สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ ชวนคนไทยชมปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน ครั้งนี้สุดพิเศษ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี และดาวศุกร์ เคียงดวงจันทร์ หากฟ้าโปร่ง ไร้ฝน เห็นชัดแน่นอนทั่วประเทศ

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 6 ต.ค. 58 ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันที่ 9-11 ต.ค. นี้ จะเกิดปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนอีกครั้ง คล้ายกับที่เกิดเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ทางทิศตะวันออก เป็นโอกาสดีที่จะเห็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะด้วยตาเปล่าในทิศทางเดียวกันถึง 4 ดวง ได้แก่ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี และดาวศุกร์ ยกเว้นดาวเสาร์ ที่จะสังเกตได้ในช่วงหัวค่ำในวันที่ 9 ต.ค. ดาวศุกร์จะปรากฏเคียงดวงจันทร์เสี้ยว ถัดลงมาคือ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวพุธ ตามลำดับ ในวันที่ 10 ต.ค. ดาวอังคาร กับดาวพฤหัสบดี จะปรากฏเคียงดวงจันทร์เสี้ยว และส่งท้ายวันที่ 11 ต.ค. ดาวพุธจะเคียงดวงจันทร์ โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ดาวพฤหัสบดี และดาวศุกร์ จะสังเกตได้ง่าย เนื่องจากเป็น 2 วัตถุที่มีความสว่างที่สุดในท้องฟ้ายามค่ำคืน ไม่นับรวมดวงจันทร์ แต่ดาวพุธอาจสังเกตได้ยาก เนื่องจากปรากฏสูงจากขอบฟ้าเพียงเล็กน้อย และยังมีแสงสนธยารบกวน นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย หากวันดังกล่าวท้องฟ้าปลอดโปร่ง ไม่มีเมฆฝน ก็จะมีโอกาสมองเห็นได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ดร.ศรัณย์ กล่าวอีกว่า ในช่วงเดือน ต.ค. นับเป็นช่วงใกล้สู่ช่วงฤดูหนาว ท้องฟ้าเริ่มใส เหมาะสำหรับการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ สามารถติดตามได้ที่ www.narit.or.th หรือ www.facebook.com/NARITpage.

...