"มีชัย" เผยให้คนต่างชาติบริหารพรรคเข้าข่ายถูกยุบ แต่คนอยู่ตปท.ต้องดูว่าเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ หากไม่ใช่ก็สมควรยุบ เหตุหาคนดีบริหารประเทศไม่ได้ ยอมถอยได้ข้อสรุปนับคะแนนคนชนะรวมปาร์ตี้ลิสต์ ทำสิทธิ ปชช.เท่าเทียม ใช้บัตรเดียว อ้างช่วยพรรคการเมืองเข้มแข็ง

เมื่อวันที่ 5 พ.ย.58 ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมว่า ยังยืนยันว่าการลงคะแนนบัตรเดียวถูกต้อง เพราะทำให้ประชาชนต้องคิดทั้งคนและพรรคก่อนที่จะลงคะแนน ซึ่งจะทำให้พรรคเข้มแข็งขึ้น โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการคิดคำนวณคะแนนเสียงว่า จะเฉลี่ยคะแนนอย่างไรเพื่อให้ทุกคะแนนมีค่าและเป็นธรรม อยู่ได้อย่างสุขสงบ แต่หลักการแน่นอนแล้วว่า จำนวน ส.ส.จะมี 500 คน ส.ส.เขต 350 และระบบบัญชีรายชื่อ 150 คน

นายมีชัย กล่าวถึงเหตุผลที่ให้ลงคะแนนบัตรเดียวแทนการลงคะแนนสองบัตรว่า เป็นวิธีเดียวที่คะแนนไม่สูญเปล่า และกกต.ก็ยืนยันว่าพรรคจะเข้มแข็งขึ้น คะแนนของผู้ที่ชนะจะถูกนำมานับรวมเพื่อคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อด้วย เท่ากับประชาชนใช้สิทธิครั้งเดียวแต่นับสองครั้ง จึงเกิดความเป็นธรรมกับประชาชนว่าได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน

...


ส่วนข้อเสนอพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้แยกสองใบนั้น นายมีชัย กล่าวว่าเคารพความเห็นแต่คิดว่าคนเหล่านั้นคงเคารพความเห็นของกรรมการเหมือนกันเพราะพยายามแก้ปัญหาเรื่องคะแนนเสียงให้ได้รับการยอมรับ ซึ่งการลงคะแนนสองใบ คะแนนผู้แพ้ก็จะถูกทิ้ง แต่วิธีนี้จะทำให้คะแนนของคนที่แพ้ไม่สูญเปล่า เพราะคะแนนเหล่านั้นจะนำมาคำนวณในสัดส่วน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ทั้งหมดมารวมกันปัญหายึดโยงกับ ส.ส.เขต ขณะเดียวกันประชาชนก็จะต้องคิดเลือกทั้งคนทั้งพรรคไปในคราวเดียวกัน

"ผลลัพธ์ที่ได้จากระบบเลือกตั้งนี้จะทำให้ไม่คะแนนเสียไป รัฐบาลยังเข้มแข็งได้และไม่ใช่การวางแนวทางสกัดใคร หรือเป็นการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่คิดว่าเป็นระบบที่เป็นธรรมแม้ว่าพรรคเล็กจะเห็นว่าเสียเปรียบก็ต้องคิดด้วยว่า  ไม่ว่าจะใช้ระบบไหนพรรคเล็กก็ส่งน้อยกว่าพรรคใหญ่อยู่แล้ว โดยเชื่อว่า กกต.เชื่อว่าพร้อมที่จะดำเนินการตามระบบนี้" นายมีชัย กล่าว

นายมีชัย กล่าวถึงคะแนนโหวตโนว่า จะมีความหมายทุกคนต้องชนะตัวนี้ให้ได้ ถ้าแพ้เมื่อไหร่ก็ไปกันหมด ซึ่งอยู่ในระหว่างตัดสินใจว่าจะให้โอกาสลงสมัครอีกครั้งหรือให้ไปลงสมัครรอบหน้า ส่วนการคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจะนับจากคนมาใช้สิทธิไม่ใช่คำนวณจากผู้มีสิทธิจึงยังไม่สามารถระบุจำนวนได้ว่าประชากรกี่คนจึงจะได้ส.ส. 1 คน เพราะยังไม่ทราบว่าจะมีประชาชนไปใช้สิทธิเท่าไหร่ แต่ยืนยันว่าการคำนวณคะแนนจะไม่ยากกว่าบัญญัติไตรยางค์แน่นอน
 
สำหรับกรณีที่พบว่ามีการทุจริตในเขตเลือกตั้ง และ กกต.แจกใบแดงให้ ส.ส.เขตนั้น นายมีชัย เห็นว่า ที่ผ่านมาการทุจริตดังกล่าวมีแนวโน้มซื้อให้บัญชีรายชื่อด้วยแต่ไม่กระทบบัญชีรายชื่อเพราะลงคะแนนทั้งประเทศ กกต.จึงไม่ได้ดำเนินการเรื่องนี้ แต่คราวนี้เมื่อแยกเป็นเขต ใครทุจริตคะแนนจะถูกลบออกแล้วนำมาคำนวณใหม่ พรรคต้องระมัดระวังการทุจริตมากขึ้น แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการได้จำนวน ส.ส.เพราะกฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้วว่าจะต้องประกาศรับรองภายในสามสิบวัน จากนั้นจึงค่อยมาสอบทีหลัง

เมื่อถามว่า การใช้ระบบนี้จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับคะแนนเสียงในสภาจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า หากมีการทุจริตในเขตใดคะแนนทุกพรรคจะต้องถูกนำมาคำนวณใหม่ ถ้าทุจริตมากจน ส.ส.น้อยลงก็อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ ทั้งนี้เชื่อว่าด้วยกลไกเช่นนี้จะทำให้กระชับทุกคะแนนมีค่า ส่วนการลงโทษผู้ทุจริตเลือกตั้งนั้นจะไม่มีเรื่องการยุบพรรคหรือตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรค เพราะไม่เช่นนั้นอีกหน่อยกรรมการบริหารพรรคก็จะไม่ใช่ตัวจริง ไม่ต่างจากสื่อมวลชนที่เอาคนตรวจปรู๊ฟมาเป็นบรรณาธิการ

นายมีชัย กล่าวว่า แต่ถ้าพรรคทำทุจริตก็ต้องยุบพรรคแต่ไม่ได้ใช้ระบบเดิมคือตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคและยุบพรรคกรณีมีผู้ทุจริตแต่ไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่าพรรคมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะถ้าจะปล่อยให้ทำเช่นนี้คนที่บริหารตัวจริงจะไปแอบอยู่ข้างหลังกันหมด จึงจะมีการตัดสิทธิเฉพาะบุคคลที่ทุจริตและรู้เห็นเป็นใจเท่านั้นและยังไม่มีความคิดยุบพรรคเว้นแต่ว่าเห็นชัดเจนว่าพรรคกระทำผิด ส่วนจะใช้อะไรเป็นตัวชี้วัดว่าพรรคทำผิดหรือคนทำผิดเพราะพรรคเป็นนิติบุคคลนั้นนายมีชัยยกตัวอย่างว่าถ้าพรรคให้คนต่างชาติเข้ามาบริหารอย่างนี้ก็ต้องยุบพรรค

เมื่อถามว่าถ้าพรรคยอมให้ คนที่อยู่ต่างชาติบริหารต้องถูกยุบพรรคหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่าขึ้นอยู่กับว่าคนๆ นั้นเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ ถ้าไม่เป็นก็อาจจะต้องยุบพรรคเพราะแสดงว่าพรรคนั้นไม่มีคนดีที่จะบริหารพรรคได้ต้องเอาคนนอกมาบริหาร เมื่อถามต่อว่าคนที่มีคดีถือว่าขาดคุณสมบัติในการเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ นายมีชัยกล่าวเลี่ยงว่าสื่อมวลชนสอบถามใกล้ไอดีมากไปทุกที ใกล้เคียงเกินไปขอไม่ตอบ

เมื่อถามว่า กกต.เคยมีการพิจารณากรณีคนอยู่ตางประเทศบริหารพรรคการเมือง แต่มีมติยกคำร้องจะทำให้เกิดความขัดเจนในตัวชี้วัดที่จะใช้ในการตัดสินได้อย่างไร นายมีชัยกล่าวว่าเรื่องนี้คงไม่เขียนรายละเอียดในรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไปกำหนดในกฎหมายลูกว่าทำอย่างไรจึงถือว่าให้คนนอกเข้ามาเป็นผู้บริหาร ซึ่งหากเรื่องนี้เคยเป็นปัญหาอยู่ก็ต้องให้ความชัดเจนมากกว่ากฎหมายปัจจุบัน หากกกต.มาเล่าให้ฟังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็จะแก้ปัญหาให้

ทั้งนี้นายมีชัยไม่ยอมตอบปัญหาว่า การวิดีโอลิงก์เข้ามาถือว่ามีความผิดหรือไม่ โดยกล่าวเพียงว่าไว้คุยกันหลังไมค์