เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ดร.สุขฤดี สุขใจ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก (มน.) เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการสถานีผลิตไฟฟ้าในหน่วยงานราชการ ซึ่งวิทยาลัยฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณประจำปี 2557 จากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน โดยผ่านกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นผลให้การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กับระบบการเก็บและจ่ายกระแสไฟฟ้าด้วยกำลังไฟ 400 kW สำเร็จลุล่วงเรียบร้อย โดยเปิดใช้งานระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ โดยจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่านเข้าสู่ระบบ “สมาร์ทกริด” ซึ่งนอกจากจะป้อนให้วิทยาลัยพลังงานทดแทน ใช้ทั่วบริเวณแล้วยังเหลือพลังงานสำหรับป้อนเข้าสู่ระบบจ่ายไฟฟ้าในมหาวิทยาลัยนเรศวรบางส่วนอีกด้วย

ดร.สุขฤดี สุขใจ กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ริเริ่มดำเนินการระบบ “ไมโครกริด” เป็นแห่งแรกของเอเชียเมื่อประมาณ 2-3 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นรูปแบบของระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งทำงานภายใต้ระบบควบคุม ระบบนี้จะเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้ากำลังหลักคือเชื่อมกับระบบของการไฟฟ้าฯ ก็ได้ โดยสามารถแยกระบบให้ทำงานต่อเนื่องอย่างเป็นอิสระภายในโครงข่ายไฟฟ้าของตนก็ได้จนกว่าระบบไฟฟ้ากำลังหลักคืนกลับสู่สภาพปกติก็จะกลับมาเชื่อมต่อดังปกติ การดำเนินงานดังกล่าวใน เบื้องต้นได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งช่วยให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 120 kW แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของวิทยาลัยจึงได้ค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมพร้อมกับจัดทำโครงการสถานีผลิตไฟฟ้าในหน่วยงานราชการเสนอต่อกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 400 kW

การที่วิทยาลัยฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนดังกล่าวช่วยให้กำลังผลิตรวมในปัจจุบันเพิ่มขนาดขึ้นเป็น 520 kW พร้อมกับพัฒนาให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์เชื่อมเป็นระบบเดียวกันในชื่อ “สมาร์ทกริด” โดยมีระบบบริหารจัดการแบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะมาควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้าและควบคุมไม่ให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างสิ้นเปลือง โดยมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้ในอาคารและห้องเรียนเพื่อหยุดการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้หลอดไฟ และเครื่องปรับอากาศหากไม่มีใครอยู่ในห้อง แต่ในทางกลับกันระบบควบคุมฯจะจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับหลอดไฟ และเครื่องปรับอากาศตามปกติหากมีคนอยู่ ซึ่งช่วยประหยัดกระแสไฟฟ้าได้มากขนาดที่ค่าใช้จ่ายจะลดลงได้ถึงร้อยละ 40 เลยทีเดียว

...

“ทั้งนี้ ส่วนประกอบหลักสำหรับระบบผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ในโครงการนี้มีด้วยกัน 2 แบบ แบบแรกเป็นการติดตั้งบนพื้น กับแบบติดตั้งบนหลังคาโดยมีระบบสะสมพลังงานจากแบตเตอรี่ที่มีความจุ 100 kW ต่อชั่วโมง ซึ่งได้รับการออกแบบเป็นระบบบริหารจัดการพลังงานแบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (BEM) ที่ให้ประโยชน์ยิ่งกว่าระบบผลิตไฟฟ้าในอดีตโดยที่วิทยาลัยพลังงานทดแทนได้พัฒนาระบบต่างๆให้สามารถสื่อสารเข้ากันได้ทั้งการผลิตไฟฟ้า และการควบคุมการใช้งานที่เราสามารถกำหนดการใช้ในแต่ละวันและแต่ละช่วงเวลาได้ ที่ผ่านมามีหน่วยงานราชการ และหน่วยงานเอกชนเดินทางมาศึกษาดูงานที่วิทยาลัยของเราเกือบทุกวัน ซึ่งต้องถือว่าบรรลุเป้าหมายและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานทุกประการ” ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลังงานทดแทน ม.นเรศวร กล่าว.