วันเสาร์สบายๆวันนี้มาคุยเรื่องโมเดลการสร้างเสริมสุขภาพกันดีกว่า เรื่องนี้ต้องยกเครดิตให้ สสส.หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ที่มีผลงานเข้าตา WHO หรือองค์การอนามัยโลก ทำให้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกกับ สสส.ในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เป้าหมายหลักเพื่อให้มีองค์กรรูปแบบกองทุนสสส.ขยายไปยังประเทศต่างๆมากขึ้น และเพื่อลดการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs
WHO ยกย่องรูปแบบการทำงานของ สสส.เป็น นวัตกรรมของการสร้างเสริมสุขภาพระดับโลก ซึ่ง สสส.มีงบประมาณจาก Earmarked Tax หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่าภาษีบาป โดยใช้เงินจากภาษีสุราและยาสูบมาสร้างเสริมสุขภาพของคนไทย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าการรักษาพยาบาล ยึดหลัก “สร้างดีกว่าซ่อม” สร้างสุขภาพให้ดี ดีกว่าซ่อมสุขภาพที่เสื่อม
ส่วนโรค NCDs เป็นโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่ติดต่อผ่านการสัมผัส หรือผ่านตัวนำโรค (พาหะ) แต่เกิดจากปัจจัยต่างๆภายในร่างกาย ส่วนใหญ่เป็นผลจากการใช้ชีวิตที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเช่น กินเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารรสจัด และมีความเครียดสะสม
สาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกมีเกินกว่า 60% ที่ตายด้วยโรค NCDs และในจำนวนนี้มีเกิน 80% ที่เป็นประชากรของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งกลุ่มโรค NCDs ที่มีอัตราผู้ป่วยและเสียชีวิตสูงสุดคือ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง เห็นชื่อโรคแล้วนึกถึงคนใกล้ตัวใช่ไหมครับ
อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันโรคเหล่านี้ได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และสร้างสุขภาวะทางจิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ สสส.รณรงค์มาตลอด
ทั้ง รูปแบบของกองทุนและแนวทางการปฏิบัติงานของ สสส.เป็นโมเดลที่ WHO จะผลักดันให้เกิดขึ้นในอีก 10 ประเทศได้แก่ บังกลาเทศ พม่า อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีเหนือ มัลดีฟส์ มองโกเลีย เนปาล ศรีลังกา และภูฏาน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ร่วมใน WHO สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
...
หลังจากเซ็นเอ็มโอยูไปเมื่อเดือนก่อน ระหว่างนี้จนถึงสิ้นปีจะเป็นช่วงของการเตรียมงาน ออกแบบหลักสูตรเนื้อหาการประชุม ทำงานวิจัยถอดบทเรียนประเด็นปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงวิเคราะห์นโยบายการคลังเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ก่อนทำเป็นพิมพ์เขียวส่งมอบให้ 10 ประเทศดังกล่าว
ก็เป็นเรื่องราวดีๆที่เก็บมาเล่าสู่กันฟัง ผลงานของ สสส.ถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ส่วนเรื่องที่ สสส.กำลังถูกตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ก็ต้องดำเนินการต่อไป
ยังดีที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ไม่หลงไป กับกระแสกดดัน ถึงได้รีบประกาศว่าเจตนาของการตรวจสอบครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่ยุบหรือไม่ยุบ สสส. แต่มาตรวจสอบในประเด็นที่ติดขัดและเป็นข้อสงสัยของสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องปรับแก้กันไป เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประโยชน์สูงสุด.
ลมกรด