กระทรวงทรัพยากรฯจับมือหน่วยงานเกี่ยวข้อง แก้ปัญหานายทุนบุกรุก “ภูทับเบิก” จ.เพชรบูรณ์ ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ไปจัดระเบียบใหม่ พร้อมหนุนเปิดเที่ยวเสรี “บิ๊กเต่า” พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ชี้ให้นักท่องเที่ยวเห็น “รถติด-ที่พักเต็ม-ขยะเกลื่อน” แล้วจะขยาดหนีเอง แฉ 62 ที่พัก-รีสอร์ตสร้างไม่ได้มาตรฐาน หลายแห่งต่อเติมไปเรื่อยหวังรับนักท่องเที่ยว ด้าน รมว.การท่องเที่ยวฯ เตรียมทำแผนแม่บท ฝันอยากเห็นการท่องเที่ยวแบบโชว์อัตลักษณ์ชนเผ่า

กรณีการแก้ปัญหานายทุนบุกรุกสร้างบ้านพักและรีสอร์ตบน “ภูทับเบิก” ต.วังตาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ สถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิตที่มีการก่อสร้างแบบไร้ทิศทางจนแออัด ส่งผลให้สภาพแวดล้อมที่เคยสวยงามตามธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รวมทั้งกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็พยายามจะเข้าไปแก้ปัญหา และในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีวันหยุดต่อเนื่องถึง 3 วัน ทำให้นักท่องเที่ยวแห่ไปเที่ยวที่ภูทับเบิก จนเกิดปัญหาทั้งที่พักและสภาพจราจรแออัดรถติดขัดนานหลายชั่วโมง

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ต.ค. เวลา 13.30 น. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ประชุมร่วมกับนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เรื่องการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ภูทับเบิก ต.วังตาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ มีนายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ นายธัญญา เนติธรรมกุล รักษาการอธิบดีกรมอุทยานฯ และนายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

...

จากนั้น พล.อ.สุรศักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าจะให้ พม.ไปสำรวจพื้นที่ทั้งหมดที่อยู่ในความรับผิดชอบเพื่อจัดระเบียบภูทับเบิกใหม่ ทั้งพื้นที่และรายชื่อผู้ครอบครองที่มีรายชื่อในบัญชีของ พม.ให้เสร็จภายใน 2 เดือน เมื่อสำรวจเรียบร้อยแล้วให้ทำเรื่องขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ใหม่ เพราะถือว่าพื้นที่ยังเป็นของกรมป่าไม้ นอกจากนี้ ให้หยุดยั้งกลุ่มนายทุนคนนอกพื้นที่ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ในพื้นที่ภูทับเบิกโดยมิชอบและให้จัดระเบียบสถานที่พักนักท่องเที่ยวให้เกิดความสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยไม่ให้ก่อสร้างรีสอร์ตและบ้านพักใหม่เพิ่มเติม ส่วนรีสอร์ตผิดกฎหมายให้รื้อถอนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

รมว.ทรัพยากรฯกล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ สถานที่พักของนักท่องเที่ยว จำนวน 62 แห่ง พบว่าไม่มีความปลอดภัยเลย เพราะการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน หลายที่ไม่มีการตอกเสาเข็ม เป็นเพียงการเอาเหล็กมาปักเป็นฐานแล้วก่อสร้างและมีอีกหลายแห่งที่ต่อเติมห้องพักอย่างไม่ถูกต้อง เพียงเพื่อต้องการรองรับนักท่องเที่ยวอย่างเดียว จึงสั่งการให้สำนักงานโยธาธิการ จ.เพชรบูรณ์ ไปตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อนักท่องเที่ยว

เมื่อถามว่าจะยังไม่มีการดำเนินคดีกับ 62 รีสอร์ตที่ไปก่อสร้างในพื้นที่ผิดกฎหมายใช่หรือไม่ พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวว่า ยังไม่มีการดำเนินคดี ต้องรอให้ พม.ไปสำรวจพื้นที่และตรวจสอบรายชื่อผู้ครอบครองก่อน จากนั้นจึงจะมาวางแผนว่าจะดำเนินการอย่างไร และคงไม่มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เพราะภูทับเบิกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามใครก็อยากไป เมื่อไปถึงแล้วเห็นการจราจรติดขัด ต้องอยู่แต่บนรถ ไม่มีที่พัก น้ำไม่พอใช้ และเต็มไปด้วยขยะ ก็คงไม่อยากไปเที่ยวอีก

ขณะที่นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า ภูทับเบิกมีนักท่องเที่ยวไปเยือนประมาณ 1 แสนคนต่อปี แต่มีปัญหาเรื่องเส้นทางขึ้นลงเพียงทางเดียวจึงทำให้การจราจรแออัด ดังนั้น จากนี้คงต้องมีการวางแผนแม่บทการท่องเที่ยว ปรับปรุงและพัฒนาภูทับเบิกใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือนนี้ โดยดึงเอาเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ในพื้นที่คือการเป็นชุมชนเกษตรกรชาวม้งออกมานำเสนอ รวมถึงจัดการจราจรใหม่ เพื่อไม่ให้ธรรมชาติได้รับผลกระทบ เพียงแต่ช่วงนี้ภูทับเบิกมีกระแสข่าว นักท่องเที่ยวจึงอยากเข้าไป พร้อมกันนี้ ยังเตรียมต่อยอดนำกรณีของภูทับเบิกเป็นกรณีศึกษา ในการป้องกันแหล่งท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มความเสี่ยงจะเกิดปัญหาซ้ำรอยในพื้นที่ภูทับเบิกต่อไป โดยส่วนตัวเห็นว่าทั้งภูทับเบิกเองหรือแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังจะได้รับความนิยมมากขึ้นนั้น ควรมีการจัดโซนนิ่งเพื่อจัดระเบียบแนวทางการพัฒนาให้มีความชัดเจน เช่น กำหนดให้ชัดว่าพื้นที่ใดควรเป็นโซนที่ตั้งของโรงแรม โซนใดควรเป็นพื้นที่อนุรักษ์และสงวนรักษาไว้เพื่อสิ่งแวดล้อม