"มูจีแก" เพิ่มน้ำในเขื่อนเจ้าพระยา ตามแผนกรมชลประทานฯ พร้อมเตือนผู้เลี้ยงปลากระชัง ต้องหมั่นตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างใกล้ชิด ขณะที่ จ.อุดรธานี ผบ.มทบ.24 เตรียมรับมือพายุ สั่งทุกหน่วยทหารในพื้นที่พร้อมช่วยเหลือประชาชน...
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 5 ต.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำที่จุดวัดน้ำ C13 เหนือเขื่อนเจ้าพระยา ปัจจุบัน อยู่ที่ 16.62 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงกว่าระดับตลิ่ง 0.28 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่วนระดับน้ำท้ายเขื่อนอยู่ที่ระดับ 6.70 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
นายเอกศิษฐ์ ศักดิ์ดีธนาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนเจ้าพระยา เปิดเผยว่า วันนี้ถือว่าผลดีของพายุดีเปรสชั่น "มูจีแก" ทำให้การสะสมน้ำของน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีระดับสูงขึ้นจนเป็นที่น่าภูมิใจ ตามแผนที่คาดการณ์ไว้ ที่ 16.75 ม.รทก. สำหรับระดับน้ำเหนือเขื่อน ส่วนเรื่องของแผนการคาดการณ์ ปริมาณน้ำของ 4 เขื่อน อย่างเขื่อน ภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสัก ที่จะต้องมีน้ำรวมไม่ต่ำกว่า 3,600 ล้าน ลบ.ม. ก่อนวันที่ 1 พ.ย. 2558 - ปลายเดือน พ.ค. 2559 สำหรับสู้ภัยแล้ง และรักษาระบบน้ำประปา ระบบนิเวศนั้น พายุ "มูจีแก" ทำให้ระดับน้ำในหลายเขื่อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีน้ำกักเก็บไว้ เกือบจะเพียงพอตามแผนที่คาดการณ์ไว้ โดยปัจจุบันมีปริมาตรน้ำที่ใช้การได้ จาก 4 เขื่อนดังกล่าว มี 3,182 ล้าน ลบ.ม คาดว่าร่องมรสุมที่พัดผ่าน ในวันนี้และพรุ่งนี้จะทำให้น้ำเพิ่มขึ้นมาตามแผนอย่างแน่นอน
ด้าน นายถาวร จิระโสภณรักษ์ ประมงจังหวัดชัยนาท เผยว่า ขณะนี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลหลาก แรง เร็ว และมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา อาจมีค่า กรด ด่าง และอาจมีความเค็มเพิ่มมากขึ้น ผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ต้องหมั่นตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำจาก กรมชลฯ อยู่ตลอดเวลา หาก ตรวจสอบคุณภาพน้ำแล้วไม่ได้มาตรฐาน ควรทำการย้ายปลาในกระชังออกก่อนที่ปลาจะตาย หากสงสัย หรือต้องการให้หน่วยงานประมงจังหวัดชัยนาทเข้าตรวจสอบ สามารถติดต่อได้ที่ 056-411301 ในวันและเวลาราชการ
...
ขณะที่ จ.อุดรฯ พล.ต.อำนวย จุลโนนยาง ผบ.มทบ.24 / ผอ.ศบภ.มทบ.24 เป็นประธานตรวจความพร้อมของกำลังพล ยานพาหนะ และยุทโธปกรณ์ เพื่อเตรียมการช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดอุทกภัยในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้มีความพร้อมทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เจ้าหน้าที่มีความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ และการบูรณาการร่วมกันจากหลายฝ่าย โดย มี ศบภ.มทบ.24, ศบภ.ร.13 และ ศบภ.ป.พัน.13 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ในกรณีเกิดอุทกภัยขึ้น
พล.ต.อำนวย เผยว่า พายุมูจีแก เข้ามาสู่ประเทศไทย ในช่วงวันที่ 4-6 ต.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะได้รับผลกระทบ ซึ่งมี 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.อุดรธานี จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ เป็นพื้นที่ในเขตรับผิดชอบ มทบ.24 ทางรัฐบาลมีความเป็นห่วงเป็นใยประชาชน จึงได้สั่งกองทัพบกและกองทัพภาคที่ 2 ให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกัน เตรียมความพร้อม ในการรับมือ พายุโซร้อน “มูจีแก” ในการช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะเรามีประสบการณ์ในเรื่องการสูญเสียเยอะมาก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้นถือว่าภารกิจนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนอันดับ 1 โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้ง 20 จังหวัด รวมทั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ 24 ร่วมกับ กรมทหารราบที่ 13 กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรในทันที โดยเฉพาะพื้นที่อุทกภัย ซึ่งในวันนี้ได้ทำการตรวจเช็กหน่วยงานของเรา ให้มีความพร้อม ในการทำงานกันเป็นทีม ช่วยเหลือประชาชน ให้กองร้อยกำลังพลจัดเตรียมกองร้อยช่วยเหลือประชาชน ซึ่งมีความสมบูรณ์ในตัวเอง ช่วยได้ทุกๆ ภัย มีคน มีเครื่องมือ และระบบบริหารการจัดการ มีการติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา
...
พล.ต.อำนวย เผยต่อว่า สำหรับพื้นที่เป้าหมายที่เคยเกิดอุทกภัยขึ้นมา เช่น อ.ศรีเชียงใหม่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เพราะมีผลจากภายนอก ก็คือระดับของน้ำแม่น้ำโขง จะเป็นผลติดตามมา ซึ่งทางเราได้เฝ้าติดตามอยู่ตลอด นอกจากนี้เรามีแหล่งข่าว ก็คือสมาคมทหารกองหนุน ซึ่งจะมีอยู่ทุกตำบล จะคอยให้ข้อมูลข่าวสาร ในเรื่องนี้ตลอด รวมไปถึงหน่วยงานของจังหวัด ภาครัฐและภาคเอกชน ที่เราทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ 24 มีความมั่นใจและความพร้อม ถ้ารับแจ้งว่าพื้นที่ไหนได้รับความเดือดร้อน เพียงแค่ 5 นาที ก็สามารถออกเดินทางไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เกิดภัยพิบัติธรรมชาติ.