มีคำถามกันมากว่า เมื่อ รัฐธรรมนูญถูกควํ่าไปแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น คำตอบก็คือ ก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่ พร้อมมาตรการเข้มข้น “นัก การเมือง” ซ่าโดนดีแน่ เศรษฐกิจ–ปฏิรูปจะเป็นตัวแปรสำคัญ

ข่าว “เขย่าขวด” สุดสัปดาห์นี้ หลังรัฐธรรมนูญถูกควํ่าโดย สปช. ก็ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ ไม่มีการทำประชามติ สปช.– กมธ.ก็พ้นหน้าที่ไป

จากนี้ไปก็จะต้องตั้งคณะกรรมการยกร่างฯ 21 คน สภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ 200 คน เข้ามาทำหน้าที่แทน

ใครเป็นใครกันบ้างต้องลุ้นกันต่อไป

“นายกฯลุงตู่” บอกว่า รอให้ถึงวันที่ 22 ก.ย.58 ได้รู้กันแน่

หากมองข้ามช็อตกันต่อไป ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็ต้องทำประชามติ หากผ่านก็ประกาศใช้ได้เลย

เว้นแต่ไม่ผ่าน คสช.ก็ต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาประกาศใช้แทนที่ ถ้าถึงขั้นนั้น คสช.และรัฐบาลก็ต้องอยู่ยาวต่อไปอีก

แต่จะไม่มีการทำประชามติอีกแล้วเพราะต้องเสียงบประมาณอีก 3,000 กว่าล้านบาท เพราะในร่างที่ 2 ก็ต้องใช้ไปแล้ว 3,000 กว่าล้าน

ที่น่าสนใจก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวอีกครึ่งหนึ่งจะมีกำหนดอะไรบ้าง เรื่องการนับคะแนนการทำประชามติว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน ด้วยคะแนนเสียงจากผู้มาใช้สิทธิไม่ใช่ผู้มีสิทธิ

ไม่รู้คราวที่แล้วเผลอเรอออกมาอย่างนั้นได้อย่างไร?

ไหนๆแก้กันแล้วจับตาดูกันให้ดีก็แล้วกัน ว่าจะมี “ทีเด็ด” อะไรออกมาอีก เพราะนี่คือทิศทางและความเป็นไปของ คสช.

“นักการเมือง” ถ้ายังไม่ยอมสยบจะมีของดีแถมให้อีกระวังเอาไว้เถอะ...

อย่างไรก็ดี แม้ คสช.จะอยู่ต่อไปได้อีก 2 ปี ตามกติกา ด้านหนึ่งก็เป็นโอกาสที่ดีทำงานกันได้อย่างเต็มที่ เพราะมีทั้งเวลาและอำนาจเต็มๆ

...

ซึ่งก็อยู่ที่ว่าจะใช้ศักยภาพสร้างผลงานได้มากน้อยแค่ไหน

ตรงกันข้าม การอยู่ยาวออกไปย่อมเจอแรงเสียดทานทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างแน่นอน หากบริหารและจัดการไม่ดีพอ

ก็เสียวแทนอยู่เหมือนกัน

เพราะจะต้องต่อสู้กันแบบเปิดหน้าแล้ว ไม่มีใครกลัวใครกัน ต้องแพ้—ชนะกันไปข้าง นั่นอาจจะต้องถึงขั้นปราบปรามอย่างเด็ดขาด
ว่ากันว่าดีไม่ดีอาจจะต้อง “ปิดประเทศ” กันด้วยซํ้าไป

เหนืออื่นใด คสช.คงประเมินสถานการณ์แล้วว่า “เอาอยู่” แน่ เห็นได้จาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คสช.ได้เริ่มปฏิบัติการเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆเพื่อจัดการให้เด็ดขาด

จากนี้ไปเป็น “เรื่องของกู ไม่ใช่เรื่องของมึง” แล้ว!?!

แต่สิ่งที่เป็นผลพวงที่จะทำให้ คสช.ได้รับการยอมรับจากประชาชนมีองค์ประกอบอยู่ 2 เรื่อง และเป็นเรื่องที่สำคัญด้วย

1.ปัญหาเศรษฐกิจ

2.การปฏิรูปประเทศ

การปรับ ครม.เปลี่ยนโฉม ครม.เศรษฐกิจที่นำโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดูเหมือนจะสร้างความมั่นใจให้กับ คสช.ได้เป็นอย่างมาก

พอเริ่มเคาะระฆังเท่านั้น ดร.สมคิดและทีมงานก็เดินหน้าทำงานทันที เพราะ 3 เดือนที่รออยู่คือ เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้รู้หมู่รู้จ่าได้ ถ้าสอบผ่านก็ไปโลดทันที

การปฏิรูปประเทศที่ สปช.เป็นฝ่ายขับเคลื่อนมาปีกว่าๆ ปรากฏว่าสอบตกยกพวง และเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ คสช.เสียฟอร์มไปเยอะทีเดียว

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ 200 คน จึงต้องเข้ามาทำหน้าที่เพื่อสร้างผลงาน

ให้ปรากฏ อย่างน้อยก็ต้องให้การปฏิรูปประเด็นหลักๆ เป็นรูปธรรมจับต้องได้

“2 ขาหลัก” นี่แหละ...ที่จะชี้ความเป็นไปต่ออนาคตของ คสช.!!!

“ลิขิต จงสกุล”