ยประมาณวันละ 7 ชม. 30 นาที ขณะที่เด็กวัยรุ่นเพศชายจะใช้เวลาอยู่หน้าจอมากกว่า เฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง หรือประมาณ 1 ใน 3 ของเวลาในแต่ละวัน

งานวิจัยยังพบด้วยว่า ชีวิตติดจอของเด็กและวัยรุ่นเหล่านี้ ไม่ใช่แค่เพียงแต่ดูทีวีหรือเล่นคอมพ์ แต่บางครั้งยังมีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเป็นหน้าจอที่สองหรือสาม ที่เรียกว่าแทบไม่มีเวลาพักสายตาจากหน้าจอเลย

ยิ่งไปกว่านั้น ในผู้ใหญ่เองก็พบว่า มีการใช้สายตากับหน้าจอของอุปกรณ์เหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีการวิจัยว่า ผู้ใหญ่ใช้เวลามากแค่ไหนในแต่ละวันกับการก้มหน้าและไม่พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต

นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ บอกว่า สื่อดิจิตอลกำลังเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตของทั้งเด็กและผู้ใหญ่อย่างมาก ทุกคนไม่มีโลกอื่นเลยนอกจากโลกออนไลน์

...

“เด็กบางคนยังคลานอยู่เลย พ่อแม่ก็เอาสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตมาให้เล่นเสียแล้ว เพื่อที่เวลาที่พ่อแม่กำลังยุ่งอยู่กับเรื่องอื่นๆ เช่น อ่านหนังสือ ทำงาน หรือทำงานบ้าน ลูกก็จะได้มีทั้งทีวี สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตเป็นเพื่อนเล่นเพื่อเบนความสนใจจากพ่อแม่ บางทีหนักกว่านั้น คือพ่อแม่เองก็ติดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตด้วย ต่างคนต่างจึงมีโลกส่วนตัวของตัวเองเฉพาะตรงหน้าไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกัน”

คุณหมอฐาปนวงศ์ บอกว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้อัตราการเกิดโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า โรคซีวีเอส (CVS) หรือ คอมพิวเตอร์ วิชั่น ซินโดรม (Computer Vision Syndrome) เพิ่มมากขึ้นจนน่าตกใจ ซึ่งโรคนี้ถือเป็นวิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของโรคออฟฟิศ ซินโดรม (Office Syndrome) ที่เคยเกิดขึ้นกับคนทำงานเมื่อหลายปีก่อน

โรคซีวีเอส เกิดจากพฤติกรรมการมองจอภาพที่ใกล้เกินกว่าครึ่งฟุตหรือประมาณ 6 นิ้วเป็นเวลานานๆ ทำให้ต้องใช้กล้ามเนื้อรอบดวงตาและประสาทตาในลักษณะเพ่งจอตลอดเวลา จนเกิดอาการดวงตาตึงเครียด ตาล้า ตาช้ำ ตาแดง แสบตา มองภาพได้ไม่ชัดเจน และมักจะเกิดอาการปวดศีรษะตามมา ซึ่งทั้งหมดคือสัญญาณเตือนของการเกิดโรคคอมพิวเตอร์ วิชั่น ซินโดรม และหากปล่อยทิ้งไว้ยังมีโอกาสที่เด็กจะเกิดภาวะสายตาสั้นเพิ่มขึ้นถึง 30%

นพ.นริศ กิจณรงค์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้คำแนะนำสำหรับการแก้ไขอาการของโรคซีวีเอสในขั้นต้นว่า ควรพักสายตาทุก 15 นาที ถ้าต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ให้มองออกไปไกลๆ จะทำให้ดวงตาไม่เกิดอาการล้า อย่าขยี้ตา หากรู้สึกอ่อนล้าให้นวดคลึงเบาๆ และควรบริหารดวงตาเพื่อคลายความตึงเครียด พร้อมทั้งการเลือกใช้หน้าจอคอมพิวเตอร์ที่มี Flicker Free Technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ในการถนอมสายตา เพื่อลดความเสี่ยงต่อการปวดตา และเพิ่มความสบายตาในการทำงาน

ขณะที่ พญ.ญาณิน สุวรรณ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่า นอกจากปัจจัยเรื่องของการใช้ชีวิตติดจอนานๆที่ทำให้เกิดโรคซีวีเอสแล้ว สาเหตุและปัจจัยที่กระตุ้นทำให้เกิดโรคดังกล่าวง่ายขึ้น ก็เช่น ทิศทางการเป่าของแอร์ ความสว่างของหน้าจอ ระยะการมอง ท่าทางการนั่ง ตำแหน่งการวางคอมพิวเตอร์หรือจอภาพกับสายตา ซึ่งคนที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่หน้าคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือเกือบตลอดเวลา ทั้งทำงาน คุยผ่านโปรแกรมสนทนา (ไลน์) หรือแม้แต่เล่นเกม เมื่อเกิดอาการตาแห้ง แสบตา เคืองตา ปวดตา ตาพร่า เกิดภาพเบลอหรือภาพซ้อน ปวดศีรษะ จึงมาพบแพทย์

คุณหมอญาณิน บอกว่า ส่วนใหญ่แล้วหากเป็นอาการของโรคซีวีเอส แพทย์จะแนะนำให้ปรับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น ปรับทิศทางการเป่าของแอร์หรือพัดลม โดยไม่เป่าโดนตา ตรวจสอบความชื้นในห้อง ปรับความสว่างของจอ ตำแหน่งการวางคอมพิวเตอร์หรือจอสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ถือเป็นการแก้ปัญหาพฤติกรรมการใช้สายตาแล้ว ส่วนใหญ่พบว่า อาการตาพร่า แสบตา ตาแดง มองภาพไม่ชัดและปวดศีรษะมักดีขึ้น

...

“กล้ามเนื้อตาก็เหมือนกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เมื่อใช้งานหนักหรือหักโหมเกินไป ก็ทำให้เกิดอาการล้าและปวดตามมาได้ เหมือนกับดวงตาที่ผ่านการเพ่งมองสิ่งใดเป็นเวลานาน ก็ควรเว้นระยะการใช้และพักสายตาบ้าง เช่น ใช้สายตาไป 20 นาที ก็ควรพักสายตาสัก 20 วินาทีก็คือมองไปที่ไกลๆจากจอคอมพิวเตอร์ประมาณ 20 ฟุต เพราะบางทีเราลืมตัว ทำงานเป็นชั่วโมง พอเงยหน้ามองไปที่อื่น จึงทำให้จุดโฟกัสสายตายังปรับค่าระยะสายตาอยู่ที่วัตถุใกล้ ยังไม่ใช่สายตาปกติ จึงเป็นที่มาของอาการตาพร่ามัว มองภาพไม่ชัด เกิดภาพเบลอและภาพซ้อน โฟกัสที่ภาพได้ไม่ชัดเจน ต้องปล่อยไปสักพัก และจะค่อยๆกลับไปเป็นปกติเช่นเดิมตามพื้นฐานสายตาของเรา” คุณหมอญาณินบอกและว่า แต่หากยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร อาจต้องใช้การรักษาด้วยน้ำตาเทียม ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์ในการใช้เพื่อลดการเกิดอันตรายในระยะยาว.