นายกล้าณรงค์ ศรีสกุล หรือ แม็ค บัณฑิตวิศวะหนุ่ม รั้วจามจุรี ซึ่งวินาทีนี้กำลังตกเป็นที่พูดถึงในโลกสังคมออนไลน์อย่างล้นหลาม จากหนุ่มวิศวะหน้าตาดุดัน สู่ลูกผู้ชายหัวใจกตัญญู วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พาผู้อ่านไปสำรวจทั้ง 4 ห้องหัวใจของ แม็ค กล้าณรงค์ บัณฑิตจุฬาฯ ก้มกราบเท้าพ่อขับรถขยะ ชมคลิป เรียกได้ว่า ซาบซึ้งชวนน้ำตาริน...
จากฐานันดรไร้ตัวตน สู่นิสิตรั้วจามจุรี
เดิมที กล้าณรงค์ ไม่ใช่เด็กเรียนเก่งของชั้นเรียนแต่อย่างใด ซึ่งอาจจะเรียกสถานะของกล้าณรงค์ตามศัพท์ในกระแสปัจจุบันได้ว่า เขาเป็นเด็กนักเรียนอีกหนึ่งคนที่อยู่ใน “ฐานันดรไร้ตัวตน” ของโรงเรียน แต่ด้วยความมุ่งมั่นอยากจะสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยให้สำเร็จ กล้าณรงค์และ เมฆ ศรีสกุล ผู้เป็นพ่อ จึงเสาะแสวงหาติวเตอร์ชื่อดังทั่วทุกสารทิศ จนได้สมัครเข้าเรียนติวเตอร์แห่งหนึ่ง ในจังหวัดราชบุรี โดยมีผู้เป็นพ่อรับหน้าที่สารถีพาขึ้นรถลงห้วยจากบ้านย่านมหาชัย ไปส่งลูกเรียนพิเศษถึงชานเมืองราชบุรี พร้อมกับนั่งเฝ้าลูกชายสุดที่รักตั้งแต่เช้าตรู่จนค่ำมืด
“ช่วงที่ผมไปติวแรกๆ ผมเป็นเด็กที่ไม่เก่งเลย เมื่อถึงช่วงโรงเรียนสอนพิเศษสอบวัดระดับ ผมจะได้อันดับท้ายๆ เสมอ จนเรารู้สึกว่า เราอยู่อย่างนี้ไม่ได้แล้ว เราต้องทำอะไรสักอย่าง และผมก็ตั้งใจและมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ จนทำให้ผมไต่ระดับขึ้นมาเป็นท็อป 10 ของที่โรงเรียนสอนพิเศษ สุดท้ายผมสอบผ่านภาควิชาการ แต่ไม่ผ่านรอบสอบสัมภาษณ์ ผมก็ไม่ย่อท้อ ไม่ให้พ่อแม่เสียเงินฟรีๆ นำวิชาความรู้ที่ได้จากการเรียนติวเตอร์ไปแอดมิชชั่นเข้าภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จ” แม็ค บัณฑิตวิศวะหนุ่ม รั้วจามจุรี กล่าวอย่างภาคภูมิ
...
น้ำใจ กตัญญู มารยาท สามสิ่งสอนลูกน้อยจำขึ้นใจ
ส่วนความมุ่งมั่น และนิสัยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากของ กล้าณรงค์ นั้น ต้องยกความดีความชอบให้แก่ เมฆ ศรีสกุล ผู้เป็นพ่อ และ นางพรหมชนก ศรีสกุล ผู้เป็นแม่ เพราะบุคคลทั้งสองอบรมบ่มเพาะ กล้าณรงค์ ได้เป็นอย่างดี แม้ทั้งคู่จะมีความรู้ไม่มากนัก
แม็ค กล้าณรงค์ กล่าวถึงวิธีการสอนสั่งลูกๆ ของพ่อแม่เขาเองว่า “คำสอน 3 สิ่งของพ่อแม่ที่ผมจำได้จวบจนทุกวันนี้ อย่างแรกคือ มีน้ำใจ ซึ่งมีน้ำใจในที่นี้คือ สมมติเวลาไปบ้านคนอื่น เจอใครทำอะไร เราอย่ารอให้เขาเรียกเราเข้าไปช่วย หากอะไรที่เราช่วยได้ ควรแสดงน้ำใจช่วยเหลือ เท่าที่ความเหมาะสมจะเอื้ออำนวย”
“อย่างที่สอง คือ มารยาท แม่จะสอนตลอดว่า ถ้าเห็นแม่คุยกับใคร ให้เรายกมือไหว้ทันทีโดยที่ไม่ต้องรอให้แม่บอก และอย่างที่สามคือ กตัญญู ซึ่งข้อนี้เราเห็นแบบอย่างได้จากพ่อแม่ เพราะเวลาพ่อแม่ปฏิบัติต่อปู่ย่าตายายอย่างไร เราก็ซึมซับและปฏิบัติกับพ่อแม่ เหมือนที่เขาปฏิบัติกับพ่อแม่เขาอย่างนั้น” กล้าณรงค์ กล่าวถึงน้ำเสียงชื่นชมในตัวของบุพการี
“อายไหมที่ลูกมีพ่อเป็นพ่อ...” คำถามจากผู้เป็นพ่อ
เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย กล้าณรงค์ ได้พบเจอกับสังคมรูปแบบใหม่ สังคมที่มีความหลากหลายทางฐานะ หลายคนเป็นลูกชนชั้นนำของประเทศ หลายคนเป็นลูกคนมีหน้ามีตาในสังคม ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีเงินทองโภคทรัพย์ครบครัน แต่จุดเล็กๆ ในสังคมเหล่านั้น ก็ยังมีลูกชาวบ้าน ชาวนา คนธรรมดาของประเทศเช่นกัน
โดยเหตุการณ์ที่ กล้าณรงค์ จำได้แม่นยำที่สุดคือ ผมเคยคุยกับพ่อเรื่องไปกินข้าวกับเพื่อน พ่อผมก็ถามว่า “ทำไมผมถึงไม่ไปกับเพื่อนๆล่ะ” ผมตอบพ่อไปว่า “ไม่ไปครับ ไม่มีเงิน ไม่อยากไปนั่งให้มันรู้สึกอึดอัด อยู่หอดีกว่า” หลังจากนั้นอยู่ดีๆ วันหนึ่งพ่อโทรมาถามผมว่า “อายไหมที่ลูกมีพ่อเป็นพ่อ” ผมก็ถามกลับไปว่า “อายอะไร ทำไมต้องอายด้วย”
...
แม็ค กล้าณรงค์ ถ่ายทอดเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พ่อย่ำเท้าเข้ามาในรั้วจามจุรีว่า “หลายครั้งที่พ่อมาหาผมที่มหาวิทยาลัย พ่อมักจะหลบๆ เลี่ยงๆ หรือทำตัวออกห่างจากผู้คนเสมอ เพราะพ่อกลัวพวกผู้ปกครองด้วยกัน หรือเพื่อนๆ ของผมจะเข้ามาถามพ่อว่า พ่อทำอาชีพอะไร และมันอาจทำให้ผมต้องอายเพื่อนๆ แต่ไม่เลย ผมไม่เคยคิดอย่างนั้น ผมไม่เคยอายในอาชีพของพ่อ และผมก็ไม่เคยกลัวว่าเพื่อนจะไม่คบผม เพราะผมมีพ่อเป็นคนขับรถขนขยะ”
“ผู้คนมากหน้าหลายตาในสังคมจุฬาฯ ค่อนข้างมีฐานะ นั่นอาจจะจริงส่วนหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่คนจุฬาฯ ไม่ทำกับผมคือ ไม่เหยียดฐานะของผม” กล้าณรงค์ กล่าวอย่างหนักแน่น
มองเพื่อนกิน เห็นเพื่อนเที่ยว แต่ติดอุปสรรคเรื่องเงิน
กล้าณรงค์ กล่าวถึงการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเรียงนามอันดับต้นๆ ของประเทศให้ทีมข่าวฟังว่า หลายครั้งที่เพื่อนๆ นัดผมออกไปกินข้าวตามร้านอาหารชื่อดังต่างๆ ผมมักปฏิเสธพวกเขาอยู่เสมอ แต่เพื่อนๆ ต่างก็คะยั้นคะยอให้ผมไปด้วย โดยรับอาสาที่จะเป็นเจ้ามือเลี้ยงอาหารให้แก่ผม แต่สุดท้ายผมก็ปฏิเสธความหวังดีของเพื่อนผมไป เพราะผมมีเงินจำกัดในการใช้จ่าย และผมมีศักดิ์ศรี ถ้าอยากไปกินจนต้องให้เพื่อนมาเลี้ยง สู้ไม่กินเสียดีกว่า
...
“บางครั้งเพื่อนมีทริปไปเที่ยวกัน ถามว่าผมอยากไปไหม ผมก็อยากไปนะ เพื่อนๆ เขาก็ชวนผมตลอดและเขาก็จะสงสัยในตัวผมว่า ทำไมไม่อยากไป ทั้งๆ ที่ก็ว่างอยู่ ผมก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรเหมือนกัน ถ้าเกิดเพื่อนเขาถาม ผมก็บอกเขานะว่า ฐานะเราไม่พร้อม” กล้าณรงค์ กล่าวในฐานะผู้ที่มีหัวใจเหมือนวัยรุ่นทั่วไป
หน้าโหด ดุดัน ผู้ปกครองหวั่นลูกไม่ปลอดภัย
ขณะที่ เงินรายเดือนที่พ่อและแม่ส่งให้ กล้าณรงค์ ใช้จ่ายในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยนั้น จะอยู่ที่ 1,000 บาทต่อสัปดาห์ หากไม่พอ กล้าณรงค์ จะขอเพิ่มพ่อและแม่อีก 100-200 บาทต่อสัปดาห์ และหารายได้เพิ่มจากการทำงานพิเศษ โดยสอนเด็กนักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ จึงทำให้มีรายได้เพิ่มหลักพันบาทต่อเดือน
“ด้วยความที่หน้าผมโหด จึงทำให้ผู้ปกครองที่มาติดต่อจ้างสอนติวเตอร์ให้กับลูกๆ ไม่ค่อยไว้วางใจผมเท่าไร หน้าผมเหมือนโจร เขากลัวว่าลูกเขาจะไม่ปลอดภัย แต่สำหรับผู้ปกครองที่วางใจให้ลูกๆ เรียนกับผม คนพวกนี้เขาจะรู้จักตัวตน และนิสัยใจคอของผม ว่าผมเป็นอย่างไร ซึ่งค่อนข้างขัดแย้งกับภาพลักษณ์ภายนอก” กล้าณรงค์ กล่าวอย่างอารมณ์ดี
...
เช็กสถานะงาน ความรัก ความฝัน!
ภายหลังจากที่ กล้าณรงค์ เรียนจบ และมีการแชร์ภาพกราบเท้าพ่อออกไปนั้น ได้มีรุ่นพี่มหาวิทยาลัยเข้ามาติดต่อชักชวนไปทำงานด้วย แต่ล่าสุด กล้าณรงค์ ยังไม่ตัดสินใจ
“ปกติแล้วผมเป็นคนที่ไม่ชอบอยู่แต่ในห้อง ผมจะชอบงานแบบสายลุยๆ มากกว่า อาจจะเป็นงานที่ต้องไปต่างจังหวัด หรือไปลุยๆ หน่อย ผมมองการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เอาไว้ และก็พวกแนว offshore (งานนอกชายฝั่ง) ไว้บ้าง แต่ช่วงนี้ยังไม่เปิดรับ” กล้าณรงค์ กล่าวถึงตำแหน่งงานที่เขาอยากทำ
อีกหนึ่งคำถามที่สาวๆ หลายคนอยากรู้จากปากของ กล้าณรงค์ หนุ่มวิศวะยอดกตัญญูก็คือ สถานะหัวใจของเขาเป็นเช่นไร? แม็คตอบคำถามถึงสถานะทางหัวใจของเขาให้ทีมข่าวฟังว่า “หน้าผมโหดแบบนี้ ใครจะมาชอบครับ โสดครับ โสด 100% ไม่มีแฟน และแมนทั้งแท่ง 100%”
เปิดใจ พ่อ ผู้เสียสละ ขับรถขยะส่งลูกเรียน
นายเมฆ ศรีสกุล อายุ 53 ปี คนขับรถขยะสำนักงานเขตบางแค ผู้เป็นพ่อของ กล้าณรงค์ เล่าว่า เมื่อก่อนเป็นคนงานทั่วไป จากนั้นก็มาสมัครเป็นคนงานขับรถขยะให้ กทม. เมื่อปี พ.ศ.2539 จากนั้น เมื่อปี 2542 ก็ได้มาเป็นคนขับรถประจำ สมัยก่อนครอบครัวลำบากมากเพราะไม่มีบ้านจะอยู่ จากนั้นชีวิตก็ดีขึ้นหลังจากน้องแม็คกับน้องมิ้น เริ่มเรียนแล้ว
"ตอนสมัยเขาเด็กสิ่งที่ผมบอก คือ อยากให้เขาตั้งใจเรียน อย่าเกเร กลับมาบ้านก็ให้ตั้งใจทำการบ้าน ส่วนเรื่องการเรียน ทั้งคู่ก็ไม่ใช่เด็กที่เก่งอะไร เรียนได้ในระดับปานกลาง แต่น้องแม็คได้ลูกขยัน ทำให้ผลการเรียนที่ออกมาก็ค่อนข้างดี เพราะขยันอ่าน ขยันเรียนมากกว่า ตอนเรียนประถม แม่ให้เงินไปเรียนวันละ 20 บาท พอโตขึ้นมาหน่อย เรียน ม.ปลาย แม่เขาให้ 30-50 บาท แต่พอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ให้เป็นสัปดาห์ละ 1,000 บาท ถามว่าเงิน 1 พันบาทพอมั้ย บางทีก็พอ บางทีก็ไม่พอ น้องแม็คเองจะหารายได้เสริมด้วยการไปสอนพิเศษ ได้มาเพิ่มอีก 500 บาท เงินที่ให้แม้จะไม่มาก แต่เขาไม่เคยบ่นว่าได้เงินน้อย เพราะเขารู้ว่าเราลำบาก รายได้ไม่เยอะ" ผู้เป็นพ่อย้อนเล่าเมื่อครั้งลูกๆ ยังเยาว์วัย
หนีห่างสังคม กลัวคนถามพ่อแม็คทำงานอะไร!
พ่อหัวใจแกร่งฉายภาพวันวาน วันที่นั่งลุ้นผลสอบกับลูกว่า วันนั้นได้ลางานเพื่อมานั่งหน้าคอมพิวเตอร์กับลูก จำได้ว่า เขาจะประกาศผลตอน 5 โมงเย็น เราก็นั่งรอกับลูก เมื่อประกาศผลปรากฏชื่อลูก ตนดีใจเป็นอย่างมาก หันมามองลูกชายก็ลงไปนอนกลิ้งอยู่กับพื้นแสดงความดีใจ
“ในวันมอบตัว ผมพาลูกไปที่ จุฬาฯ สถานที่มอบตัวเป็นห้องประชุมใหญ่ มีพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กคนอื่นมาเต็มห้อง ผมเองค่อยๆ ก้าวเข้าไปในสภาพ รองเท้าแตะหนีบ (ช้างดาว) เสื้อยืด กางเกงยีนส์ เห็นคนเข้ามาเยอะ ผมเองรู้สึกอายก็เลยแอบไปนั่งอยู่ด้านหลังสุด เพราะไม่อยากให้ใครมาถามผม เพราะเราไม่อยากตอบใคร เนื่องจากปกติจะมีผู้ปกครองมาคุยกันถามกัน หากเราตอบว่า เราทำงานดี ก็เป็นการโกหก ส่วนตัวผมเองไม่ได้รู้สึกอายอะไร แต่ไม่อยากให้ใครรู้ เพราะไม่อยากให้ใครมองลูกเราต่ำต้อย” เมฆ ศรีสกุล เล่าด้วยน้ำเสียงปนเศร้า
“เวลาที่ผมไปหาลูกที่ จุฬาฯ ผมก็ไม่กล้าเดินเพ่นพ่าน เพราะผมกลัวเพื่อนลูกจะรังเกียจลูกเรา หรืออาจจะเป็นเพราะผมเข้าสังคมไม่เป็นหรือเปล่าที่ทำให้เรารู้สึกแบบนั้น แต่จากที่เห็น เพื่อนๆ ก็รักเขาทั้งนั้น มันอาจจะเป็นเพราะเราคิดไปเอง เพื่อนๆ เขา เมื่อเจอหน้าเราก็เข้ามาไหว้" ผู้เป็นพ่อกล่าวถึงลูกชายด้วยความภูมิใจ
มีหนี้ไม่เป็นไร ขอส่งลูกเรียนให้ถึงฝั่งฝัน
นายเมฆ กล่าวจากหัวใจคนเป็นพ่อว่า เราเองก็เป็นคนไม่มีความรู้ แต่กับลูก เรื่องส่งเสียให้เรียน ผมเต็มที่ เพราะรู้ว่ามันสำคัญกับชีวิตลูก ลูกประสบความสำเร็จในฐานะพ่อแม่ก็ย่อมดีใจ โดยไม่ได้คาดหวังอะไรตอบแทน แต่เมื่อลูกมาถึงวันนี้ พ่อเองก็รู้สึกภาคภูมิใจมาก คิดว่าที่เราส่งลูกถึงฝั่ง แม้จะไม่ใช่คนรวยแต่ก็ส่งเสียเขาจนเรียนจบ แม้เราจะเป็นหนี้ จากการไปกู้สหกรณ์ฯ (ของ กทม.) ก็ไม่เป็นไร หากจ่ายไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็หมด
"หลังจากนี้ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรกับเขา เขาอยากทำงานอะไรก็แล้วแต่เขา อยากให้เขาคิดเอง หากไปทำงานได้เป็นหัวหน้าคน ก็ควรปกครองลูกน้องด้วยเมตตา อย่าไปดูถูกดูแคลนใครแม้เขาจะต่ำต้อยกว่าเรา อยากให้ใช้สติในการแก้ปัญหา" พ่อผู้เสียสละ กล่าวทิ้งท้าย
ผอ.เขตบางแค ชื่นชม ชูพ่อน้องแม็คเป็นแบบอย่างสังคม
ด้าน นางลักขณา ภักดีนฤนาถ ผอ.เขตบางแค กล่าวถึง นายเมฆ ว่า เขาตั้งใจทำงานดี ไม่เคยมาปรึกษา แม้เงินเดือนจะไม่มาก เขาเองก็ได้มากู้ที่สหกรณ์ของ กทม. อยู่ ทั้งนี้ ทางเขตเองก็ให้ความสำคัญกับทุนการศึกษาของบุตรหลานของลูกจ้าง โดยมีเงินส่วนหนึ่งที่ลูกจ้างสามารถเบิกได้ตามระดับการศึกษา เช่น ประถม มัธยม และ อุดมศึกษา
ผอ.เขตบางแค กล่าวต่อว่า สำหรับคุณเมฆ ตอนนี้ถือเป็นลูกจ้างประจำ ซึ่งมีสิทธิเหมือนข้าราชการ มีเงินเดือนประมาณ 2 หมื่นกว่าบาท ส่วนคนทั่วไปที่มองไม่ดีกับคนเก็บขยะ หรือคนขับรถขยะ เรื่องนี้คิดว่านายเมฆเองก็ไม่ได้คิดแบบนั้นกลับกันเขาเองก็รู้สึกภูมิใจ ลูกชายเขาเองก็เคยมาช่วยพ่อทำงาน น้องแม็คเองก็ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องต้อยต่ำอะไร ในวันที่เขาจบ เขาคงคิดว่าอยากให้พ่อภาคภูมิใจในตัวเขา ก็เลยมาก้มกราบ
ในฐานะ ผอ.เขต เคยคุยกับเขาตลอด โดยบอกกับเขาว่าอย่าคิดว่าเป็นงานต้อยต่ำ เรามารับราชการแล้ว ก็ถือว่าเป็นการทำงานเพื่อประเทศชาติ อยากให้เขามีความภาคภูมิใจ กับคนกวาดถนนเอง เราก็บอกแบบนั้น แม้งานมันจะเปรอะเปื้อนสกปรก แต่ตัวเราไม่ได้สกปรก ทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวรู้สึกดีใจที่ลูกน้องคนนี้เป็นแบบอย่างที่ดี ในวันพรุ่งนี้เราเองก็จะเชิญเขาขึ้นมาโชว์ตัวในงานสปอร์ตเดย์ ของเขต เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีกับสังคม
น้องจบตรีจุฬาฯ พี่ศึกษาต่อโทบัญชี
น.ส.วันวิสาข์ ศรีสกุล หรือ มิ้น ผู้เป็นพี่วัย 25 ปี เปิดเผยกับทีมข่าวว่า ถ้าคนไม่รู้จักนิสัยใจคอแม็ค ถ้ามาเจอหน้าน้องแม็ค อาจจะมองว่า น้องชายของเราคนนี้เป็นคนเกเร แต่ความจริงแล้วภายในจิตใจของแม็คนั้น สวนทางกับหน้าตาอย่างสิ้นเชิง น้องคนนี้เป็นคนจิตใจดี และเป็นคนมีเหตุผลกับทุกปัญหา
“แม้ว่ามิ้นกับแม็คจะเรียนจบแล้ว แต่สภาพความเป็นอยู่ของบ้านก็ยังไม่ดีเท่าใดนัก เนื่องจากตัวมิ้นเองก็ยังต้องทำงานส่งตัวเองเรียนปริญญาโทด้วย และทุกครั้งที่เงินเดือนของมิ้นออกมา ก็จะแบ่งให้พ่อส่วนหนึ่ง แต่พ่อไม่เคยรับเงินของมิ้นเลย โดยให้เหตุผลว่า มีเงินพอเลี้ยงตัวเองก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องแบ่งไว้ให้พ่อ พ่ออยู่ได้” พี่สาวคนโตของบ้าน ศรีสกุล กล่าวถึงผู้เป็นพ่อ
โดย วันวิสาข์ ศรีสกุล จบปริญญาตรีสาขาวิชาการบัญชี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ บพิตรพิมุข และกำลังศึกษาปริญญาโท โครงการบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปัจจุบันทำงานอยู่ที่สำนักงานบัญชี
"ลูกอายที่มีพ่อเป็นพ่อไหม...?" คำถามจากก้นบึ้งหัวใจผู้เป็นพ่อ...สำหรับใครที่เคยอายพ่อแม่ยากจน เป็นชาวไร่ชาวนาบ้านนอก ควรบันทึกเรื่องราวของครอบครัวนี้ไว้ในหัวใจ...เพราะพ่อแม่ใช่เรื่องที่คุณจะต้องมาอายหรือ?
อ่านเพิ่ม