เกษตรกร จ.สุโขทัย พลิกวิกฤติเป็นโอกาส หลังยกเลิกจำนำข้าวเป็นหนี ธกส.กว่า 2 แสน เปลี่ยนที่ดินทำกินเป็นแปลงปลูกดอกดาวเรือง ส่งต่อปากคลองตลาดสร้างรายได้จุนเจือครอบครัวในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง 

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2558 ผู้สื่อข่าว จ.สุโขทัย ตระเวนข่าวในพื้นที่เขต อ.ศรีสัชนาลัย บริเวณริมถนนสาย เมืองเก่า-สารจิตร พบเกษตรกร 6-7 คน กำลังช่วยกันเก็บดอกดาวเรือง ซึ่งกำลังเบ่งบานสะพรั่ง เต็มทุ่งในเนื้อที่ กว่า 2 ไร่ ใส่รถอีแต๊ก ท่ามกลางแดดที่ร้อนระอุ จากนั้นจึงเข้าพูดคุยกับเจ้าของทุ่งดอกดาวเรือง ทราบชื่อต่อมาคือ นายอนงค์ อาวรณ์ อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 327 ม.11 ต.สารจิตร อ.ศรีสัชนาลัย เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าว 40 ไร่ สมัยที่มีโครงการรับจำนำข้าว มีรายได้ดีมาก ต่อมาโดนยกเลิก ต้องเป็นหนี้ ธ.ก.ส ถึง 2 แสนบาท จึงมองหาสิ่งที่ทำแล้วเพิ่มรายได้

"ผมเริ่มปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน โดยแบ่งที่ มาปลูกถั่วเขียว 8 ไร่ ปลูกส้มเขียวหวาน 6 ไร่ ปลูกมะละกอฮอลแลนด์ 5 ไร่ ที่เหลืออีก 20 ไร่ปลูกข้าวไว้กิน ส่วนหนึ่งแบ่งไว้ขาย สำหรับบริเวณตรงที่ปลูกดอกดาวเรืองนั่น เดิมเคยปลูกมะละกอ ขายได้ราคาดี แต่สู้กับโรคเชื้อราไม่ไหว ค่ายาฉีดรักษาโรคมีราคาแพง ชุดละ 6-7 พันบาท แถมยังรักษาไม่หาย จึงไถทิ้ง จากนั่นได้หาข้อมูล ว่าจะปลูกพืชชนิดใด กระทั่งเลือกปลูกดาวเรือง เพราะมีกลุ่มผู้ปลูกและพ่อค้า คอยรองรับผลผลิตส่งขายที่ปากคลองตลาด ดอกละ 50 สตางค์ จึงตัดสินใจลองปลูกเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว" นายอนงค์ กล่าว

...


นายอนงค์ กล่าวต่อว่า จนถึงขณะนี้สามารถตัดขายได้แล้ว 3 ครั้ง โดย 3 วันตัดขายครั้งนึง รายได้ประมาณ 1 พันกว่าบาทต่อครั้ง ซึ่งก็พออยู่ได้ เพราะลงทุนไปไม่มากโดยเฉพาะระบบน้ำ ลงทุนวางระบบน้ำบาดาลไปตั้งแต่ตอนปลูกมะละกอ สามารถเอามาดัดแปลงสำหรับปลูกดอกดาวเรืองได้ คอยเอาใจใส่ไม่ให้มีแมลงรบกวน รวมถึงเวลาฝนตกซึ่งจะมีน้ำฝนค้างตามดอก จะทำให้ราคาเสีย ซึ่งจะปลูกต่อไปสักระยะ หากพออยู่ได้จริงก็จะขยายพื้นที่ปลูก แต่หากไปไม่รอด ก็ต้องหาอย่างอื่นแทน จะทำอย่างไรได้ เกิดเป็นเกษตรกรก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างนี้

"อยากจะฝากทิ้งท้ายเรื่องรับจำนำข้าว ผมอยากให้รัฐบาลนำกลับมาใหม่ โดยรับจำนำแค่เกวียนละ 10,000 บาท ชาวนาก็จะได้กำไร 2-3 พันบาทถือว่าพออยู่ได้แล้ว" นายอนงค์ กล่าวทิ้งท้าย.