ร้องเรียนกรมคุ้มครองสิทธิ ให้ช่วยติดตาม การบังคับคดี
ครูอนุบาลโรงเรียนเอกชน ย่านหนองแขม ฝั่งธนฯ นั่งรถเข็นเข้าร้องกรมคุ้มครองสิทธิฯ ช่วยตามเงินเยียวยาจากกรมบังคับคดี หลังถูกรถเก๋งของผู้ปกครองคันเร่งค้าง พุ่งชนทะลุกำแพง ขณะนั่งทำงานในห้องสมุด ทำให้ท่อนล่างเป็นอัมพาต เหตุเกิดเมื่อปี 48 คดีนี้ศาลสั่งคู่กรณีชดใช้ 2.5 ล้านบาท แต่เจ้าตัวยังไม่ได้แม้แต่ บาทเดียว
ที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 ต.ค. นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมการระงับข้อพิพาท กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม รับการร้องเรียนจากนางวิไล ช้างสำฤทธิ์ อายุ 53 ปี อดีตครูประจำชั้นอนุบาล ของ ร.ร.ศึกษาสมบูรณ์อนุสรณ์ ย่านเขตหนองแขม กทม. ซึ่งเป็น ร.ร.เอกชน ให้ช่วยติดตามความคืบหน้าคดีที่ผู้ร้องประสบอุบัติเหตุถูกรถเก๋งของผู้ปกครองขับมารับนักเรียนช่วงเลิกเรียนพุ่งทะลุกำแพงเข้าชน ขณะนั่งทำงานอยู่ภายในห้องสมุดชั้นล่างโรงเรียน ทำให้เป็นอัมพาตช่วงล่างเดินไม่ได้ต้องนั่งรถเข็นตลอดเวลา เหตุเกิดเมื่อเดือน ส.ค.48 โดยคู่กรณียังไม่ชดใช้ค่าเสียหายให้ อีกทั้งกรมบังคับคดีดำเนินการฟ้องบังคับคดีนำทรัพย์สินขายทอดตลาดล่าช้า
นางวิไลกล่าวว่า จากอุบัติเหตุครั้งนั้น ทำให้บาดเจ็บสาหัส กระดูกต้นคอและไหปลาร้าหัก ศีรษะแตก ต้องรักษาตัวที่ รพ.ศรีวิชัย 2 และ รพ.ธนบุรี 1 นานกว่า 4 เดือน ส่วนคู่กรณีอ้างว่าอุบัติเหตุครั้งนั้นเกิดจากระบบเบรกของรถยนต์มีปัญหาและคันเร่งค้าง ต่อมาเมื่อปี 56 ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้คู่กรณีชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าเสียผลประโยชน์และค่าใช้จ่ายรายเดือนรวมทั้งหมด 2,500,000 บาท แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินก้อนดังกล่าว ทราบว่าปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของกรมบังคับคดีเตรียมนำทรัพย์คู่กรณีมาขายทอดตลาด
...
“ปัจจุบันดิฉันมีภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือน ประกอบด้วย ค่ารักษาพยาบาล 2,000 บาท ค่ากายภาพบำบัด 4,800 บาท และค่าการศึกษาของลูก 8,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีหนี้สินในบัตรเครดิต 3 ใบ รวมทั้งหนี้สินที่ยืมเงินจากญาติ ครอบครัวมารักษาตัวด้วย อยากให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ ช่วยติดตามการดำเนินงานของกรมบังคับคดีที่มีความล่าช้า เพื่อนำเงินที่ศาลสั่งให้คู่กรณีชดใช้มาเยียวยาความเดือดร้อน” นางวิไลกล่าว
ขณะที่นายเกิดโชคกล่าวว่า กรมคุ้มครองสิทธิฯจะเร่งประสานกับกรมบังคับคดีเพื่อตรวจสอบ ขณะนี้ได้ฟ้องบังคับคดีไปแล้วหรือไม่ หากยังไม่ฟ้องเตรียมประสานกองทุนยุติธรรมให้ความช่วยเหลือฟ้องบังคับคดีต่อไป แต่หากฟ้องบังคับคดีแล้วก็จะเร่งรัดนำเงินมาชดใช้เยียวยาโดยเร็ว หลังจากนี้กระทรวงยุติธรรมเตรียมแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 เป็นการแก้ไขในส่วนของการขยายเวลาการยื่นขอรับเงินเยียวยาและขยายฐานความผิดเพิ่ม อาทิ การค้ามนุษย์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึง พ.ร.บ.นี้มากขึ้น