“งอบสวยวิจิตร อิฐทนทาน มันเทศ หอมหวาน งามตระการบ้านทรงไทย เมืองชัยพระเจ้าตาก” ...นี้คือคำขวัญของอำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

แม้สภาพทางภูมิศาสตร์ หรือที่ตั้งของอำเภอนี้ เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำเรือกสวน ไร่นา แต่สิ่งที่ทำให้ “บางปะหัน” เป็นที่รู้จักของคนต่างถิ่นมากที่สุด กลับเป็น ดินแดนหรือแหล่งทำงอบ ที่ใหญ่ที่สุดส่ง ขายไปทั่วประเทศ จนแทบจะกล่าวได้ว่า งอบทุกใบในประเทศนี้ล้วนมาจาก อ.บางปะหัน แทบทั้งสิ้น

สุมาลี ตั้งสกุล หนึ่งในผู้ทำหน้าที่เป็นคนกลาง หรือศูนย์รวมการผลิตงอบ ในพื้นที่ ต.ขวัญเมือง อ.บางปะหัน ซึ่งมีสมาชิกลูกข่ายผลิตงอบอยู่ประมาณ 40 ราย เล่าให้ฟังว่า

การทำงอบของชาว อ.บางปะหัน ไม่เพียงเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน ยังเป็นศิลปหัตถกรรมเก่าแก่อยู่คู่กับสังคมเกษตรมาช้านาน แต่จะมีจุดเริ่มมาตั้งแต่สมัยใดนั้น ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่อย่างน้อยก็มีมาก่อนรุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย ของเธอเกิด หรือเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ศตวรรษขึ้นไป

เธอว่า อาชีพทำเครื่องจักสานของชาว “กรุงเก่า” ที่ขึ้นชื่อ นอกจากงาน สานปลาตะเพียน สานพัด อีกอย่างที่สร้างชื่อเสียงให้แก่คนกรุงเก่าอยุธยาเป็นอย่างมากก็คือ การสานงอบ

ลี บอกว่า การทำงอบของชาวบางปะหัน จะทำกันกระจัดกระจายในหลายตำบล เช่นที่ ต.บางนางร้า ต.ขวัญเมือง ต.บางปะหัน ต.ตานิม ต.บางเพลิง ต.บ้านลี่ และ ต.บางเดื่อ

การทำงอบต้องใช้วัสดุ 8 อย่าง ประกอบด้วย ไม้ไผ่ ใบลาน มีดเล่มบาง เข็มใหญ่ สายเอ็น เส้นด้าย เหล็กหมาด และ กระดาษสา

เหตุที่ใช้ไม้ไผ่มาจักสานเป็นโครงงอบ ก็เพราะเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย มีอยู่ทั่วไปในประเทศ ลำต้นของไผ่สามารถนำมาจักตอกเป็นเส้นๆ สะดวกในการดัดโค้งขึ้นรูป สามารถรับแรงดึง และแรงกดได้ดี ไม่แตกหรือหักง่าย จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ที่สานด้วยไผ่ทรงรูปอยู่ได้นาน

...

ส่วน “ใบลาน” ลี ว่า มีคุณสมบัติเด่นในแง่ความคงทน และเหนียว เคยมีบางคนทดลองนำใบของต้นตาล ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันมาสานเป็นงอบ ปรากฏว่าผุไวกว่าใบลาน และเหนียวทนทานสู้ใบลานไม่ได้

“เมื่อปี 2556 งอบขายดีมาก มีลูกค้า ทั้งจากลำปาง เชียงราย พะเยา ชัยนาท ราชบุรี กาญจนบุรี และสุราษฎร์ธานี มาสั่งซื้องอบของที่บ้านไปขายต่อ บางช่วงมียอดสั่งทำถึง 1,000 ใบก็มี แต่เราไม่มีของจะส่งป้อนให้ เพราะงอบ 100 ใบ ต้องใช้เวลาทำนานเป็นเดือน”

เธอว่า การทำงอบมีหลายขั้นตอน กว่าจะได้งอบขึ้นมาสักใบ จึงต้องใช้เวลา เริ่มจากการ ขึ้นโครงงอบ โดยใช้ไม้ไผ่ทำเป็นเส้น “ตอก” สานโครงขึ้นมาก่อน ขั้นตอนนี้ มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ใบละ 9-15 บาท ขึ้นอยู่กับราคาของวัตถุดิบแต่ละช่วง และความต้องการใช้งอบในท้องตลาดมีมากน้อยเพียงใด

ขั้นถัดมา ติดใบลานกับโครง เธอว่า แรงงานที่ใช้ในการติดใบลาน เฉพาะในกลุ่มของเธอปัจจุบันเหลือคนทำอยู่แค่ 10 กว่าคน ขั้นตอนต่อไป ต้องนำไป “ด้น” หรือเย็บใบลานเข้ากับโครงของงอบ ต่อด้วย การผูกขอบงอบ แล้วจึงนำไป ปะจอม หรือ ปะกระหม่อมงอบ (ส่วนซึ่งอยู่บนสุดของงอบ) ก่อนที่จะส่งมอบให้ลูกค้าขายปลีก นำไปใส่ “รังงอบ” (ส่วนที่มีไว้เพื่อสวมศีรษะ ภายในงอบ) เอาเอง

เธอว่า แรงงานที่ใช้ในการ ติดใบลาน ด้นงอบ และ ผูกขอบงอบ ที่อยู่ในเครือข่ายของเธอ รวมแล้วปัจจุบันมีประมาณเกือบ 40 คน

“คนทำงอบเป็นอาชีพที่น่าสงสารอาชีพหนึ่ง เพราะมีรายได้น้อย และไม่มีใครมาดูแล ไม่ว่าดีหรือร้าย พวกเราต้องดูแลกันเอง ยกตัวอย่าง ค่าแรงติดใบลานบนโครงงอบ ได้แค่ใบละ 3 บาท เฉลี่ยคนหนึ่งติดได้วันละไม่เกิน 10 ใบ ก็ได้ค่าแรงเพียงแค่วันละ 30 บาท ครั้นจะให้มากกว่านี้ คนที่จ้างเขาก็ไม่มีกำไรมากพอ”

“จะเห็นว่ารายได้เท่านี้ แต่ที่พวกเขาอยู่ได้ เป็นเพราะคนทำงอบส่วนใหญ่ เป็นคนรุ่นคราวปู่ ย่า ตา ยาย ปัจจุบันเลี้ยงหลานอยู่กับบ้าน ลูกๆ ของตัวเองออกไปทำงานนอกบ้านกันหมด อาศัยว่าตัวเองเฝ้าบ้าน และช่วยเลี้ยงหลานไปด้วย ยามว่างไม่มีอะไรทำ ก็หันมาทำงอบควบคู่ไปกับการเลี้ยงหลาน”

“ลี” บอกว่า สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงก็คือ อีกหน่อยงานหัตถกรรมทำงอบของชาวบางปะหันอาจถึงคราวสูญสิ้น หรือเหลือเพียงตำนานให้เล่าขาน

เพราะนอกจากประสบมรสุม ได้ค่าแรงน้อย ไม่คุ้มค่าเหนื่อย การสานงอบยังต้องใช้สายตาเพ่งมาก ที่สำคัญเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ เลือกเข้าไปเป็นลูกจ้างในโรงงานกันหมด ไม่มีใครสนใจที่จะสืบสานการทำงอบ เมื่อคนทำงอบรุ่นปัจจุบันร่วงโรยไปตามกาลเวลา วันนั้นจึง
อาจถึงกาลอวสานของงอบใบลานเมืองไทย

เธอว่า อีกเหตุปัจจัยที่เป็นตัวเร่งเร้าให้งอบถึงวันอวสานเร็วขึ้น ก็คือ ค่านิยม และ โอกาสในการใช้งอบ

“เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว การทำนา ยังไม่มีรถไถ รถหว่าน และรถเกี่ยวข้าวไว้ช่วยทุ่นแรงเหมือนทุกวันนี้ สมัยนั้นกิจกรรมทุกอย่างในท้องนายังต้องใช้แรงคนเป็นหลัก แถมทุกคนมักต้องอยู่กลางแดด กลางฝน กลางท้องทุ่งกันเป็นเวลานาน งอบจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการบังแดด กันฝน เสมือนบริขารที่ขาดไม่ได้ของเกษตรกร”

“เมื่อก่อนที่บ้านเคยซื้อใบลานมาตุนไว้ทำงอบคราวละ 400 มัด หรือ 400,000 ก้าน มีงอบตั้งกองไว้ขาย 5,000-6,000 ใบ พอถึงช่วงไถหว่าน หรือเกี่ยวข้าว ใช้เวลาไม่นานจะขายงอบได้จนหมดเกลี้ยง ไม่เหมือนทุกวันนี้ ที่เริ่มแย่มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ลงใบลานแค่ 50 มัด ยังต้องดันกันแทบตายกว่าจะขายหมด”

“ลี” บอกว่า นอกจากปัจจุบันชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน มีเครื่องทุ่นแรงในการทำเกษตร ทำให้ใช้เวลาอยู่กับเรือกสวน ไร่นา น้อยลงกว่าในอดีต เท่านั้นไม่พอ เกษตรกรบางส่วนยังหันมาใช้ หมวกแก๊ป แบบที่มีผ้าปิดคลุมหน้ามิดชิด เหลือเจาะช่องไว้เพียงแค่ลูกตา แม้ใส่แล้วจะร้อนอบอ้าว อับทึบ เหงื่อแฉะไปทั่วทั้งหัว สู้งอบ ซึ่งใส่แล้วโปร่งโล่งสบายไม่ได้ แต่ก็เป็นอีกค่านิยมหนึ่ง ที่เป็นตัวบั่นทอนยอดขายของงอบ

...

อีกปัจจัยที่ลีและเพื่อนร่วมอาชีพทำงอบของเธอหลายคนเชื่อว่า เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่มีส่วนทำให้ยอดขายงอบจ๋อย หรือว่าแจ๋วนั้น นั่นก็คือ ภาวะภัยแล้ง หรือกรณีที่ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ขาดน้ำจะใช้ทำการเกษตรนั่นเอง

“ปกติงอบใบหนึ่ง หลังจากใช้งานแล้ว ถ้ามีการดูแลรักษาอย่างดี เช่นเมื่อโดนน้ำฝนมา เช็ดให้แห้งแล้วตากแดด ราจะไม่ขึ้น ทำให้ใบลานผุช้า จึงมีอายุการใช้งานยาวนานเฉลี่ยใบละ 2-3 ปี แต่เมื่อใดที่เกิดภัยแล้ง เมื่อต้องหยุดทำการเกษตร การใช้งอบก็พลอยหยุดตามไปด้วย จึงเป็นอีกช่วงที่เลวร้ายในชีวิตคนขายงอบ”

เมื่อหลายเหตุปัจจัยความไม่แน่นอนรุมเร้าคนทำงอบดังที่ว่ามาข้างต้น คนทำงอบขายส่วนหนึ่งจึงต้องดิ้นรนแสวงหาทางออกให้ตัวเอง เช่น จากที่เคยมุ่งทำงอบขายให้แก่เกษตรกร ก็เริ่มเปลี่ยนไปทำงอบแนวที่มีสีสันสวยงาม เหมาะใช้เป็นของฝาก ของที่ระลึก ขายให้แก่นักท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศ

“จากงอบใบลานธรรมดาที่เน้นใช้วัสดุธรรมชาติพื้นๆ จึงเริ่มมีการนำลูกเล่นและสีสันเติมแต่งเข้าไป เช่น มีการถากริมงอบด้วยไหมสีต่างๆ ตกแต่งจอมงอบให้ดูสวยงาม หรือเปลี่ยนจากทำงอบนาง มาทำเป็นงอบขนาดเล็กสำหรับเด็ก เพื่อให้เด็กใช้สวมหัวได้ เป็นต้น”

สุมาลี ว่า นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของคนทำงอบแหล่งใหญ่และแหล่งสุดท้ายของประเทศ

“ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ปีที่แล้วกับปีนี้ ยอดขายงอบวูบลงไปมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หากเป็นไปได้อยากวิงวอนให้รัฐบาล ช่วยหาตลาดให้พวกเราด้วย” เธอทิ้งท้าย.