ปัง..ปัง..ปัง..!?!
เสียงปืนนัดกระชากวิญญาณ ปลิดชีพ นายประสิทธิ์ คุ้มหมู่ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว (ทุ่งกะมัง) จ.ชัยภูมิ ตายกลางผืนป่าอย่างน่าสลดใจ
"ประสิทธิ์" จบชีวิตผู้พิทักษ์ป่าไปกับงานที่เขารัก ในวันที่ 14 ต.ค. วันนั้น "ประสิทธิ์" ในฐานะหัวหน้าชุดพิทักษ์ป่าฯ ภูเขียว นำกำลังออกตรวจการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่รับผิดชอบ ระหว่างลาดตระเวนไปพบแก๊งมอดไม้ 4 คนอยู่กลางป่า จึงแสดงตัวเข้าจับกุม เมื่อคนร้ายเห็นจวนตัว หนึ่งในนั้นจึงชักปืนลูกซองยิงสวน กระสุนพุ่งเจาะเข้าที่อกด้านซ้าย ล้มทรุดสิ้นใจตายคาที่
เป็นอีกศพที่สละชีวิตเพื่อรักษาผืนป่า!!?
หลังสิ้นเสียงปืน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากระจายกำลังปิดล้อมพื้นที่เอาไว้ พบเพียงของกลางไม้กฤษณา หรือไม้หอม จำนวน 4 ท่อน เลื่อยอีก 3 ปื้น วางทิ้งไว้จึงยึดไว้เป็นของกลาง ก่อนประสานขอกำลัง ลำเลียงศพเหยื่อกระสุน ออกมาบำเพ็ญกุศลอย่างสมเกียรติ
คดีนี้เป็นคดีสะเทือนขวัญ คนร้ายเหิมเกริมฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ พล.ต.ท.ทวิชชาติ พละศักดิ์ ผบช.ภ.3 พร้อมด้วย พ.อ.ยงยุทธ สอนไม้ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ และ นายยุทธชัย ปัทมสนธิ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) จึงสนธิกำลังตามล่ามือฆ่า ตำรวจพุ่งตรงไปที่แก๊งหาไม้หอมในพื้นที่ก่อนอันดับแรก เนื่องจากสถานการณ์การเข้าป่าหาไม้หอม ในเขตภูเขียวกำลังรุนแรง สืบอยู่ไม่นานกอปรกับหาข้อมูลจากสาย ก็พบว่าก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน มีกลุ่มคน 3-4 คน หอบเสบียงและอุปกรณ์ตัดไม้เข้าไปในป่า ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน คือ กลุ่มของนายบุญเลง สายทองคู่ นายสอง คลังสิน และนายอาทิตย์ คลังสิน ที่มักจะเข้าป่าหาไม้หอมเป็นประจำ แก๊งนี้พื้นเพเป็นชาว จ.เพชรบูรณ์ มีนายบุญเลง เป็นหัวหน้าแก๊ง เข้าป่าหาไม้หอมมานาน
...
พนักงานสอบสวนจึงขออนุมัติออกหมายจับ
ชุดคลี่คลายคดีกดดันทุกหนทาง กระทั่งหลังจากนั้น 4 วัน นายสอง กับนายอาทิตย์ จึงเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน พร้อมให้การซัดทอด ว่าคนลั่นไกคือนายบุญเลง หลังเกิดเหตุหนีเตลิดไปพร้อมกับหลานชาย คือ นายอานนท์ หรือแบงค์ วงศ์สนาม เผ่นเข้าไปในเขตป่าน้ำหนาวที่อยู่ติดกัน ล่าสุดเจ้าหน้าที่กำลังกระจายกำลังไล่ล่าอยู่ พร้อมคำขู่จับตายหากขัดขืนการต่อสู้ เนื่องด้วยก่อนหน้านี้ นายบุญเลง เคยต้องคดีลักลอบตัดไม้ในเขตป่าภูเขียวมาแล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่คุ้นเคยชื่อนี้เป็นอย่างดี และนอกจากนี้ จากการสอบสวนขยายผล 2 ผู้ต้องหา ยังให้การรับสารภาพด้วยว่า ชักชวนกันมาตัดไม้หอมขายให้นายทุนหลายครั้ง เข้าป่าแต่ละครั้งประมาณ 10-20 วัน ทยอยแบกไม้ลงมาขายให้แก่นายทุนที่มารับซื้อในจุดนัดหมาย กิโลกรัมละ 5,000 บาท แบ่งกันได้เฉลี่ยประมาณครั้งละ 8,000-10,000 บาท แต่ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อ มั่นใจว่าขายได้มากกว่านั้น
"บุญเลง"กับหลานชายจึงตกเป็นเป้าหมายในคดีสำคัญ!!
กล่าวถึง "ไม้กฤษณา" หรือ "ไม้หอม" ถือเป็นไม้หวงห้าม ที่นับวันใกล้สูญพันธุ์ เพราะถูกลักลอบตัดขาย เนื่องจากเป็นไม้หอม ที่มีมูลค่ามาก อันเป็นเหตุจูงใจให้เกิดเป็นขบวนการค้าไม้หอมจนถึงขั้นฆ่าแกงกัน
ซึ่ง "ทีมข่าวไทยรัฐ" ได้ลงพื้นที่ปัญหาในแถบ จ.นครนายก ปราจีนบุรี และได้รับการเปิดเผยจากอดีตสมาชิกขบวนการค้าไม้หอมคนหนึ่ง ออกมาแฉเบื้องหลังขบวนการ ว่า แก๊งนี้จะเริ่มต้นจากนายทุนที่มีทั้งคนไทย และนายทุนกัมพูชา ไปติดต่อว่าจ้างแรงงานชาวกัมพูชาหรือมอญ ให้เข้าไปลักลอบตัดไม้หอม ภายในป่าอุทยานฯ โดยมีพรานคนไทยคอยให้การช่วยเหลือนำทาง เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญป่าในพื้นที่มากกว่า โดยแรงงานเหล่านี้ จะถูกพามาปล่อยเข้าป่าครั้งละ 40-50 คน เพื่อหาไม้หอม และไม้พะยูง ที่ขึ้นตามธรรมชาติ ทุกคนจะได้รับค่าจ้างเป็นค่าแรงรายวัน วันละประมาณ 300 บาท ซึ่งบางรายก็ถูกหลอกอ้างว่าให้มาทำไร่ตัดต้นมันสำปะหลัง แต่พอมาถึงพื้นที่ ก็จะถูกบังคับให้ขึ้นเขาไปหาไม้หอม ไม้พะยูง ให้กับนายทุน
สำหรับ สนนราคาไม้หอม หากได้เป็นแก่นไม้ ซึ่งมีลักษณะสีดำ จะถีบตัวอยู่ที่กิโลกรัมละ 1-3 แสนบาท แล้วแต่ความสมบูรณ์ หากไม่ได้แก่นไม้ ก็จะได้เนื้อไม้ที่เข้าคุณสมบัติเป็นสีดำ ที่สามารถนำไปต้มทำน้ำมันหอมได้ ราคาขายจะลดหลั่นลงมา ส่วนอื่นๆ ของต้นกฤษณา อย่างไม้ ท่อนไม้ ราก และผงกฤษณา ที่ทำมาจากเศษไม้ที่เหลือจากการกลั่นน้ำมัน ซึ่งจะนำไปทำธูปหอม ก็สามารถนำไปขายได้เช่นกัน แต่ราคาไม่สูงมากนัก มีต้ังแต่ราคาหลักร้อย ไปจนถึงหลักพันบาท ต่อ 1 กิโลกรัม สำหรับแก่นไม้ที่นำไปกลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหย ราคาขายก็เป็นไปตามคุณภาพ และความพึงพอใจในการซื้อขายเช่นกัน ซึ่งน้ำมันกฤษณา จะขายเป็นหน่วยที่เรียกว่า "โตร่า" โดย 1 "โตร่า" เท่ากับ 12.5 ซีซี หากเป็นน้ำมันกฤษณาเกรดดีเยี่ยม จะขายถึงโตร่าละ 3-4 หมื่นบาท เทียบเท่าราคาทองคำแท่งหนักประมาณ 2 บาทเลยทีเดียว
นับเป็นราคาที่ดึงดูดเพราะทำแล้วเห็นเม็ดเงินที่คุ้มค่า..
สำหรับวิธีการหาไม้หอมในป่า เมื่อเห็นต้นกฤษณา คนงานจะทำการโค่นทันที เพื่อชำแหละลำต้นหาแก่นเนื้อภายใน โดยจะดูตามรูไม้ที่เกิดจากธรรมชาติ หากพบ "ไม้ดำ" หรือ "ไม้เเก่น" ซึ่งถือเป็นไม้เกรดเอ ตัวไม้จะมีความหอมเเละน้ำมันอยู่เป็นจำนวนมาก ก็ถือว่าโชคดี เพราะขายได้หลักแสนหากไม่พบก็จะฟันเอาเฉพาะเนื้อไม้ที่มีสีดำ ขนใส่เป้สะพายหลังที่ทำจากถุงปุ๋ยดัดเเปลงเป็นเป้สนาม ลำเลียงออกมาจากป่า
ส่วนความเป็นอยู่ของแก๊งไม้หอม ขณะดำรงชีพในป่า พวกนี้จะมีการตระเตรียมเสบียงอาหาร ยารักษาโรค รวมทั้งยาบ้าและกัญชา เข้าไปกินไปเสพกันด้วย หากไม่ได้นำไปก็จะมีแก๊งค้ายานำยาบ้าเข้าไปขายให้ถึงที่ แต่จะบวกราคาขึ้นอีกเป็นเท่าตัว โดยแรงงานกลุ่มนี้ จะมีคนไทยติดอาวุธถือปืนยืนคุมเชิงในการหาไม้หอม เพื่อป้องกันแรงงานหลบหนี และแอบขโมยไม้ เมื่อได้ไม้หอมตามต้องการ นายทุนที่มารอรับอยู่ชายป่า ก็จะทำการขนไม้หอมซุกซ่อนไปกับรถ ซึ่งโดยปกติแล้วไม้หอมจะถูกหั่นเป็นท่อนๆ ซุกซ่อนง่าย จึงนิยมซ่อนไว้หลังกระบะรถแล้วใช้ข้าวของอื่นๆ วางทับ และนิยมให้ผู้หญิงเป็นคนขับผ่านด่านตรวจ ที่มีอยู่ตามเส้นทาง เพื่อนำไม้หอมไปต้ม ผ่านกระบวนการของโรงงาน นำส่งออกไปขายในต่างประเทศ เช่น ในแถบตะวันออกกลาง จีน ไต้หวัน และประเทศแถบยุโรป
...
ทำให้มีการลักลอบขายกันโจ๋งครึ่ม...
จากสถิติการส่งออกไม้กฤษณา ย้อนหลังไป 5 ปี ที่เก็บรวบรวมโดยสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร พบว่า ส่วนใหญ่ไทยจะส่งออกชิ้นไม้กฤษณา 2 พันธุ์ คือ พันธุ์เขมรและพันธุ์มาเลเซีย เพิ่มขึ้นทุกปี จากปี 2553 ส่งออกชิ้นไม้กฤษณาพันธุ์เขมรเพียง 1,595 กิโลกรัม และพันธุ์มาเลเซีย 2,007 กิโลกรัม มาปี 2557 ส่งออกพันธุ์เขมร เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 64,822 กิโลกรัม ส่วนพันธุ์มาเลเซีย ส่งออกถึง 10,608 กิโลกรัม ส่วนการส่งออกน้ำมัน ในปี 2553 ไทยส่งออกน้ำมันที่กลั่นจากชิ้นไม้พันธุ์เขมร 860 กิโลกรัม และจากพันธุ์มาเลเซียประมาณ 366 กิโลกรัม และเพิ่มขึ้นมากในปี 2556 ที่ส่งออกน้ำมันที่กลั่นจากชิ้นไม้พันธุ์เขมร สูงถึง 7,021 กิโลกรัม และพันธุ์มาเลเซีย 246 กิโลกรัม และมาในปี 2557 น้ำมันจากไม้พันธุ์เขมร ลดลงเหลือ 1,505 กิโลกรัม และพันธุ์มาเลเซีย เหลือเพียง 97 กิโลกรัม และนอกจากนี้ ไทยยังมีการส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้กฤษณาในรูปแบบอื่นๆ เช่น ขี้เลื่อยกฤษณาที่ยังไม่กลั่นน้ำมัน ไม้ ไม้ท่อน ผงกฤษณา และราก ส่วนการนำเข้า ส่วนใหญ่ก็เป็นชิ้นไม้เช่นเดียวกัน โดยมีการนำเข้าชิ้นไม้กฤษณามากที่สุดในปี 2555 สูงถึง 3,000 กิโลกรัม ส่วนล่าสุดในปี 2557 นำเข้า 298 กิโลกรัม
ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้ราคาไม้หอมดีดตัวมูลค่ามหาศาล!??
ด้วยมูลค่าไม้กฤษณาที่มีราคาแพง โดยเฉพาะชิ้นไม้ หรือแก่นไม้ ที่ในแต่ละปีมีการค้าขายเป็นมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท จึงทำให้มีการลักลอบตัดขาย ดังน้ัน เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ จึงได้บรรจุให้ไม้กฤษณาและผลิตภัณฑ์ เป็นพืชอนุรักษ์บัญชีที่ 2 หรือพืชใกล้สูญพันธุ์ ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช ปี 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของอนุสัญญา ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ "ไซเตส" ซึ่งการทำการค้าระหว่างประเทศ จะต้องขอหนังสืออนุญาต จากสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตรทุกครั้ง
...
แม้กระทั่งต้นกฤษณาที่ปลูกเองในสวนก็ห้ามตัดเคลื่อนย้ายโดยเด็ดขาด!!!
ย้อนกลับไปดูสถานการณ์การลักลอบค้าไม้กฤษณา ที่ผ่านมาดูเหมือนจะเงียบหายไป เพราะในระยะหลังมีออเดอร์ไม้พะยูงขึ้นมาแทนที่ แต่ด้วยสภาพความจริงแล้ว การค้าไม้หอมยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง วัดได้จากสถิติการจับกุมและการปะทะกันระหว่างแก๊งมอดไม้กับเจ้าหน้าที่ ที่มีทั้งบาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่าย การสร้างชุมชนเข้มแข็งจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่ชาวบ้านในแถบที่ติดพื้นที่อุทยาน ควรร่วมมือกันเป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่ในการปกป้องผืนป่า
เหมือนกับที่หมู่บ้านวังอ้ายป่อง อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ที่นายสุริยะ อุทระภาศ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 จัดตั้งชุดเฉพาะกิจ รักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. ขึ้นมาลาดตระเวนตามแนวป่าทับลาน อีกหนึ่งพื้นที่เป้าหมายที่แก๊งค้าไม้หอมนิยมเข้าไปตัดไม้ เพื่อทำการสกัดกั้นการค้าไม้หอม ไม่พะยูง และของป่า ที่ยังระบาดหนักในตอนนี้ โดยชุดปฏิบัติการดังกล่าว มีหน้าที่ตั้งด่านเฝ้าระวัง ลาดตระเวน และหาข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มนายทุนและแรงงานเขมร ที่มักแอบเข้าป่าหาไม้หอมอยู่เป็นประจำ ที่ผ่านมาจับได้หลายสิบคนยึดของกลางได้หลายรายการ
เป็นตัวอย่างที่ดีในการช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติ
"พวกเราทำงานด้วยจิตอนุรักษ์ ในฐานะที่อยู่ใกล้ป่าทับลาน ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของแก๊งค้าไม้หอม จึงตั้งชุดปฏิบัติการขึ้นมาป้องปราม ซึ่งที่ผ่านมา สามารถจับกุมขบวนการนี้ได้หลายครั้ง ยึดได้ทั้งไม้พะยูง ไม้หอม และยาเสพติด รวมทั้งเสบียงอาหาร จึงอยากวิงวอนให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เขตป่า รวมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อช่วยสกัดกั้นการกระทำความผิด เพื่อรักษาผืนป่าให้คงอยู่ต่อไป" นายสุริยะ กล่าวทิ้งท้าย
...
ตราบใดที่มีออเดอร์และใบสั่งจากท้องตลาด ความพยายามในการหาวัตถุดิบ เพื่อตอบสนองก็คงต้องดำรงอยู่ การกระทำผิดกฎหมายจึงเกิดขึ้นเนืองๆ แต่หากทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแล มีใจปกป้องผืนป่า อนุรักษ์รักษาธรรมชาติ การกระทำความผิดนั้นก็คงจะทำได้อย่างยากลำบากขึ้น
หมดเวลาทำลาย ถึงเวลาคืนกำไรให้ธรรมชาติได้แล้ว!!?
ทีมข่าวไทยรัฐรายงาน
อ่านเพิ่มเติม