ชาวนาหลายตำบล ใน จ.ชัยนาท กว่า 100 คน รวมตัวขอน้ำสำนักชลประทาน เพื่อให้ช่วยนาข้าว หลังน้ำในคลองเหลือน้อย และไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ หวั่นเกิดความเสียหายกับข้าวที่ปลูกไปแล้วกว่า 3 หมื่นไร่...
 
เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2558 ชาวนาตำบลวังหมัน ตำบลหนองแซง และตำบลหนองน้อย อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท กว่า 100 คนเดินทางมายังสำนักชลประทานที่ 12 เพื่อสอบถามและขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับน้ำในของโครงการสูบน้ำทุ่งวัดสิงห์ ที่ชาวนาใช้น้ำจากโครงการดังกล่าวทำนา ขณะนี้น้ำในคลองเหลือน้อย ไม่สามารถสูบขึ้นมาใช้งานได้ ทำให้ ชาวนา อำเภอวัดสิงห์ ที่ทำการปลูกไปแล้ว รวมทั้งหมดกว่า 3 หมื่นไร่ กลัวว่าข้าวที่ปลูกไปจะเกิดความเสียหาย ขาดทุน และเป็นหนี้ในที่สุด


นายฎรงค์กร สมตน ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 กล่าวว่า ขณะนี้ระดับน้ำที่จุดวัดน้ำ C13 เหนือเขื่อนเจ้าพระยา ปัจจุบัน อยู่ที่ 14.26 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 2.08 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่วนระดับน้ำท้ายเขื่อนอยู่ที่ระดับ 5.90 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งระดับน้ำมีการลดลงเรื่อยๆ ต่อเนื่อง เป็นไปตามแผนที่ทางกรมชลประทานได้คาดการณ์ไว้ แต่ตัวเลขของระดับน้ำเหนือเขื่อนมีการคลาดเคลื่อนไปในทิศทางที่ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็นทำให้ต้องปรับลดการระบายในให้ลดลง ซึ่งระดับน้ำที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น มีผลมาจาก ช่วงท้ายเขื่อนของเขื่อนหลักทั้ง 4 แห่ง ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีสถานีสูบน้ำ ทำการสูบน้ำไปใช้ ทั้งทำการเกษตร และอุปโภค บริโภค ทำให้ระดับน้ำมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน น้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีทั้งหมด 4,247 ล้าน ลบ.ม. ตามแผนการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 58/59 จะใช้ในการอุปโภค 1,100 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศ 1,400 ล้าน ลบ.ม. เกษตรกรรมไม้ผลและอ้อยที่ปลูกไว้เดิม 400 ล้าน ลบ.ม. และทำการ สำรองน้ำต้นทุนไว้ในช่วง พ.ค.-ก.ค.59 จำนวน 1,347 ล้าน ลบ.ม. ทำให้หลายพื้นที่ในประเทศไทย ไม่มีน้ำสำหรับทำนา

...


"สำหรับชาวนาในพื้นที่อำเภอวัดสิงห์ ที่ปลูกข้าวนั้น ปลูกช่วงฤดูฝน ใช้น้ำฝนทำนา แต่เนื่องจากฤดูฝนปีนี้ มีช่วงเวลาสั้น ทำให้ข้าว กว่า 3 หมื่นไร่ ขาดน้ำหล่อเลี้ยงประกอบกับ ระดับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ต่ำกว่าตลิ่ง จนทำให้โครงการสูบน้ำทุ่งวัดสิงห์ ไม่สามารถสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมาใช้ได้เหมือนตามปกติ ในเบื้องต้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำการเร่งหาเครื่องสูบน้ำ และวิธีการที่จะสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ลงสู่โครงการสูบน้ำทุ่งวัดสิงห์ โดยด่วน เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวนา ซึ่งอาจจะช่วยเหลือได้ไม่ทั่วถึง ทั้งหมดกว่า 3 หมื่นไร่ เนื่องจากปริมาณน้ำอาจไม่เพียงพอ อาจต้องรอดูสถานการณ์น้ำก่อน แต่อย่างไรก็ตามจะพยายามหาวิธีการทำให้ชาวเกิดความเสียหายน้อยที่สุดอย่างแน่นอน" ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 กล่าว


อย่างไรก็ตาม หลังชาวนากว่า 1 ร้อยคน ได้รับคำตอบเป็นที่น่าพึงพอใจ ทำการแยกย้ายกันกลับบ้าน พร้อมพาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบพื้นที่ เพื่อเร่งแก้ไขโดยด่วยตามคำสั่งของ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12.