นักวิจัยใช้พื้นที่ป่าเต็งรังภายในมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ เนื้อที่ 800ไร่ สำรวจความหลากหลายชีวภาพ ได้พบตั๊กแตนที่ไม่เพียงแต่เป็นชนิดใหม่ของโลก แต่เป็นถึงสกุลใหม่ของโลก ตัั้งชื่อว่า‘ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่’

เมื่อวันที่28ก.ย.58 ดร.แหลมไทย อาษานอก ในฐานะผู้นำทีมนักวิจัย เปิดเผยว่า นักวิจัยแม่โจ้-แพร่ฯ พบ ตั๊กแตนสกุลใหม่ของโลก ในชื่อ “ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่” จากการทำวิจัยเรื่อง "การสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ ในพื้นที่ป่าธรรมชาติของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ – แพร่ เฉลิมพระเกียรติ" ซึ่งการวิจัยในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ – แพร่ฯ และได้รับความร่วมมือกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพ.วช.) โดยมี ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง และนายภัทรวิชญ์ ดาวเรือง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงเข้าร่วมสำรวจใด้วย

ทั้งนี้ พื้นที่วิจัยในครั้งนี้ มีสภาพเป็นป่าเต็งรังภายในมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ มีเนื้อที่ประมาณ 800 ไร่ จากผลการสำรวจเราได้พบตั๊กแตนชนิดหนึ่ง ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน และคิดว่าอาจจะเป็นตั๊กแตนชนิดใหม่ของโลก จึงได้ดำเนินการตรวจสอบเพื่อระบุชนิด อย่างละเอียด โดยได้รับคำปรึกษาจาก Prof. S. Yu. Storozhenko แห่ง Institute of Biology and Soil Science, Russia ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญตั๊กแตนของโลก หลังจากที่ได้ทำการพิสูจน์ชนิดเรียบร้อยแล้วจึงพบว่าตั๊กแตนชนิดนี้ไม่เพียงแต่เป็นชนิดใหม่ของโลก (new species) แต่เป็นถึงสกุลใหม่ของโลก (new genus) ซึ่งมีโอกาสยากมากที่จะค้นพบสิ่งมีชีวิตสกุลใหม่ของโลกในปัจจุบัน

ทีมวิจัยจึงตั้งชื่อสกุลให้ตั๊กแตนชนิดนี้ว่า Anasedulia เนื่องจากแผ่น subgenital ที่ปลายท้องของตัวผู้ยื่นยาวและแยกเป็นสองอัน และให้คำระบุชนิดเป็น maejophrae เพื่อเป็นเกียรติแก่สถานที่ที่ค้นพบ รวมเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ว่า (Anasedulia maejophrae Dawwrueng, Storozhenko et Asanok, 2015) หรือ “ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่”

...


หลังจากนั้น จึงได้เขียนเป็นบทความทางวิชาการ ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ชื่อ Far Eastern Entomologist ฉบับ September 2015 เพื่อเป็นการยืนยันการค้นพบตั๊กแตนสกุลใหม่ของโลกในครั้งนี้

อย่างไรก็ตามลักษณะเด่น ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่ (Anasedulia maejophrae) เป็นตั๊กแตนหนวดสั้นใน เผ่า Gereniini ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวคือปีกมีรูปทรงคล้ายเกล็ด (เล็กสั้น ปลายแหลมหรือมน) และขอบของปีกแต่ละข้างไม่สัมผัสกัน เป็นตั๊กแตนขนาดกลาง สีพื้นฐานสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาล มีแถบสีขาวพาดจากหลังตาถึงข้างอกอย่างชัดเจน ปีกสั้น ปลายแหลม เส้นปีกที่ช่วงปลายปีกไม่ขนานกัน มีจุดสีดำมันวาว 1-2 จุดบนปีกใกล้ฐานปีกคู่บน ขาคู่หลังมีลายสีดำพาดสามแถบ ในตัวผู้แผ่น subgenital ยาวและแยกออกเป็นสองอันชัดเจน ในตัวเมียมีอวัยวะวางไข่ที่สั้น

ดร.แหลมไทย กล่าวด้วยว่า ความสำคัญของการค้นพบ “ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่ (Anasedulia maejophrae)” ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกของการศึกษาทางอนุกรมวิธานของตั๊กแตนในประเทศไทยอย่างจริงจัง นอกจากนั้นตั๊กแตนสกุลใหม่ของโลกนี้ ณ ปัจจุบันยังพบได้เพียงแค่ในพื้นที่ป่าเต็งรังภายในมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ เท่านั้น และยังพบว่าเป็นสกุลเฉพาะถิ่น (endemic) ของประเทศไทยอีกด้วย จึงควรส่งเสริมให้มีการศึกษาในเชิงลึกต่อไป

หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวด้วยว่า การค้นพบครั้งนี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า การอนุรักษ์ป่าให้คงอยู่ย่อมสามารถอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้ แม้มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จะมีผืนป่าอนุรักษ์เพียงเล็กน้อย ยังสามารถค้นพบตั๊กแตนสกุลใหม่ของโลกได้ ดังนั้นหากช่วยกันรักษาผืนป่าขนาดใหญ่ของชาติให้คงอยู่ ย่อมสามารถรักษาความหลากหลายของสรรพชีวิตได้อย่างมากมายและยั่งยืนต่อไป.