ถึงแม้จะยังมีเวลาเหลืออยู่อีก อย่างน้อย 1 เดือน คือเดือนตุลาคมนี้ ฤดูฝนของประเทศไทยจึงจะสิ้นสุดลง ยังมีเวลาที่จะรอฝนอยู่ แต่หลายฝ่ายที่รับผิดชอบเรื่องน้ำ ก็ได้เตรียมรับมือภัยแล้งล่วงหน้าแล้ว กรมชลประทานเตือนเกษตรกรให้ช่วยตนเอง ด้วยการขุดบ่อน้ำ เพราะถ้าถึงจุดหนึ่ง อาจจะไม่สามารถปล่อยน้ำจากเขื่อนให้ชาวนา เพราะต้องใช้ผลิตประปา
ถ้าหากไม่มีฝนตกลงมาอย่างเพียงพอในเดือนตุลาคม น่ากังวลว่าจะไม่เกิดภัยแล้งแค่ในปี 2558 เท่านั้น แต่อาจแล้งยาวไปถึงกลางปี 2559 คณะรัฐมนตรีจึงออกมาตรการ 8 ข้อ เพื่อเตรียมรับมือภัยแล้งในปีหน้า รวมทั้งขยายเวลาชำระหนี้ของเกษตรกร และเตรียมโครงการจ้างงาน 130,000 ล้านบาท เช่นกองทุนหมู่บ้าน และเงินตำบลละ 5 ล้านบาท
ในการสัมมนาในหัวข้อ “แล้งนี้เผาหลอก แล้งหน้าเผาจริง ชาวนาไทยเสี่ยงเจ๊งแสนล้าน” เมื่อเร็วๆนี้นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอท่านหนึ่ง กล่าวว่าฝนแล้งเมื่อต้นปีนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิด นับตั้งแต่มีเขื่อนใหญ่ๆในภาคเหนือ ปีนี้ฝนตกน้อยสุดใน 50 ปี ปริมาณน้ำในภาคเหนือและภาคกลางน้อยสุดใน 44 ปี
ภัยแล้งในขณะนี้ เป็นภัยที่เกิดขึ้นทั้งจากธรรมชาติและจากการจัดการน้ำที่ผิดพลาด เนื่องจากเกิดมหาอุทกภัยในปี 2554 จึงมีการปล่อยน้ำในเขื่อนหลักๆในภาคเหนือมากกว่าที่ควรปล่อย เหตุผลหนึ่งเพราะกลัวเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 และอีกเหตุผลหนึ่งเพราะต้องปล่อยน้ำให้ชาวนาปลูกข้าว เพื่อสนองนโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ด
มาตรการ 8 ประการของรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า เช่นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ ให้ส่วนราชการรณรงค์ประหยัดการใช้น้ำ ส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมปลูกพืช อาจจะให้ชาวนาเปลี่ยนอาชีพ หรือปลูกพืชอื่นๆที่ใช้น้ำน้อยกว่า เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ทำมาแต่บรรพบุรุษ
...
ไม่ว่าจะเป็นภัยที่เกิดจากฝนแล้งหรือน้ำท่วม กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นกลุ่มที่เสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากการผลิตต้องพึ่งพาเทวดาฟ้าฝน แม้แต่ในภาคที่มีระบบชลประทานทั่วถึงที่สุด คือภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ก็ยังต้องเสี่ยงภัยแล้ง และเสี่ยงปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ
ฤดูฝนเหลือเวลาอีกแค่เดือนเดียว เป็นเดือนที่ชาวนาในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองของภาคกลาง จะต้องเฝ้ารอความกรุณาปรานีจากฟากฟ้า ถ้าภัยแล้งทอดยาวไปอีกจนถึงกลางปีหน้า ก็อาจเกิดการแย่งน้ำ ระหว่างคนในชนบทกับคนในเมือง ปัญหานี้อาจรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง รวมทั้งการปฏิรูปกระบวนการจัดการน้ำ.